SDG Insights | ปี 2021 ของ SDG Move – งานและบทเรียนจากคนขับเคลื่อน SDGs

หนึ่งปีที่ผ่านมา นับเป็นปีที่สังคมไทยเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนจากสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในมิติเศรษฐกิจ การทำงาน การศึกษา สุขภาพกายและใจ รวมไปถึงภาวะความผันผวนของธรรมชาติที่เราจะเห็นได้จากภัยแล้งและน้ำท่วม แต่ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เราจะเห็นได้ว่า “แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเชื่อมโยงกับสภาพปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ เพื่อกระตุ้นการรับรู้และให้ความสำคัญกับรูปแบบการพัฒนาที่ครอบคลุมและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ปี 2021 ที่ผ่านมานี้ยังเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของคนทำงานทุกภาคส่วนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการผสานเครือข่ายคนทำงานให้ได้ภายใต้มาตรการสาธารณสุขหรือการเข้าถึงข้อมูลในแต่ละระดับที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ด้วยเงื่อนไขทั้งหมดนี้ คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าปี 2021 เป็นอีกหนึ่งปีที่การมุ่งบรรลุ SDGs ยังต้องอาศัยความมุ่งมั่นและการทบทวนหลาย ๆ สิ่ง เพื่อพร้อมรับกับความท้าทายและโอกาสที่จะเกิดขึ้นในปี 2022

SDG Insights ฉบับนี้จึงขอใช้โอกาสในการเข้าสู่ปีใหม่ สรุปภาพรวมของการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ผ่านผลงานและมุมมองของ SDG Move สิ่งที่ได้เรียนรู้ และความท้าทายและความน่าสนใจที่ได้พบระหว่างการทำงานตลอดปี 2021 ทั้งในด้านวิชาการ/งานวิจัยเพื่อผลิตองค์ความรู้สำหรับหน่วยงานและองค์กร ด้านการสร้างและผสานเครือข่ายจากหลายภาคส่วนเพื่อก่อร่างและประสานความร่วมมือให้เกิดเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนด้านการสื่อสารองค์ความรู้สู่สาธารณชนที่มีความสนใจและผู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อน SDGs ให้สามารถใช้ SDG Move เป็นประตูเปิดโลกและทำความเข้าใจประเด็นว่าด้วยเรื่อง “ความยั่งยืน” ได้


1 – การขับเคลื่อน SDGs ด้วยงานวิจัย

อย่างที่ทราบกันดีว่า SDGs ประกอบไปด้วยมิติการพัฒนาที่หลากหลายและซับซ้อน การทำงานวิจัยเพื่อผลิตองค์ความรู้เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของประเด็นการพัฒนาในมิติต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการวิจัยยังเป็นการช่วยสำรวจให้เห็นถึงสถานะและสถานการณ์ความก้าวหน้าของการดำเนินงานในแต่ละประเด็นหรือเป้าหมาย จากข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลายและกระจัดกระจาย การวิจัยจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งในการรวบรวมประเด็นและข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ มาสังเคราะห์รวบยอดให้เห็นภาพสถานการณ์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ง่ายดายและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในปี 2021 เป็นอีกหนึ่งปีที่ต่อเนื่องของ SDG Move โดยฝ่ายวิจัย ในการเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและติดตามโครงการวิจัยที่ SDG Move ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับการผสานเครือข่ายนักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม ในการทำงานวิจัยอย่างหลากหลายประเด็น โดยงานวิจัย/วิชาการเหล่านี้ ไม่มากก็น้อยล้วนมีส่วนช่วยขับเคลื่อน SDGs ทั้งภายในองค์กร และระดับประเทศ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านนโยบาย ด้านการจัดเก็บองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น 

โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน หรือ โครงการ Area-Needs ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) SDG Move และคณะทำงานที่มีนักวิจัย/นักวิชาการในพื้นที่ระดับภาคทั้ง 6 ภาค ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อสะท้อนความต้องการเชิงพื้นที่และองค์ความรู้ที่จะตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้น เพื่อได้ผลิตเป็นชุดข้อมูลที่จะใช้ประกอบการจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) ของประเทศที่มีความตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่มากขึ้นต่อไป โดยอาศัยกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นจุดยึดโยงแนวคิดการวิเคราะห์ประเด็นในเชิงพื้นที่

| สถานการณ์และความท้าทายที่ฝ่ายวิจัยมองเห็น

จากการเข้าไปมีส่วนร่วมและติดตามการทำงานทางวิชาการในหลากหลายแวดวง จะเห็นได้ว่าหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม หันมาสนใจและตระหนักถึง SDGs เพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนาองค์กร บุคลากร สถานการณ์ทางสังคม การพัฒนาในระดับท้องถิ่น จนไปถึงระดับนโยบายของชาติ บางส่วนมีความต้องการข้อมูลและองค์ความรู้ที่บางครั้งยังขาดหายไปในการมองภาพความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs และภารกิจของแต่ละหน่วยงาน การเข้าไปมีส่วนร่วมกับการผลิตข้อมูลทางวิชาการน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยตอบโจทย์ความท้าทายในหลายเรื่อง ๆ ซึ่งยังเป็นจุดเหนี่ยวรั้งการมุ่งไปสู่สังคมที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม การผลิตงานวิจัยตลอดเวลาที่ผ่านมา พบกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงข้อมูล ด้วยข้อมูลของแต่ละหน่วยงานในประเทศไทยกระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ บางครั้งข้อมูลบางส่วนยังไม่ทันต่อสถานการณ์ของพื้นที่หรือประเด็น ทำให้การเข้าถึงข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ต่อในการวิเคราะห์และสังเคราะในงานวิจัยนั้น ไม่สะดวกเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำได้ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญต่อการนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการทำงานทางวิชาการที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Forsight ระดับภาคใต้ชายแดน

2 – เครือข่ายหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา SDG Move ฝ่ายเครือข่ายได้พยายามเข้าไปมีบทบาทสำคัญเป็นจุดเชื่อมต่อและประสานการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่การผสานเครือข่ายเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการผ่านการร่วมจัดเวทีเสวนาทางวิชาการ หรือการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในประเด็นต่าง ๆ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และบทเรียนจากการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ SDGs เพื่อกระตุ้นภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน SDGs ในลักษณะของเครือข่ายหุ้นส่วนการพัฒนา (partnership) นอกจากนี้ SDG Move ยังได้รับการอนุเคราะห์จากองค์กรที่หลากหลายซึ่งมีความสนใจนำ SDGs ผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจงาน โดย SDG Move ได้เข้ามามีส่วนร่วมบริการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อช่วงวางพื้นฐานทางความรู้ด้าน SDGs ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์และแนวปฏิบัติขององค์กร กล่าวคือ ทำให้องค์กรขับเคลื่อนการดำเนินงานหรือธุรกิจที่คำนึงถึงมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และมิติอื่นอย่างเชื่อมโยงกันมากยิ่งขึ้น

เวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย (Thailand Social Development Forum) ซึ่งทาง SDG Move ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนในประเด็น “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ผ่านการร่วมจัด workshop กับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมิติการลดความเหลื่อมล้ำในระดับรากฐาน โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การปลูกต้นไม้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในชุมชน 2) ระบบสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 3) สิทธิการอยู่อาศัยและการพัฒนาของคนจนเมือง4) การสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากชุมชนท้องถิ่น และ 5) การแก้ไขปัญหานี้สินระดับบุคคล และครัวเรือน โดยตลอดการ workshop ได้อาศัยเครื่องมือ Backcasting ที่จะช่วยกำหนดเป้าหมายภาพอนาคตที่ทุกฝ่ายอยากจะเห็น เพื่อกำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนที่มุ่งสู่ภาพอนาคตนั้น ประกอบกับการใช้เครื่องมือ FAIR CANVAS เพื่อวิเคราะห์ค้นหาปัจจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Factors) ที่จำเป็น/เกี่ยวข้องต่อการขับเคลื่อนทิศทางเชิงยุทธศาสตร์

○ อ่านเพิ่มเติม SDG Updates | ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

| สถานการณ์และความท้าทายที่ฝ่ายเครือข่ายมองเห็น

จากการที่ฝ่ายเครือข่ายได้มีโอกาสร่วมงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับ SDGs ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า กระแสความตื่นตัวและความสนใจที่จะทำความรู้จักกับ SDGs นั้น เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีทั้งหน่วยงานที่แสดงความสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SDGs ไปจนถึงหน่วยงานที่มีความพร้อมในระดับหนึ่งที่จะนำกรอบแนวทางของ SDGs ไปผสานในการดำเนินการของหน่วยงานทุกระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ไปจนถึงระดับปฏิบัติการ ทำให้องค์ความรู้ของ SDGs กระจายไปสู่การทำงานในหลากหลายภาคส่วนและครอบคลุมหลายระดับมากขึ้น แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  แต่หน่วยงานต่าง ๆ ได้พยายามตั้งรับปรับตัวและพัฒนาองค์กรให้สามารถเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน SDGs ในมิติที่แตกต่างกันไป ภายใต้วิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรตนเอง

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของเป้าหมาย หรือพิจารณาเป้าประสงค์หรือเป้าหมายย่อย (SDG Targets) จะเห็นได้ว่าตัวชี้วัดที่อยู่ภายใต้เป้าประสงค์เหล่านี้มีลักษณะที่เฉพาะเจาะจง ทำให้หน่วยงานหรือบุคคลที่พยายามศึกษา SDGs อาจจะเกิดความสับสนในช่วงแรกว่าจะสามารถดึงตนเองและองค์กรเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายนั้นได้อย่างไร หรือ จะผนวกเอา SDGs ไปใช้กับการการทำงานของตนเองได้อย่างไร ความท้าทายที่ฝ่ายเครือข่าย ได้พบในขณะที่พยายามสื่อสาร SDGs กับหน่วยงานต่าง ๆ จึงเป็นประเด็นที่ว่า จะทำอย่างไรให้หน่วยงานต่าง ๆ ตระหนักเข้าใจว่า SDGs นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่ใช่การเพิ่มงานให้กับหน่วยงาน แต่ความจริงแล้ว SDGs แทรกซึมอยู่ในทุก ๆ ประเด็น ปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ตลอดจนกระบวนการทำงาน ที่หน่วยงานพยายามขับเคลื่อนหรือแก้ไขปัญหาอยู่ เมื่อสามารถสื่อสารความเข้าใจนี้ได้แล้ว คำถามต่อไปคือเราจะช่วยเสริมพลังให้หน่วยงานสามารถนำ SDGs ไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของตนเองอย่างไร เพื่อที่จะปูทางให้องคาพยพเหล่านี้พร้อมที่จะเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศและระดับโลกต่อไป

เวทีระดมความร่วมมือแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย (Thailand Social Development Forum)
หัวข้อ “ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”

3 – งานสื่อสารองค์ความรู้เรื่อง SDGs

บทบาทของฝ่ายองค์ความรู้ตลอดปี 2021 ที่ผ่านมา ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ SDGs เพื่อสื่อสารกับผู้คนที่หลากหลายตั้งแต่บุคคลทั่วไป นักวิชาการ ชุมชน หรือแม้กระทั่งผู้กำหนดนโยบาย ด้วยกระบวนทัศน์ของ SDGs เอง เป็นมุมมองที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่จะต้องรวมผู้คนทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกลุ่มเปราะบางเข้ามาในกระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน การสร้างการตระหนักรู้และเสริมสร้างองค์ความรู้ผ่านการสื่อสารจึงเป็นกระบวนการสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ ที่จะช่วยสร้างพื้นที่ในการเข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้าน สร้างความเข้าอกเข้าใจผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงสร้างการรับรู้เพื่อดึงทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนา ดังนั้น ฝ่ายองค์ความรู้จึงพยายามแสดงบทบาทในฐานะฝ่ายสื่อสาร โดยทำงานร่วมกับฝ่ายวิจัยและเครือข่ายเพื่อถ่ายทอดข้อมูลและเรื่องราว ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย โดยผลงานที่งานสื่อสารองค์ความรู้ SDGs ตลอดทั้งปีมีอยู่หลากหลาย และมีส่วนที่ได้ร่วมมือกันผลิตเนื้อหาเฉพาะรายเป้าหมายและประเด็น อาทิ ความร่วมมือกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย เพื่อจัดทำชุดซีรีส์เรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) อย่างไรก็ดี การสื่อสารองค์ความรู้ได้ดำเนินการเป็นหลักผ่าน 2 รูปแบบ ดังนี้

โครงการหลัก SDG Watch ภายใต้ความร่วมมือกับ IHPP ซึ่งสนับสนุนการผลิตองค์ความรู้มาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำงานสื่อสารในปี 2021 ดำเนินการไปด้วยความพยายามที่จะสร้างความตระหนักรู้ พร้อมทั้งส่งเสริมขีดความสามารถของหลากหลายภาคส่วนผ่านรูปแบบของเนื้อหาที่สามารถหยิบใช้ไปเป็นเครื่องมือหรือต่อยอดและพัฒนาในส่วนงานของตนต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็น SDG101, SDG Vocab, SDG News, SDGs in Action, SDG Recommends, SDG Updates, และ SDG Insights ตลอดจนความพยายามที่จะปรับให้พื้นที่การสื่อสารเป็นการเปิดการมีส่วนร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย โดยไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบของการอ่านแต่เพียงเท่านั้น

การพัฒนา Knowledge Hub ที่เป็นพื้นที่ในการรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในหลากหลายรูปแบบ โดยมีชื่อว่า SDG Port” โดยอาศัยฐานข้อมูลและผลงานที่มีอยู่แล้วในหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีภารกิจขับเคลื่อน SDGs ในการเชื่อมโยงและบูรณาการองค์ความรู้ด้าน SDGs อย่างเป็นระบบ และอำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงข้อมูล เพื่อสนับสนุนการประเมินและติดตามสถานการณ์ความก้าวหน้าของ SDG ทั้งในเชิงพื้นที่ (area-based) และเชิงประเด็น (issue-based)

| สถานการณ์และความท้าทายที่ฝ่ายองค์ความรู้มองเห็น

การสื่อสาร เป็นกระบวนการสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ ที่จะช่วยสร้างพื้นที่เพื่อการเข้าถึงข้อมูลอย่างรอบด้าน สร้างการตระหนักรู้และเข้าอกเข้าใจผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงสร้างการรับรู้เพื่อดึงทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาต่อไป การสื่อสารเรื่องที่สลับซับซ้อน ที่ครอบคลุมหลากหลายประเด็นอย่าง SDGs เป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะสร้างการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกและเข้าใจง่าย ประกอบกับผู้คนก็มีความสนใจและความต้องการเนื้อหาในลักษณะแตกต่างกัน ทำให้การสื่อสารเพื่อการเข้าถึง สร้างความตระหนัก และเสริมสร้างองค์ความรู้เป็นความท้าทายอย่างมาก ทั้งนี้ ในแง่ของการติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศ พบความท้าทายอย่างมากในการเข้าถึงข้อมูล เนื่องจากข้อมูลพื้นฐานบางประการที่จำเป็นต่อการสื่อสารในประเทศไทยหลายส่วนยังขาดความเป็นเอกภาพ ไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้การสื่อสาร SDGs ที่เกิดขึ้นในไทยเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะแสดงให้เห็นสถานะ พัฒนาการ และภาพรวมของการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย มากไปกว่านั้น การเชื่อมโยงและร้อยเรียงประเด็นของสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ หรือการเล่าเรื่องผ่านมิติของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กระทั่งองค์การระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องของประเด็นระดับโลกเช่นนี้ที่มีต่อตนเองและที่ตนเองมีส่วนส่งผลกระทบให้เกิดขึ้น และเพื่อกระตุ้นให้ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐ ยังเป็นอุปสรรคและความท้าทายอย่างมากในการผลิตเนื้อหาและสื่อสารออกมาสู่สาธารณะ

○ อ่านเพิ่มเติม SDG Insights | 1 ปีของการสื่อสารเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน: ถอดบทเรียนจากการทำงาน


4 – ประเด็นที่มีอิทธิพลต่อการบรรลุ SDGs ในปี 2021 ทั้ง 6 ประเด็น

จากการติดตามสถานการณ์ผ่านข่าว รายงาน และสื่อรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ ประเด็นที่อยู่ในกระแสคงหลีกหนีไม่พ้นผลกระทบจากโควิด–19 ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ แต่ยังส่งผลกระทบไปในมิติเศรษฐกิจ การทำงาน การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของมนุษย์ในด้านการศึกษา รวมไปถึงประเด็นใหญ่ ๆ อย่างธรรมาภิบาลในภาครัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ/ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเรื่องสุขภาพระหว่างประเทศ ซึ่งคงหลีกเลี่ยงที่จะพูดไม่ได้ว่าโควิด-19 น่าจะเป็นตัวฉุดรั้งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เห็นได้ชัด และจับต้องได้ง่ายที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 2020 

แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ไม่ได้เป็นประเด็นเดียวที่อยู่ในกระแสความผันผวนและเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ยังพบสถานการณ์และประเด็นที่จะมีอิทธิพลทั้งในเชิงส่งเสริมและฉุดรั้งการบรรลุ SDGs โดยอาจจะหมวดหมู่ 6 กลุ่ม ดังนี้

  1. สันติภาพ เสรีภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของมนุษย์กำลังสั่นคลอน ทั้งที่เกิดจากความขัดแย้งในระดับระหว่างประเทศ การประท้วงแสดงความไม่พอใจกับการบริหารจัดการของรัฐ และการใช้อำนาจของรัฐกดขี่ประชาชน เช่น การรัฐประหารในเมียนมา เป็นต้น
  2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงต่อมนุษย์และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น โดยเผชิญกับภัยธรรมชาติในสภาวะอากาศแบบสุดขั้วทั้งร้อนจัด เย็นจัด และอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากอากาศสูงขึ้น
  3. การใช้และจัดสรรทรัพยากรกลายเป็นปัจจัยที่ท้าทายและจะนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะ การแย่งชิงที่ดิน (Land Grab) ในทุกระดับ หรือความขัดแย้งจากการใช้ทรัพยากรอย่างพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจากการสร้างเขื่อน เป็นต้น
  4. การพัฒนาของมนุษย์ถดถอยลงในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งมาพร้อมกับการแพร่ระบาดที่ทำให้เด็กจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จะเอื้อต่อการพัฒนาตนเองให้มีทักษะเพียงพอต่อการมีงานที่มีคุณค่า
  5. เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือทุ่นแรง เสริมแรงและใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การหันมาให้คำปรึกษาคนไข้ผ่านระบบโทรเวชกรรมหรือ Telemedicine ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีก็มีความแตกต่างขึ้นไปด้วย โดยจำนวนคนที่อยู่ใน ‘ความยากจนทางอินเทอร์เน็ต’ (internet poverty) ยังคงอยู่ในระดับสูง
  6. การฟื้นตัวและพัฒนาเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดยปัจจัยหลักมาจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และความสามารถที่จะเร่งฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพให้ครอบคลุมภายในแต่ละประเทศ ซึ่งสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำในระดับโล ที่มีทรัพยากรและระบบการคุ้มครองทางสังคมที่แตกต่างกันอยู่มาก

5 – บทสรุป 2021 และมองไปข้างหน้าปี 2022

ปัจจุบัน SDG Move ยังคงดำเนินบทบาทเป็นหน่วยงานภาควิชาการที่ร่วมขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทยตามที่ดำเนินการมาตลอด 6 ปี แต่ปี 2021 เป็นปีที่เราเห็นความพยายามของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและองค์กรระหว่างประเทศในการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรายังเห็นภาควิชาการและมหาวิทยาลัยขยับขับเคลื่อน SDGs มากขึ้นเป็นพิเศษในปีนี้ ทั้งที่เป็นผลจากการจัดอันดับ THE University Impact Ranking และจากความริเริ่มของนักวิชาการจากหลายสถาบัน สำหรับภาคเอกชนแม้เราจะไม่ได้มีบทบาทสนับสนุนมากนักแต่ Global Compact Network Thailand (GCNT) ได้ดำเนินการผลักดันการขับเคลื่อนของภาคเอกชนอย่างแข็งขัน ผนวกกับกระแสของบริษัทในระดับโลกที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้นกลายเป็นแรงกดดันบริษัทในประเทศไทยให้ต้องขยับเรื่องนี้ อาจกล่าวได้ว่า ปี 2021 เป็นปีที่เราเห็นถึง ความตระหนัก (A-Aware) เกี่ยวกับ SDGs มีอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นจากความพยายามของทุภาคส่วน

ในฐานะผู้อำนวยการ SDG Move พบว่า ความท้าทายของปี 2022 และปีที่เหลืออยู่ของ SDGs จนถึงปี 2030 มีอย่างน้อย 3 ประการ 

  • ประการแรก เราจะทำให้อย่างไรให้หน่วยงานเห็นประโยชน์ (B-Benefit) ของ SDGs และสามารถนำไปใช้กับหน่วยงานของตนได้ สิ่งนี้ทำได้ไม่ง่ายนักเพราะมันเกี่ยวกับการเข้าใจ SDGs ในระดับที่มากพอที่จะผนวกเข้าไปในการทำงานจนเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม  
  • ประการที่สอง เราจะทำให้หน่วยงานที่มีความตระหนัก (Aware) และเห็นประโยชน์ (Benefit) แล้วมาเป็นกำลังหลักของการขับเคลื่อน SDGs (C-Contribute) ในประเทศได้อย่างไรและจะต้องมีระบบสนับสนุนอะไรบ้างเพื่อทำให้ภาคส่วนเหล่านั้นมาร่วมขับเคลื่อนSDGs ได้อย่างเต็มที่และเสริมพลังกัน 
  • ประการที่สาม คือ ข้อมูลสำหรับติดตามผลลัพธ์การพัฒนาที่ยั่งยืน (D–Data) ยังคงเป็นโจทย์ที่สำคัญและยังไม่คืบหน้ามากนัก สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้เห็นจุดอ่อนของระบบข้อมูลที่ล่าช้าอันทำให้การรับรู้ถึงผลกระทบของโควิด-19 เป็นไปอย่างไม่ทันการณ์และส่งผลให้การออกแบบนโยบายขาดประสิทธิภาพประสิทธิผล การพัฒนาให้ระบบข้อมูลสถิติมีความถูกต้อง ทันการณ์ เข้าถึงได้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำงานร่วมกันข้ามภาคส่วนเพราะจะทำให้ทุกภาคส่วนรู้ว่าการกระทำของตนส่งผลต่อผลลัพธ์ในภาพรวมอย่างไร ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยั่งยืนให้มีประสิทธิผลอีกด้วย

การขับเคลื่อนผ่านกลไกความรู้เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเคลื่อนจาก A-Aware ไป B-Benefit ถึง C-Contribute และการผลักดันให้ D-Data มีความสมบูรณ์ เข้าถึงได้และทันการณ์จะเป็นความท้าทายและทิศทางที่ SDG Move จะมุ่งไปในปี 2022 


Last Updated on มกราคม 12, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น