รองประธานฝ่ายนโยบายและโครงการเชิงกลยุทธ์ของมูลนิธิองค์การสหประชาชาติ เผย 5 ประเด็นการพัฒนาระดับโลกที่สำคัญและต้องจับตามองในปี 2022 นี้ เพื่อสร้างหลักประกันว่าทั่วโลกจะตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
มูลนิธิองค์การสหประชาชาติ (United Nations Foundation) เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ขององค์การสหประชาชาติ ที่รวบรวมไอเดีย บุคลากร และทรัพยากรที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าระดับโลกและจัดการแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน ระบุว่าปี 2022 นี้ยังจะเป็นอีกปีที่ ‘ทดสอบ’ ความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการจัดการปัญหาร่วมกัน
รองประธานฝ่ายนโยบายและโครงการเชิงกลยุทธ์ (Vice President for Policy and Strategic Initiatives) ของมูลนิธิฯ หลาย ๆ ฝ่าย ร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นสำคัญระดับโลกที่ต้องจับตาต่อในปีนี้ ได้แก่
1 – การตอบสนองและการฟื้นฟูจากโควิด-19
ปี 2022 เป็นปีที่สามของการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ความท้าทายต่าง ๆ ทั้งการดำเนินงานที่เชื่องช้าและไม่มีระบบ ผู้นำที่ไม่กระตือรือร้น และความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การป้องกันการติดต่อเชื้อไวรัสเป็นไปอย่างยากลำบาก ด้วยเหตุนี้ รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 270 ล้านคนทั่วโลก และมีจำนวนผู้เสียชีวิตเกิน 5 ล้านคน และปี 2022 นี้จะต้องบรรลุเป้าหมายระดับโลกด้วยการให้ประชาชน 70% ในทุกประเทศได้รับวัคซีนโควิด-19 ภายในกลางปี เพื่อปิดช่องว่างของการกระจายวัคซีน ที่ปัจจุบัน 66% ของประชาชนในประเทศที่มีรายได้สูงได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ในขณะที่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีเพียง 9% ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเท่านั้น
2 – การลดความยากจน คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปี 2022 นี้เป็นครึ่งทางของกำหนดเวลาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในปี 2030 ซึ่งต้องการความมุ่งมั่นและทะเยอทะยานจากทุกฝ่ายที่สูงขึ้นแม้กระทั่งก่อนการเริ่มระบาดของโควิด-19 เพื่อทั้งขจัดความยากจน เพราะมีการประเมินว่ามีผู้คน 100-150 ล้านคนที่ถูกผลักให้กลับไปสู่ความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ในปีที่ผ่านมา ลดความเหลื่อมล้ำที่แย่ลงไปอีกเพราะการสูญเสียงาน และโอกาสในการศึกษาในวัยเด็กที่หยุดชะงักหรือเสียไป และสร้างโลกที่เจริญรุ่งเรืองและมีสุขภาพดีขึ้นสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประเทศที่มีความสามารถในการตอบสนองต่ำที่สุดเนื่องจากทรัพยากรภายในประเทศที่มีจำกัดและมีภาระหนี้สูง
3 – การเร่งมือความทะเยอทะยานเพื่อจัดการผลกระทบและความรับผิดชอบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ในการประชุม COP26 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าของความทะเยอทะยานเพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายประการจากหลาย ๆ ประเทศ แต่ในปี 2022 นี้ประชาคมโลกจะต้องเจอกับระดับการปล่อยคาร์บอนที่สูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว โรคระบาดที่ยังคงอยู่ เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงขึ้น และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกต้องการความทะเยอทะยานและความรับผิดชอบที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งในการประชุม COP 27 ที่อียิปต์ในปีนี้ ประเทศต่าง ๆ จะถูกขอให้เสนอรายงาน VNRs ที่เดิมมีครบกำหนดรอบ 5 ปี เพื่อเร่งผลักดันการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่รวดเร็วขึ้น
4 – ผลักดันการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิของเด็กหญิงและสตรี
โควิด-19 ทำให้เห็นว่าผลกระทบตกอยู่อย่างไม่เป็นสัดส่วนต่อเด็กหญิงและผู้หญิง รวมถึงยังมีอุปสรคคเชิงระบบที่ขัดขวางความก้าวหน้าในการปิดช่องว่างด้านสิทธิทางเพศและโอกาสต่าง ๆ และผลกระทบของการลดพื้นที่สังคมพลเมืองในการเคลื่อนไหวของผู้หญิงทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ซึ่งต้องการการความร่วมมือจากหลายฝ่ายผ่านการระดมทุนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เพื่อดำเนินการให้ไอเดียการขับเคลื่อนแปลไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยใอย่างน้อยจะมาจากการประชุม Generation Equality Forums (GEF) ที่เม็กซิโกซิตี้และปารีสในปีที่ผ่านมา ที่ทำข้อตกลงการระดมทุนได้ถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5 – วิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมและความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้น
ในปี 2022 โลกจะต้องเผชิญกับความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน มีตัวเลขคาดการณ์ว่าประชาชน 274 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการบังคับให้ต้องพลัดถิ่น ผู้คนจำนวนมากขึ้นอยู่บนขอบของความอดอยากเฉียบพลัน ความเท่าไม่เท่าเทียมกันของการได้รับวัคซีน เพิ่มจุดตัดระหว่างประเด็นต่างๆ เช่น สภาพภูมิอากาศและความหิวโหยกับความขัดแย้ง การเพิ่มขึ้นในระบอบเผด็จการ และความขัดแย้งและความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ปีนี้จึงจะเป็นปีที่สำคัญสำหรับองค์การสหประชาชาติและประชาคมโลกในวงกว้างในการรวบรวมทรัพยากรและสร้างนโยบายเพื่อลดปัญหาความไม่มั่นคงและยุติแนวโน้มการเกิดขึ้นของภาวะความอดอยากและความขัดแย้ง
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
#SDG2 ยุติความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG16 สังคมสงบสุข ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่มา : 5 GLOBAL ISSUES TO WATCH IN 2022 (United Nations Foundation)
Last Updated on มกราคม 3, 2022