ความเครียดเรื้อรังสัมพันธ์กับอายุขัยสูงวัยเร็วกว่าเดิม การดูแลสุขภาพให้มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจจึงสำคัญ

ทุกวันนี้เราเผชิญกับความเครียดมากกว่าที่เป็นมา โดยส่งผลให้เห็นผ่านทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่ทรุดลง ทั้งความเครียดเรื้อรังยังมีผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว จนเกิดคำถามว่าความเครียดเป็นตัวเร่งให้สูงวัยเร็วขึ้นหรืออายุสั้นลงหรือไม่

งานศึกษาล่าสุดโดยมหาวิทยาลัย Yale พบว่า ความเครียดส่งผลทำให้นาฬิกาชีวภาพชีวิตเดินเร็วขึ้น กระนั้น การควบคุมอารมณ์และสภาพจิตใจของแต่ละบุคคลจะสามารถจัดการกับผลกระทบของความเครียดที่อาจมีต่อสุขภาพได้ โดยจะช่วยชะลอไม่ให้สูงวัยเร็วขึ้นหรืออายุสั้นลง

การศึกษาดังกล่าวตั้งคำถามโดยพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดที่อาจมีต่อสุขภาพของคน ที่นอกเหนือไปจากผลลัพธ์ทางสุขภาพอย่างที่พอทราบกันดี อาทิ ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น ทำให้เกิดอาการเสพติดต่อบางสิ่งบางอย่าง มีความผิดปกติทางอารมณ์ หรือกระทั่งส่งผลต่อการเผาผลาญในร่างกาย และการเร่งให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่เป็นการศึกษาสารเคมีในร่างกายเพื่อวัดการปลี่ยนแปลงตามนาฬิกาชีวภาพที่เรียกว่า “epigenetic clocks” หรือ “GrimAge” เพื่อใช้ในการประมาณการณ์อายุขัยและการเสียชีวิต

โดยได้ทำการทดสอบเลือดของกลุ่มตัวอย่าง 444 คน ช่วงอายุระหว่าง 19 – 50 ปี โดยใช้ GrimAge ประเมินการเปลี่ยนแปลงเชิงเคมีในร่างกายที่สัมพันธ์กับอายุ ควบคู่กับการดูปัจจัยรายล้อมของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 444 คน ไม่ว่าจะเป็นด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิต เชื้อชาติ และรายได้ รวมถึงที่สำคัญคือระดับความเครียดเป็นอย่างไร และภาวะ “มั่นคง” หรือ “ยืดหยุ่นกับการเปลี่ยนแปลง” (resilient) ทางจิตใจเป็นอย่างไร

ผลพบว่า คนที่มีระดับความเครียดเรื้อรังสูง มีจุดที่บ่งบอกว่าอายุขัยถูกกระตุ้นให้ ‘เร็วขึ้น’ และมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อาทิ มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) อย่างไรก็ดี ความเครียดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนในระดับที่เท่ากันหรือเหมือนกัน เพราะเมื่อเทียบแล้ว คนที่มีระดับความมั่นคงและยืดหยุ่นทางจิตใจ เช่น สามารถควบคุมตัวเองและอารมณ์ของตัวเองได้ดี ก็สามารถรองรับและมีภูมิต้านทานต่อความเครียดที่จะมีต่ออายุขัยและการดื้อต่ออินซูลิน จึงเป็นการศึกษาที่ทั้งยืนยันความสัมพันธ์ของความเครียดและการสูงวัยเร็วขึ้น และก็เป็นตัวที่ชี้ให้เห็นว่าการรักษาสุขภาพจิตใจให้แข็งแรงอยู่เสมอมีความสำคัญ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
-(3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
Stress makes life’s clock tick faster, new study finds (WEF)

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น