การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และหลังจากที่ปี 2564 ว่างเว้นจากการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ กพย. เมื่อวานนี้ (17 มกราคม 2565) การประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1/2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้รับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDG Roadmap) เห็นชอบให้ปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้ กพย. และเห็นชอบแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะต่อไป
โดยความก้าวหน้าในการดำเนินการของไทยเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ของแต่ละเป้าหมายและเชื่อมโยงเป้าประสงค์/เป้าหมายย่อยของ SDGs เข้ากับเป้าหมายย่อยของแผนแม่บททั้ง 23 เล่มภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่และจังหวัดนำร่อง การประสานความร่วมมือกับภาคีการพัฒนา อาทิ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคีเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ การสร้างการตระหนักรู้ให้กับประชาชนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ การนำเสนอรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (VNR) ต่อเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตลอดจนการเผยแพร่รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563 ซึ่งเป็นบทวิเคราะห์สถานการณ์การบรรลุเป้าหมาย อุปสรรคและความท้าทายของไทยจัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.
ซึ่งแม้ว่าจะมีประเด็นอุปสรรคและความท้าทายของไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ไทยก็มีตัวอย่างความสำเร็จของการดำเนินงานที่นำเสนอผ่านรายงาน VNR ด้วย เช่น การพัฒนาดัชนีความยากจนหลายมิติระดับชาติ และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เป็นต้น
● อ่านเพิ่มเติมที่
– รวมข่าวสารความคืบหน้าเกี่ยวกับการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) และรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (VNR) โดย SDG Move
– SDG Updates | สรุป 9 เป้าหมายย่อยที่ยังวิกฤต (ฉบับรวบรัด) จากรายงาน 5 ปีสถานะ SDGs ประเทศไทย โดยสภาพัฒน์
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าในการจัดทำร่างแผนที่นำทาง (Roadmap) เป็นการเฉพาะของแต่ละ 17 เป้าหมาย จัดทำโดยหน่วยงานรัฐซึ่งพิจารณารับมอบหมายให้รับผิดชอบประสานการขับเคลื่อน SDGs ตามรายเป้าหมายหลัก (Goals) โดยยังได้ติดตามการประสานงานของหน่วยงานรัฐซึ่งพิจารณารับมอบหมายให้รับผิดชอบตามรายเป้าหมายย่อย (Targets) ในด้านสถานะของการพัฒนาข้อมูลตัวชี้วัด อันหมายรวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัดในระดับจังหวัด ทว่าในประเด็นข้อมูลตัวชี้วัดนี้ยังมีความท้าทายอยู่บางประการ อาทิ การจัดเก็บข้อมูลแบบจำแนกแยกประเภท (disaggregated) และการที่ยังไม่มีข้อมูลตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับบริบทของไทย
หนึ่งในแนวทางการดำเนินงานหลัก 6 ด้าน ตาม Thailand’s SDG Roadmap ด้านกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น มีข้อเสนอให้พิจารณาดำเนินการปรับปรุงองค์ประกอบจากคำสั่งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ 1/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งไทยมีคณะอนุกรรมการอยู่ 4 คณะ ได้แก่
- คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
- คณะอนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์
เพื่อความเป็นเอกภาพในการดำเนินงาน ลดความซ้ำซ้อนในภารกิจและงบประมาณ และเพื่อให้พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้บริบทของทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action) ที่ประชุมจึงพิจารณา “ยกเลิก” คณะอนุกรรมการ 2 คณะ ได้แก่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยย้ายไปใช้กลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานของยุทธศาสตร์ชาติที่มีอยู่ และให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะและคณะทำงาน 1 คณะใหม่ ได้แก่
- คณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
- คณะอนุกรรมการพลังเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และ
- คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของไทยในกรอบสหประชาชาติ
ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะต่อไป ที่ประชุมได้พิจารณาหลักการที่สอดคล้องกับการดำเนินงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ ตามหลักวงจรบริหารงานคุณภาพ หรือ PDCA ได้แก่ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Do) การตรวจสอบ (Check) และการปรับปรุงการดำเนินงาน (Act)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 – ยุติความยากจน
#SDG2 – ขจัดความหิวโหย โภชนาการที่ดี ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
#SDG3 – สุขภาพและสุขภาวะที่ดี
#SDG4 – การศึกษาที่เสมอภาคและเท่าเทียม
#SDG5 – ความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง
#SDG6 – น้ำดื่มสะอาด สุขาภิบาลและสุขอนามัยที่ดี
#SDG7 – พลังงานสมัยใหม่
#SDG8 – การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
#SDG9 – โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์
#SDG10 – ลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศและระหว่างประเทศ
#SDG11 – เมืองและการตั้งถิ่นฐานที่ยั่งยืน
#SDG12 – การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 – การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 – ทะเลและทรัพยากรทางทะเลและมหาสมทุร
#SDG15 – ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 – สังคมสงบสุข ยุติธรรม ครอบคลุม สถาบันมีประสิทธิผล
#SDG17 – หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
กพย. เร่งขับเคลื่อนเดินหน้าแผนพัฒนาที่ยั่งยืน ขจัดความยากจน พัฒนาคน ลดความเหลื่อมล้ำ (CH7)
ระเบียบวาระการประชุมคณะกรรกมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1/2565 (สศช.)
เอกสารไฟล์นำเสนอการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 1/2565 (สศช.)