Site icon SDG Move

2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น

Brett Walton นักข่าวของ Circle of Blue หน่วยงานที่ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลด้านน้ำ เขียนบทความเผยแพร่ในสภาเศรษฐกิจโลก เล่าย้อนถึงสถานการณ์สำคัญในปี 2564 ว่า “ปัญหาด้านน้ำ” เป็นจุดใจกลางของวิกฤติที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบทั่วโลก นอกจากปัญหาคลาสสิกอย่างมีน้ำมากเกินไปจนน้ำท่วม มีน้ำน้อยเกินไปจนแห้งแล้ง หรือเกิดการปนเปื้อนในน้ำมากขึ้นนั้น ซ้ำน้ำท่วมและปัญหาความแห้งแล้งยังเกิดบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงขึ้น เช่นเดียวกันภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับน้ำ

ตัวอย่างที่ Brett Walton หยิบยกมามีสถานการณ์ในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่เพียงฝนตก 3 วันทำให้เกิดน้ำท่วมในมณฑลเหอหนานของจีนจนกระทบต่อเส้นทางการเดินทางของรถไฟใต้ดิน เช่นเดียวกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในเยอรมันในช่วงเดือนเดียวกัน กระนั้น ณ อีกฝั่งของโลกอย่างเคนยากลับพบปัญหาฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล เป็นความแห้งแล้งซึ่งกระทบต่อการทำปศุสัตว์

ด้านตะวันตกของสหรัฐฯ ยังเป็นอีกหนึ่งกรณีที่เผชิญกับปัญหาด้านน้ำ ทะเลสาบ Oroville อ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีระดับน้ำที่ต่ำที่สุดที่มีการบันทึกและมีน้อยเกินไปที่จะนำไปปั่นสร้างพลังงานน้ำได้ ไม่ต่างไปจากอ่างเก็บน้ำที่อื่นในภูมิภาคที่แห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อทั้งสัตว์น้ำ พืชน้ำ และสัตว์ปีกที่พึ่งพิงแหล่งน้ำนั้น อย่างในกรณีบ้านเรือนที่พึ่งพิงสายน้ำ Colorado ที่พยายามใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้น้อยลงแล้วก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดีจากปัญหาความแห้งแล้งจนจะไม่มีน้ำใช้

ขณะเดียวกัน ปัญหาน้ำยังเป็นผลมาจากความเปราะบางของระบบน้ำที่ได้รับผลกระทบจากความรวนเรของสภาพภูมิอากาศ เฉกเช่นในกรณีที่เกิดขึ้นกับรัฐเท็กซัส ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ นักวิชาการเรียกว่าเป็น “ภัยพิบัติที่ผสมรวมกัน” ที่ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อย่างเช่น เมื่อโรงไฟฟ้าดับย่อมกระทบต่อโรงบำบัดน้ำเสีย ที่อาจทำให้น้ำเสียปนเปื้อนในแหล่งน้ำและถนนหนทาง ซ้ำเมื่อฝนตกจะยิ่งที่ให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นโดยพัดพาน้ำเสียเหล่านี้ไปสู่อ่างกักเก็บน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งที่ใช้สำหรับการบริโภค เป็นต้น

นอกจากน้ำสะอาดหรือปนเปื้อน จะเห็นว่าในภาพรวม ปัญหาด้านน้ำเป็นวิกฤติเพราะยังนำไปสู่ปัญหาด้านอื่นด้วย การมีน้ำมากเกินและภัยพิบัติด้านน้ำทำให้หลายครัวเรือนเผชิญกับความสูญเสียทางทรัพย์สิน การไม่มีน้ำทำให้เผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางอาหารและความหิวโหย ขณะที่การมีหรือไม่มีน้ำส่งผลให้คนตัดสินใจย้ายถิ่น

อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดปัญหาดังกล่าวแต่ในบางประเทศสามารถจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้น โดยอาศัยระบบพยากรณ์อากาศ ระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินล่วงหน้า นโยบายการประกัน และการสร้างเครือข่ายองค์การที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยามที่ปัญหาด้านน้ำเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือกระทั่งการผนวกรวม “การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (adaptation) ในยุทธศาสตร์ เพื่อจัดการกับทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิกฤติน้ำไปพร้อมกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– ‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.9) ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย และจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมากภายในปี 2573
#SDG6 น้ำดื่มสะอาด สุขอนามัยและสุขาภิบาลที่ดี
-(6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย ภายในปี 2573
-(6.3) ยกระดับคุณภาพน้ำ โดยลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัสดุอันตราย
-(6.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
-(11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
-(13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
-(13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG17 หุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
In 2021, water crises took center stage. Here’s how we can adapt (WEF)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version