สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs – UNDESA) เผนแพร่รายงานการสังเคราะห์รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ หรือ รายงาน VNR (Voluntary National Reviews) ประจำปี 2021 จากทั้งหมด 42 ประเทศที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ การประชุม HLPF (High-Level Political Forum on Sustainable Development) เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ทุกประเทศรายงานสถานการณ์ของ SDG 3 (สุขภาพที่ดีและความเป็นอยู่ที่ดี) และ SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) และประเทศส่วนใหญ่รายงานถึง SDG 5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) โดยมีการกล่าวถึงการใช้ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence: GBV) ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอันเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
บทความจาก IISD Knowledge Hub สรุปผลการสังเคราะห์ของรายงาน ‘2021 Voluntary National Reviews Synthesis Report‘ โดยให้รายละเอียดเนื้อหาในเป้าหมายที่ 3 และ 8 ที่ทุกประเทศนำเสนอข้อมูลว่า ใน SDG 3 รายงานแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานด้านสาธารณสุขให้ทันสมัยขึ้น โดยผ่านการมีนวัตกรรมและระบบดิจิทัลเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดใหญ่และแก้ไขปัญหารากฐานของการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ดีของผู้คน ใน SDG 8 รายงานถึงความท้าทายอันเป็นผลจากโรคระบาดต่อแรงงานนอกระบบ แรงงานที่เป็นเยาวชน และภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ
สำหรับข้อค้นพบที่ได้จากรายงาน VNR ของ 42 ประเทศ ในเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่
- SDG 1 (ยุติความยากจน) – รัฐบาลหลายประเทศนำเสนอว่า ต้องมองว่าความยากจนเป็นปรากฏการณ์หลายมิติ ไม่จำกัดการพิจารณราแค่เฉพาะรายรับและรายจ่ายเท่านั้น
- SDG 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) – โควิด-19 และวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นสร้างแรงกดดันให้การศึกษาเรียนรู้ทั่วโลก และการเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น
- SDG 6 (น้ำสะอาดและสุขาภิบาล) – ระบุถึงความสำคัญของการเข้าถึงน้ำสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อใช้ล้างทำความสะอาดมือ ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคติดต่อ และยังมีการรายงานถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย บริการสุขาภิบาล และสุขอนามัยระหว่างประชากรในเมืองและในชนบท
- SDG 7 (พลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้) – หลายประเทศเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้าถึงพลังงานสำหรับทุกคน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน และมีการกล่าวถึงพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด
- SDG 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) – รายงานหลายประเทศอธิบายถึงการดำเนินการฟื้นฟูเมืองและความพยายามในการพัฒนาเมืองและชุมชนให้ยั่งยืนมากขึ้น และกล่าวถึงโซลูชันจัดการการขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และยังระบุถึงการพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- SDG 13 (ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) – รัฐบาลส่วนใหญ่ต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการให้ความสำคัญการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปพร้อมกับการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ
- SDG 14 (ระบบนิเวศทะเลและมหาสมุทร) – หลายประเทศให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพยากรประมง การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะลดขยะพลาสติกและขยะในทะเล และแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติกในทะเล
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDGs ทุกเป้าหมาย
ที่มา : Latest Round of National Reports Emphasize Efforts on SDGs 3, 5 and 8 (IISD Knowledge Hub)
Last Updated on มกราคม 4, 2022