ฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลและคุ้มครองผู้บริโภค ทว่าในกรณีของสหรัฐฯ ข้อมูลฉลากอาหารที่ส่วนหนึ่งถูกกำหนดตามกฎหมาย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) อาจเป็นคำศัพท์เฉพาะทางที่เข้าใจยากจนเกินไป เพราะมีการศึกษาที่ชี้ว่า ยังคงมีประชาชนจำนวนหนึ่งสับสนอยู่
ศูนย์การเกษตรและระบบอาหาร (CAFS) ภายใต้ Vermont Law School สหรัฐฯ จึงจัดทำเว็บไซต์ Labels Unwrapped เพื่อเป็นตัวกลางช่วยผู้บริโภครวมถึงผู้ประกอบการ/ผู้ผลิตอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก เรียนรู้และทำความเข้าใจฉลากบนบรรจุภัณฑ์อาหารตามข้อเท็จจริง คำอ้างสรรพคุณของผู้ผลิต และข้อมูลตามกฎหมายกำหนด อาทิ ข้อมูลวัตถุดิบ ข้อมูลแหล่งอาหารและกระบวนการผลิต ข้อมูลโภชนาการ กฎระเบียบของภาครัฐที่เกี่ยวกับอาหาร ใบรับรอง และวันหมดอายุ กล่าวคือ ให้เว็บไซต์นี้เป็นตัวช่วยสร้างการตระหนักรู้ความรู้ความอ่านเกี่ยวกับฉลากอาหาร (Food Label Literacy)
เข้าถึงเว็บไซต์ได้ที่ : https://labelsunwrapped.org/
โดยเมื่อเข้าถึงเว็บไซต์ จะมีส่วนที่เรียกว่า Explore Labels แบ่งกลุ่มข้อมูลฉลากตามประเภทอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโปรตีน กลุ่มนม กลุ่มธัญพืช กลุ่มผักและผลไม้ กลุ่มไขมันและน้ำมัน กลุ่มของหวาน และกลุ่มอาหารเสริม ประกอบไปด้วยตัวอย่างฉลากอาหารสอนวิธีการอ่าน ที่ผู้ใช้งานสามารถลองกดดูข้อมูลในแต่ละจุดเพิ่มเติมได้ รวมถึงข้อมูลบนฉลากอาหารและคำอธิบายว่าคำที่ปรากฎหรือคำเฉพาะหมายความว่าอย่างไร อาทิ คำว่า Sustainably Produced, Chemical Free, Ethnically Sourced, Non-GMO,
Bioengineered, Lite, และ All Natural เป็นต้น รวมถึงคำอื่น ๆ ที่ชี้ว่าอาจจะเป็นเพียงคำอ้างสรรพคุณเพื่อการตลาดเท่านั้น ในส่วนนี้ผู้บริโภคสามารถศึกษาทำความเข้าใจได้โดยง่าย ไว้เป็นทักษะในชีวิตประจำวันประจำกายใช้ในยามที่ต้องจับจ่ายสินค้าเพื่อการบริโภค
นอกจากข้อมูลเพื่อผู้บริโภคแล้ว สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตอาหารขนาดกลางและขนาดเล็ก (กระทั่งนักศึกษากฎหมายว่าด้วยเรื่องอาหาร) สามารถศึกษาในส่วนของ Labels 101 เพราะเป็นข้อมูลกฎหมายและกฎระเบียบว่าด้วยเรื่องฉลากอาหาร
Laurie Beyranevand ผู้อำนวยการศูนย์ CAFS ระบุว่า แม้ว่าจะมีเครื่องมือช่วยผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นเว็บไซต์ดังกล่าว แต่ผู้กำหนดนโยบายและผู้กำหนดกฎหมายจะต้องคำนึงถึงประเด็นความรู้ความเข้าใจของผู้บริโภค รวมถึงการกำหนดให้การใช้คำในแต่ละความหมายมีมาตรฐานของการใช้คำที่ชัดเจนเพื่อป้องกันความสับสน นอกจากนี้ การที่ทราบความหมายของคำแต่ละคำซึ่งปรากฎอยู่ในฉลากอาหาร ยังจะเป็นประโยชน์ต่อปลายทางอย่างการจัดการกับขยะอาหารด้วย ในแง่นี้ การกำหนดนิยามของคำให้เป็นมาตรฐานและการกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวกับฉลากอาหาร จึงเป็นทางแก้ปัญหาที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับการจัดการขยะอาหารภายในประเทศ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ เกตรกรรมที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเฉพาะประเด็นขยะอาหาร (12.3)
แหล่งที่มา:
Labels Unwrapped
Labels Unwrapped: A New Interactive Site Helping Consumers Digest Their Food Labels (Food Tank)