Director’s Note: 15: SDG Move กับงาน Global Solutions Forum

สวัสดีวันจันทร์ครับ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว SDG Move ในฐานะ National Host ของเครือข่าย SDSN Thailand (Sustainable Development Solutions Network Thailand) ได้รับเลือกให้เข้านำเสนอการดำเนินงานโครงการด้าน SDGs ในงาน Global Solutions Forum พร้อมได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมรวมถึง Professor Jeffrey Sachs ประธานเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) อีกด้วย

ภาพบรรยากาศงานประชุม Global Solutions Forum

| Global Solutions Forum คืออะไร

Global Solutions Forum (GSF) เป็นงานที่รวบรวมเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วโลกมาแสดงผลงานเกี่ยวกับโครงการที่พวกเขาดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศของเขา GSF มีเครือข่าย SDSN เป็นเจ้าภาพหลัก และได้รับการสนับสนุนจาก German Corporation for International Cooperation (GIZ) มาตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2019 และ 2020 และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมในปี 2022 จาก Global Sustainable Technology and Innovation Community (G-STIC) และ PANORAMA – Solutions for a Healthy Planet อีกด้วย (ท่านสามารถเข้าไปดูผลงานที่เคยนำเสนอได้ที่ https://www.globalsolutionsforum.org/ )

ในปี 2022 นี้ งาน GSF ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงาน G-STIC Conference ซึ่งจัดขึ้นในแบบ Hybrid ที่ Dubai ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2022 โดยงาน GSF จัดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2022 เวลา 19.00 – 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

โครงการที่ได้รับคัดเลือกเข้านำเสนอในปีนี้มาจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย

  • บังคลาเทศ – โครงการ Digital Knowledge Information Content Kiosk (KICK)  
  • โคลอมเบีย – โครงการ Ecopark around the Arroyohondo watershed
  • ไซปรัส – โครงการ Social mediation in global solutions
  • ตุรกี – Localization of SDG 11 and 13 in municipalities
  • ไทย – Area-based economic and social situation report

โครงการต่าง ๆ ถูกนำเสนอในรูปแบบของวีดีโอยาวประมาณ 3 นาทีให้กับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศและนักวิชาการ 3 คนจากทั้งยุโรปและแอฟริกา ซึ่งจะทำหน้าที่ให้ความเห็นและตั้งคำถาม จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วง Panel Discussion ที่พิธีกร (Jessica Espey จาก University of Bristol และ Advisor to the SDSN) ประมาณ 45 นาทีก่อนจะจบด้วยปาฐกถาของ Professor Jeffrey Sachs

ผลงานทั้งหมดจะถูกนำเสนอบนเว็บไซต์ https://panorama.solutions/en ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมเอากรณีศึกษาทั่วโลกเอาไว้

| SDG Move ไปนำเสนออะไร

SDG Move หรือศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะ National Host ของเครือข่าย SDSN ประเทศไทย ได้ไปนำเสนอ “โครงการ Area Needs” หรือชื่อเต็มคือ “โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ระยะที่ 1″ โดย เป็นโครงการที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มอบหมายให้คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย SDG Move ดำเนินการร่วมกับทีมนักวิชาการอีก 6 ทีมในภูมิภาค จาก 8 มหาวิทยาลัย โดยมีทีมงานประกอบด้วย

ทีมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดร.อนิรุทธิ์ ผงคลีหัวหน้าโครงการสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม
ผศ. ดร.กัญญาณัฐ รัตนประภาธรรมนักวิจัยคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อ.ทม เกตุวงศานักวิจัยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ทีมภาคเหนือ

ดร.สมคิด แก้วทิพย์หัวหน้าโครงการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รศ. ดร.เกศสุดา สิทธิสันติกุลนักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อ.โอฬาร อ่องฬะนักวิจัยสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ

ทีมภาคใต้

รศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัยหัวหน้าโครงการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
อ.วีณา ลีลาประเสริฐสินธุ์นักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ
ผศ. ดร.กรุณา แดงสุวรรณนักวิจัยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ทีมภาคใต้ชายแดน

ผศ. ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิงหัวหน้าโครงการ
(ก่อนรับตำแหน่งใน สกสว.)
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผศ.เอกรินทร์ ต่วนศิรินักวิจัยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ทีมภาคตะวันออก

รศ. ดร.ดวงพร ภู่ผะกาหัวหน้าโครงการ
(ก่อนรับตำแหน่งใน สกสว.)
มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
ผศ. ดร.พิชญสิณี อริยธนกตวงศ์นักวิจัยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์

ทีมภาคกลาง

ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุลหัวหน้าโครงการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ดร.เดชรัต สุขกำเนิดนักวิจัยนักวิจัยอิสระ
นายนาวิน โสภาภูมินักวิจัยนักวิจัยอิสระ

โครงการ Area-needs เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของทาง สกสว. ที่ต้องการให้การจัดทำแผนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผน ววน.) ของประเทศมาจากการมีส่วนร่วมและตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่มากขึ้น จึงต้องการที่จะค้นหาความต้องการของพื้นที่เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยนำเข้าในการกำหนดยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ จึงร่วมกับทาง SDG Move ในการดำเนินการดังกล่าว

ทาง SDG Move เสนอให้มีการใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นกรอบในการดำเนินการและประยุกต์ใช้เทคนิค Foresight เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ในการกำหนดประเด็นสำคัญระดับภาค เสนอภาพอนาคตที่ต้องการ และทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ในการบรรลุภาพอนาคตนั้น ซึ่งในเชิงเทคนิค “Foresight” นั้น เราได้รับเกียรติจาก ดร.ธันยพร สุนทรธรรม จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาเป็นผู้เชี่ยวชาญและร่วมออกแบบกระบวนการ

โครงการนี้มี 4 ขั้นตอนหลักในการดำเนินงาน

1. Horizon Scanning – เราทำการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิทั้งจากข้อมูลสถิติภาครัฐ รายงานและแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นภาพว่า ในระดับชาติและระดับภาคนั้น มีสถานการณ์เป็นอย่างไร และมีประเด็นอะไรที่น่าจะมีความสำคัญบ้าง โดยประเด็นนั้นจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ประเด็นด้านสังคม (ครอบคลุมเป้าหมาย SDGs ในกลุ่ม People และ Peace) ประเด็นด้านเศรษฐกิจ (ครอบคลุมเป้าหมาย SDGs ในกลุ่ม Prosperity) และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (ครอบคลุมเป้าหมาย SDGs ในกลุ่ม Planet) ข้อมูลแต่ละประเด็นจะถูกสรุปเป็นข้อมูลยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 (One-page report)

2. Scoping Down – หลังจากที่แต่ละภาคได้ประเด็นสำคัญจำแนกตาม 3 กลุ่มประเด็นแล้ว (โดยรวม ๆ แต่ละภาคจะมีประเด็นทั้งหมดประมาณ 20-30 ประเด็น) เราประยุกต์ใช้กระบวนการ Delphi Method กับผู้เชี่ยวชาญเชิงประเด็นในระดับภาค ซึ่งโดยรวมเป็นหน่วยงานภาครัฐประมาณครึ่งหนึ่งและนอกภาครัฐ (เอกชน ประชาสังคม ชุมชน นักวิชาการ) อีกประมาณครึ่งหนึ่ง

Delphi method นี้เป็นกระบวนการของการทำแบบสอบถามหลายครั้งต่อเนื่องกันเพื่อจำลองกระบวนการสนทนาในการประชุมแต่จะเป็นการสนทนาผ่านความเห็นจากแบบสอบถาม และผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะไม่มีอิทธิพลต่อกัน

ขั้นตอนนี้มีการทำแบบสอบถาม 2 รอบ โดยรอบแรกเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อมูลใน One-page reports และรอบสองให้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คะแนน (1-10) เกี่ยวกับความรุนแรง ผลกระทบ และประสิทธิผลเชิงนโยบายภาครัฐ จากนั้นจะนำคะแนนที่ผู้เชี่ยวชาญให้มาคำนวณ โดยนำคะแนนความรุนแรง + ผลกระทบ – ประสิทธิผลเชิงนโยบาย (วิธีการคำนวณเสนอโดย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด) เพื่อให้ทราบว่า ประเด็นใดมีความสำคัญมากน้อยกว่ากันในแต่ละกลุ่มประเด็น (สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม)

3. Regional Foresight Workshop – ทีมภาคจะนำผลจากขั้นตอนที่ 2 มาพิจารณาและเลือก 3-5 ประเด็น มาออกแบบเป็นประเด็นพูดคุยใน Regional Foresight Workshop โดยกระบวนการใน Workshop จะใช้เทคนิค Backcasting เพื่อชวนผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วนราว 30-40 คน ร่วมกันทำความเข้าใจสถานการณ์ มองไปยังอนาคตที่อยากเห็น และเสนอทิศทางเชิงยุทธศาสตร์

4. Gap Analysis – ทีมภาคและทีม SDG Move ช่วยกันนำผลจากขั้นตอนที่ 3 มาพิจารณาเทียบกับข้อมูลงานวิจัยในปัจจุบันว่า ยังมีช่องว่างการวิจัยอะไรอยู่อีกบ้าง และเสนอเป็นประเด็นวิจัยที่ควรอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การวิจัยของประเทศ

ตลอดกระบวนการมีผู้เข้าร่วมกว่า 1000 คนจากทั่วประเทศ จากหลากหลายภาคส่วน

ขั้นตอนหลังจากนี้มีสองส่วน ส่วนแรกคือ สกสว. นำข้อค้นพบไปใช้ในการวางแผนเชิงนโยบายต่อไป ส่วนประการที่สองนั้น โครงการ Area-needs ยังสำรวจความเป็นไปได้ของการสร้างเครือข่ายเชิงประเด็นระดับภาคของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการนำข้อค้นพบไปใช้และกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายที่จะสร้างและใช้ความรู้ในการจัดการกับความท้าทายตามประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป

ข้อดีของกระบวนการที่ออกแบบมานั้น คือ การทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง บนฐานของข้อมูลที่มองไปในอนาคต แต่ข้อจำกัดก็คือ ประเด็นที่มีจำนวนมากทั้งใน SDGs และประเด็นในระดับภาค ซึ่งอาจทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความเหนื่อยล้าจากการตอบแบบสอบถามหรือเข้าร่วมใน workshop ได้

ส่วนที่น่าจะสามารถในไปประยุกต์ใช้ได้กับประเด็นอื่น กระทรวงอื่น หรือกระทั่งประเทศอื่น ก็คือ 3 ขั้นตอนแรกดังที่กล่าวไปข้างต้น ขั้นตอนดังกล่าวทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางแต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยู่บนข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ ส่วนประเด็นนั้นสามารถปรับได้ตามความเหมาะสม

| การตอบรับจากคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการสะท้อนว่า โครงการนี้แตกต่างจากโครงการอื่นที่เน้นไปที่ระดับท้องถิ่น แต่นี่เป็นโครงการระดับชาติที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมให้กับภาคส่วนที่หลากหลายได้มีการพูดคุยกันและหาเป้าหมายร่วมกันอีกด้วย โดยเฉพาะคนในระดับท้องถิ่นที่เสียงอาจจะไม่ค่อยดังมากนัก ซึ่งสะท้อนหลักการสำคัญของ SDGs คือการพัฒนาที่ครอบคลุม (inclusive development) นั่นเอง

คณะกรรมการยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การดำเนินโครงการนี้ต้องอาศัยข้อมูลสถิติอย่างมากเป็นแน่ ซึ่งความท้าทายในด้านการขาดข้อมูลที่สมบูรณ์น่าจะเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินการและการนำกระบวนการนี้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น การใช้ข้อมูลที่มากกว่าข้อมูลทางการ เช่น ข้อมูลจากภาคเอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคมจะเป็นสิ่งจำเป็นและช่วยเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไป

นอกจากนี้ในช่วง panel discussion พิธีกรได้ถามเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้การดำเนินการโครงการนี้เกิดขึ้นได้และได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สกสว. อีกด้วย

คำตอบคือ ปัจจัยที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นและภาครัฐอย่าง สกสว. นำข้อมูลไปใช้ต่อเกิดจากสองปัจจัยสำคัญ คือ ทุนทางสังคม (Social capital) ทั้งที่ สกสว. มีกับ SDG Move และ ที่ สกสว. มีต่อเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศ ทุนทางสังคมชุดแรกมีผลทำให้การแลกเปลี่ยนความคิดและร่วมออกแบบโครงการเป็นไปได้สะดวก นอกจากนี้ สกสว. ยังมีความเข้าใจใน SDGs ร่วมกับ SDG Move จากการทำงาน SDGs ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยยังเป็น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยอีกด้วย ส่วนทุนทางสังคมชุดหลังทำให้การทำงานระดับพื้นที่เป็นไปได้ง่ายขึ้นและทำให้ SDG Move สามารถเข้าถึงคณาจารย์และนักวิจัยศักยภาพสูง อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การร่วมกันออกแบบโครงการ (Co-design) โครงการนี้ผ่านการปรึกษาหารือระหว่าง SDG Move สกสว. และทีมภาคพอสมควรจนได้ภาพโครงการที่ตอบสนองความต้องการเชิงนโยบายและเป็นไปได้ในระดับพื้นที่

| สาระสำคัญของปาฐกถาของ Professor Jeffrey Sachs

Professor Jeffrey Sachs ผู้ก่อตั้งและประธานเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN)
ที่มา : globalsolutionsforum.org/

ในตอนท้าย Professor Jeffrey Sachs ผู้ก่อตั้งและประธานเครือข่าย SDSN ได้กล่าวปาฐกถา มีเนื้อหาสำคัญ 3 ประเด็น

ประเด็นแรก เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายและต้องการการแก้ไขปัญหาแบบใหม่ ปัญหาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก ต้องสร้างสมดุลระหว่างระบบอันซับซ้อนหลายระบบที่ปฏิสัมพันธ์กัน (ระบบสังคม ระบบเศรษฐกิจ ระบบนิเวศของโลก และระบบการบริหารจัดการในทุกระดับ) ซึ่งปัญหาเหล่านี้คนรุ่นก่อนไม่ได้จัดการกับปัญหาเหล่านี้

ส่วนนี้เองคือส่วนที่ Professor Sachs กล่าวถึงโครงการของประเทศไทย และกล่าวว่าการใช้และเผยแพร่เทคนิคอย่าง Foresight รวมไปถึงเครื่องมืออื่น ๆ เช่น Design Thinking มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะมองไปข้างหน้าแบบมีความหวังและมีข้อมูล และออกแบบทางแก้ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้

ประการที่สอง เรากำลังเผชิญความท้าทายที่เป็นองค์รวม ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 6 ประเด็นตาม Six Transformations (Sachs และคณะ 2019) ประกอบด้วย (1) ประเด็นด้านการศึกษา เพศสภาพและความเหลื่อมล้ำ (2) ประเด็นสุขภาพ สุขภาวะและประชากรศาสตร์ (3) ประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน (4) ประเด็นระบบอาหาร เชื่อมโยงกับที่ดิน น้ำและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน (5) ประเด็นเมืองและชุมชนยั่งยืน และ (6) ประเด็นการปฏิวัติด้านดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การขับเคลื่อน SDGs โดยมองเป็นองค์รวมตามแนวข้างต้นจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการบรรลุ SDGs เพราะประเด็นต่าง ๆ อาจมีการเสริมกันหรือขัดกันได้ ซึ่งหากมีการขัดกันต้องคำนึงถึงหลักการพัฒนาที่ครอบคลุมและหลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

ประการสุดท้าย เราต้องทำให้การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Target 4.7) กลายเป็นการศึกษาของคนส่วนใหญ่ ซึ่งนี่หมายรวมถึงการศึกษาที่ผนวกเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองโลก และการศึกษาที่เกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้านต่าง ๆ เข้าไปในหลักสูตร และเสริมทักษะและเครื่องมือที่จำเป็นต่อการออกแบบและแก้ไขปัญหา เช่น Design Thinking, Foresight และเครื่องมืออื่น ๆ เข้าไปในระบบการศึกษาด้วย

● อ่านเพิ่มเติม - SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา

| Reflections จากการเข้าร่วมงาน Global Solutions Forum

การที่งานที่ SDG Move ได้ริเริ่ม ออกแบบ และทำงานร่วมกับเครือข่ายวิชาการอย่างงาน Area Needs ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอในงาน Global Solutions Forum นั้นทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้นในทิศทางการทำงานของ SDG Move และ SDSN Thailand มาถูกทางแล้ว ซึ่งเป็นกำลังใจให้กับ SDG Move และทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ความมั่นใจยิ่งถูกตอกย้ำด้วยการที่ Professor Sachs กล่าวถึงโครงการของเราว่ามีความสำคัญและสอดคล้องกับแนวคิดของเขาด้วย

กิจกรรมลักษณะนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจจัดให้เกิดขึ้นใน SDSN Thailand ในรูปแบบของ National Solutions Forum เพื่อส่งต่อไปยัง Global Solutions Forum อีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการกระตุ้นความกระตือรือร้นของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน SDGs ต่อไป


Last Updated on มกราคม 24, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น