Site icon SDG Move

บริษัท Novatis ทั่วโลก รวมทั้งในไทย ให้สวัสดิการคุณพ่อมือใหม่ ‘ลางานดูแลบุตร’ ได้ถึง 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ทีผ่านมา พนักงานของบริษัท Novartis ทั่วโลกทุกคนมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่างจ้างเป็นเวลาอย่างน้อย 14 สัปดาห์ หรือ 98 วัน ซึ่งรวมถึงพนักงานชายที่เป็นคุณพ่อมือใหม่ด้วย

ประกาศนโยบายใหม่จาก บริษัท Novartis บริษัทด้านการดูแลสุขภาพระดับโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ บังคับใช้กับสาขาบริษัทที่อยู่ใน 155 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยนโยบายสิทธิประโยชน์ ‘ลาดูแลบุตรโดยได้รับค่าจ้าง (paid parental leave)’ นี้ให้แก่พนักงานที่เป็น “ผู้ปกครอง” ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ซึ่งเป็นการเพิ่มความครอบคลุมให้แก่ฝั่งบิดาที่จะสามารถลาเพื่อดูแลภรรยาและบุตรแรกคลอด และยังรวมไปถึงกลุ่มคู่สมรสที่ไม่ได้สมรสตามกฎหมายและเพศทางเลือก หรือผู้ที่กลายเป็นผู้ปกครองมือใหม่ด้วยการอุปการะบุตรด้วย ซึ่งสามารถเลือกใช้วันลาได้อย่างยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับครอบครัวมากที่สุด คือจะเลือกใช้วันลาทั้ง 98 วันในครั้งเดียว หรือแบ่งเป็นการลา 3 ช่วง ใน 1 ปีก็ได้

การดูแลบุตรในช่วงแรกเกิดมีความสำคัญต่อพัฒนาการของทารกในระยะยาว แต่ภาระงานดูแลสมาชิกในครัวเรือน (domestic care work) นี้แทบทั้งหมดตกอยู่กับฝ่ายมารดา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสิทธิ์การลาเลี้ยงบุตรโดยได้รับค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง จึงยังคงเหนี่ยวรั้งให้ภาระดูแลบุตรเป็นหน้าที่เฉพาะของฝ่ายหญิงต่อไป นโยบายการลาดูแลบุตรของผู้ปกครองทุกเพศอย่างเท่าเทียมกันนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองไม่ว่าจะเป็นเพศใดอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการบริหารที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานในองค์กรอย่างเท่าเทียม หรือ Diversity and Inclusion (D&I) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเหมาะสมกับสังคมยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความหลากหลาย ซึ่งไม่เพียงพนักงานทุกคนจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่พัฒนาขึ้นบนแนวคิดการบริหารนี้เท่านั้น แต่หลายงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าองค์กรที่มีความหลากหลายของพนักงานจะได้ประโยชน์ทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจริง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ขยายวันลาคลอดของมารดา ที่เป็นข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน (เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 วัน) โดยได้รับค่าจ้าง และส่งเสริมการลาของสามีที่เป็นข้าราชการชาย เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้มีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ ซึ่งสามารถแบ่งลาได้เป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกัน (จากเดิมลาได้เพียง 1 รอบ)

YouTube Poster
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
- (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี พ.ศ. 2573
- (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
- (10.2) เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
- (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
- (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า

ที่มา :
Parental Leave (Novartis)
จะดีแค่ไหนถ้า ‘พ่อลาคลอด’ ได้ 98 วัน (กรุงเทพธุรกิจ)
ครม.ไฟเขียว เพิ่มวันลาคลอด-รับค่าจ้าง 50% พ่อลาดูแลลูกได้ 15 วัน (มติชนออนไลน์)
D&I เทรนด์ HR ที่มาแรง (กรุงเทพธุรกิจ)

Author

  • Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

Exit mobile version