FAO กับจีนลงนามความร่วมมือใต้ – ใต้ เฟสที่ 3 ช่วยประเทศกำลังพัฒนาเปลี่ยนระบบเกษตร-อาหารสู่ความยั่งยืน

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ส่งเสริมการพัฒนาชนบท การพัฒนาด้านเกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ ตลอดจนการลดความยากจน ผ่านการผสานช่องทางความร่วมมือใต้ – ใต้และความร่วมมือไตรภาคีเข้ากับการดำเนินงานขององค์กรมาเป็นระยะเวลามากกว่า 20 ปี เพื่อขยายการพัฒนาไปยังประเทศกำลังพัฒนา รวมเป็นเงินลงทุนในโครงการและกิจกรรมความร่วมมือใต้ – ใต้และความร่วมมือไตรภาคี ราว 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ล่าสุดในเดือนมกราคม 2565 FAO ได้ลงนามข้อตกลงใน FAO-China South-South Cooperation (SSC) Phase III กับรัฐบาลจีน โดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีน หลังจากที่จีนประกาศให้เงินสนับสนุนโครงการความร่วมมือดังกล่าวอีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากจีนดำเนินตามยุทธศาสตร์การพื้นฟูชนบท (rural revitalization strategy) ของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเกษตรกรรมและพื้นที่ชนบทเป็นสำคัญ โดยความตั้งใจของจีนได้สอดคล้องกับภารกิจงานของ FAO ในด้านความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศสมาชิกด้วย

โดยข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถเปลี่ยนแปลงจากฐานรากเพื่อบรรลุการมีระบบเกษตร-อาหาร (agri-food) ที่ยั่งยืน เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยเฉพาะเป้าหมาย #SDG1 ยุติความยากจน และ #SDG2 ยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน ผ่าน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. การผลิตและผลิตภาพทางเกษตรกรรม
  2. ห่วงโซ่คุณค่าและการค้า
  3. เกษตรกรรมในเขตร้อนและพื้นที่แห้งแล้ง
  4. การสร้างภูมิต้านทานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (resilience)
  5. การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน และ
  6. ธรรมาภิบาลระดับโลกและเกษตรกรรมดั้งเดิม

นอกจาก 6 ประเด็นหลักข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นอื่นที่ FAO และจีนมุ่งเน้นด้วยเช่นกัน เช่น การสูญเสียอาหาร (food loss) และขยะอาหาร (food waste) นวัตกรรม และเกษตรกรรมดิจิทัล เป็นต้น

ทั้งนี้ ความร่วมมือใต้ – ใต้ Phase I ระหว่าง FAO กับจีน เริ่มต้นเมื่อปี 2553 ที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างจีนกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ โดยเฉพาะการดำเนินการที่สอดรับกับลำดับความสำคัญและความต้องการด้านการพัฒนาเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหารของประเทศกำลังพัฒนานั้น ๆ และดำเนินการเรื่อยมาจนถึง Phase II ในปี 2558 ตามความร่วมมือนี้ FAO และจีน สามารถสนับสนุนโครงการในระดับชาติ ภูมิภาค ข้ามภูมิภาค และระดับโลกรวมกันราว 25 โครงการได้สำเร็จ รวมทั้งสามารถดำเนินกิจกรรมมากกว่า 50 กิจกรรมในมากกว่า 100 ประเทศ ที่เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค เกษตรกรรายย่อยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วม

ความร่วมมือใต้ – ใต้ (South-South cooperation) หมายถึง กรอบความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศซีกโลกใต้หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และทางเทคนิค โดยที่มีการแลกเปลี่ยน อาทิ ความรู้ ทักษะ ความสามารถ เทคโนโลยีและทรัพยากร และสามารถเป็นความร่วมมือในรูปแบบทวีภาคี ภูมิภาค หรือข้ามภูมิภาค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนา
ความร่วมมือไตรภาคี (Triangular cooperation) หมายถึง ความร่วมมือในลักษณะของประเทศผู้บริจาคและองค์กรพหุภาคีที่จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกตามโครงการความร่วมมือใต้ – ใต้ ผ่านการให้เงินทุน การอบรม การบริหารจัดการ ระบบเทคโนโลยี และความสนับสนุนอื่น

โดยเป้าหมายของความร่วมมือในลักษณะนี้ มีอาทิ การส่งเสริมขีดความสามารถและสนับสนุนให้ประเทศกำลังพัฒนาพึ่งพาตนเองได้ มีวิธีและเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนา ตลอดจนเสริมสร้างการสื่อสารระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและความร่วมมือของการพัฒนาระหว่างประเทศ

*ข้อมูลจากสำนักงานสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (United Nations Office for South-South Cooperation – UNOSSC)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.a) สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งที่หลากหลาย รวมไปถึงการยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และเพื่อการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ
#SDG2 ยุติความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
– (2.3) เพิ่มความสามารถในการผลิตทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็กโดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรและปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกพื้นที่การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อย่างปลอดภัยและเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตร ที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มความสามารถในการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี 2573
– (2.a) เพิ่มการลงทุนตลอดจนการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การวิจัยเกษตรและการขยายการบริการ การพัฒนาเทคโนโลยี และการทำธนาคารพันธุกรรมของพืชและสัตว์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี

แหล่งที่มา:
South-South Cooperation: FAO signs key agreement with Chinese Government (FAO)

South-South and Triangular Cooperation Guidelines for Action (FAO)
About South-South and Triangular Cooperation (UNOSSC)

Last Updated on มกราคม 24, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น