องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปิดศูนย์กักกันและบำบัดการใช้ยาเสพติดแบบบังคับ (compulsory drug detention and rehabilitation centres) ที่ใช้เพื่อควบคุมตัวผู้ติดยาเสพติด ผู้ต้องสงสัยว่ามีการใช้ยาเสพจิต เหยื่อของการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และอดีตผู้ค้าบริการทางเพศ
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 ที่ผ่านมา โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UNAIDS Asia Pacific) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ร่วมเปิดตัวเอกสารเผยแพร่ (booklet) ในหัวข้อ “Compulsory drug treatment & rehabilitation in East & Southeast Asia” รายงานความก้าวหน้าและตัวอย่างกรณีในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่านจากการเข้าสถานบำบัดสำหรับผู้ใช้ยาเสพติดแบบบังคับมาเป็นให้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาผู้ใช้ยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (community-based treatment: CBTX) แทน โดยสหประชาชาติสนับสนุนแนวทางการบำบัดรักษาผู้ป่วยใช้ยาเสพติดแบบบูรณาการนี้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าการเข้าศูนย์กักกันและบำบัดผู้ติดยาเสพติดแบบบังคับนั้นจะมีประโยชน์ในแง่ของสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยหรือมีประสิทธิภาพในการรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และไม่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3 การสร้างหลักประกันการมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน รวมถึงยังอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนมากขึ้น
ข้อมูลเมื่อสิ้นสุดปี 2018 ระบุว่ามีศูนย์กักกันและบำบัดผู้ใช้ยาเสพติดแบบบังคับเข้าอย่างน้อย 886 แห่งในประเทศกัมพูชา จีน ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม องค์การสหประชาชาติระบุว่า ในแต่ละปี มีผู้คนจำนวน 440,000 ถึง 500,000 คนถูกควบคุมตัวในศูนย์เหล่านี้
ในงานนี้นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN resident coordinator in Thailand) กล่าวว่า “ในการประเมินของเรา มีความก้าวหน้าน้อยมากตั้งแต่แถลงการณ์ร่วมของสหประชาชาติครั้งแรกที่เรียกร้องให้ปิดศูนย์ภาคบังคับเหล่านี้เมื่อสิบปีก่อน” อย่างไรก็ตาม ยังได้ชมเชยประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าในเชิงบวก และเผยให้เห็นถึงศักยภาพในการบุกเบิกการเปลี่ยนจากการลงโทษผู้ใช้ยาเสพติดอย่างรุนแรงหรือการบังคับบำบัดไปสู่การเข้าร่วมการบำบัดโดยมีส่วนร่วมของชุมชนโดยสมัครใจของผู้ติดยาเสพติดเอง ที่นำโดยกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
- (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
- (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ที่มา:
UN advocates drug crimes downgrades (Bangkok Post)
Compulsory Treatment and Rehabilitation in East and Southeast Asia (United Nations Thailand)