Site icon SDG Move

ระบบอาหารในปัจจุบันอยู่ ณ จุดแตกหัก เพราะการใช้ที่ดิน ดิน และน้ำทำเกษตรและผลิตอาหารยังไม่ยั่งยืน

รายงานสถานะทรัพยากรดินและแหล่งน้ำเพื่อการผลิตอาหารและเกษตรกรรม – ระบบ ณ ขณะจุดแตกหัก (State of the World’s Land and Water Resources for Food and Agriculture – Systems at breaking point – SOLAW 2021) โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุความท้าทายในปัจจุบันว่า การที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินและแหล่งน้ำอย่างหนักในหลายทศวรรษที่ผ่านมาและต่อไปเพื่อเลี้ยงปากท้องของประชากรโลกที่คาดว่าจะเข้าสู่หลัก 10 พันล้านคนภายในปี 2593 นั้น การใช้ทรัพยากรเหล่านี้เพื่อผลิตเกษตร-อาหาร (agri-food) แบบที่เป็นอยู่กลับไม่ยั่งยืน และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้ยั่งยืนขึ้น ท้ายที่สุด ระบบอาหารก็จะล่มสลายและไม่มั่นคงทางอาหาร

การเติบโตขึ้นของจำนวนประชากรและการขยายขึ้นของเมืองแม้จะใช้ที่ดินเพียง 0.5% ของผืนดินในโลก แต่ความต้องการอาหารเป็นแรงกดดันต่อการใช้ทรัพยากรดินและน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อการผลิตอาหาร กล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นสาเหตุที่ทำให้ดินเสื่อมโทรม (soil degradation) จากการทำเกษตรกรรมอย่างหนักเพื่อใช้ประโยชน์จากดินให้เกิดผลผลิตสูงที่สุด ขณะเดียวกัน ปัญหาการขาดแคลนน้ำยังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรที่พึ่งพิงการทำเกษตรกรรมด้วย จะเห็นได้ว่าเป็นวงจรปัญหาของการใช้ที่ดิน ดิน และน้ำ

เมื่อคำนึงถึงปัญหาดังกล่าว รายงานฉบับนี้จึงเสนอว่าจะต้องประเมิน “ความเสี่ยง” ที่มีต่อที่ดิน ดิน และน้ำ แล้วปรับรูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ให้ “ยั่งยืน” และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง (resilience) มากขึ้น ด้วยการเสริมพลังกันของหลายปัจจัย (synergy) กล่าวคือ ต้องสามารถจัดการการใช้ที่ดินได้ดีขึ้น อนุรักษ์ดิน และปกป้องแหล่งน้ำไปพร้อมกัน ซึ่งหากรู้วิธีการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม ปลายทางยังเป็นผลดีต่อทรัพยากรและระบบนิเวศ และยังสามารถป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในภาพรวม

รายงานระบุข้อเสนอแนะต่อไปว่า การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสามารถเป็นตัวช่วยจัดการกับความท้าทายข้างต้นนี้ได้ ในแง่ของการทำให้เห็นข้อมูลสถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือการบูรณาการแผนในทุกระดับ และการสนับสนุนการลงทุนในภาคเกษตรที่เน้นประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายทั้งระดับโลก ภูมิภาค และระดับชาติ สามารถใช้รายงานฉบับนี้เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมที่เคยทำมา (business-as-usual) เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารจากฐานราก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องที่
อาหาร น้ำ สุขภาพ เมือง ภูมิอากาศและพลังงาน: 5 ประเด็นด่วนให้ทุนวิจัยเพื่อบรรลุ SDGs ในปี 2030

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดี
-(2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย อุดมไปด้วยสารอาหาร และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปี 2573
-(2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
#SDG15 การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศบนบก
-(15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศที่ยั่งยืน
-(15.3) ฟื้นฟูแผ่นดินและดินที่เสื่อมโทรม ความแห้งแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงโลกที่ไร้ความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Land and water ecosystems, ‘stressed to a critical point’ (UN)

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version