การเร่งเปลี่ยนแปลงจากฐานราก (transformative change) เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 นอกจากจะมีความท้าทายในด้านการจัดลำดับความสำคัญ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และหุ้นส่วนความร่วมมือแล้ว อีกประการสำคัญคือการพัฒนาระบบและองค์ความรู้ทาง “วิทยาศาสตร์” รวมถึงการสนับสนุนด้าน “เงินทุน”
สภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Science Council) ได้ออกโรดแมป “Unleashing Science: Delivering Missions for Sustainability” การพัฒนาองค์ความรู้ใน 5 สาขาสำคัญที่เป็นปัจจัยเร่งด่วนและมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อโลก ให้ผู้สนับสนุนเงินทุนวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีแนวทางการสนับสนุนองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ทันปี 2030 อย่างยั่งยืน เสมอภาค และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง
5 สาขาสำคัญ หรือ “Sustainability Science Missions” มีรายละเอียดดังนี้
- อาหาร (#SDG2) – ให้มีอาหารที่เพียงพอ อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นอาหารที่ได้มาโดยไม่ได้เบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติจนเกินไป
- น้ำ (#SDG6)– การเสริมกำลังให้กับแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่จะช่วยให้มีน้ำสะอาดสำหรับทุกคน
- สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (#SDG3) – ทั้งร่างกายและจิตใจ
- พื้นที่เมือง (#SDG11)- สมดุลทั้งเมืองและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ
- ภูมิอากาศและพลังงาน (#SDG13, #SDG7) – หันมาใช้พลังงานสะอาดพร้อมกับฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศที่ปลอดภัย
ทำไมถึงต้องเร่งเครื่อง 5 สาขานี้? ตามรายงานระบุว่า เนื่องจากเป็นข้อหลักที่พบประเด็นความไม่ยั่งยืนหรือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม โดยมีผลสะท้อนถึงสังคมและความไม่เท่าเทียม ทั้งยังเป็นประเด็นที่ไม่สามารถจัดการได้โดยกระทำฝ่ายเดียว ปราศจากการมองอย่างเป็นองค์รวมและดำเนินการอย่างเชื่อมโยง ในทางกลับกัน การพัฒนาองค์ความรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ใน 5 สาขานี้ จะต้องเป็นการพัฒนาอย่างบูรณาการและเป็นการพัฒนาที่สามารถนำไปลงมือทำได้ (actionable knowledge) เพื่อให้เห็นผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
นอกจากรายงานโรดแมปนี้จะเป็นแนวทางสำหรับชุมชนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาองค์ความรู้ และประกอบการตัดสินใจของผู้ที่ตัดสินใจทางนโยบาย ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางเงินทุนเพื่อพัฒนาระบบและองค์ความรู้ด้วย ซึ่งชุมชนผู้ให้เงินลงทุนระหว่างประเทศหรือผู้ให้เงินลงทุนศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สามารถใช้กรอบข้อเสนอตามโรดแมปดังกล่าวประกอบการดำเนินการให้เกิดความแตกต่างไปจากการให้เงินสนับสนุนองค์ความรู้แต่เดิม (business-as-usual) ที่มักแยกขาดออกจากความต้องการอย่างเร่งด่วนของสังคม หรือแยกขาดออกจากความรู้ที่เชื่อมโยง
กล่าวคือ โครงสร้างการสนับสนุนและกลไกด้านเงินทุน ควรหันไปเน้นที่การพัฒนาทางแก้ไข (solutions-focused) ความเป็นสหวิทยาการ และการเน้นที่ตัวระบบ (systems-focused) ทั้งในสเกลระดับโลกและภูมิภาค
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
-(9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรม ให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1 ล้านคนและการใช้จ่ายในภาคสาธารณะและเอกชนในการวิจัยและพัฒนาให้เพิ่มมากขึ้น
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน
-(17.16) ยกระดับความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
แหล่งที่มา:
Scientists Issue Roadmap to Protect Earth as Safe Operating Space (IISD)
Unleashing Science: Delivering Missions for Sustainability (council.science)