รายงานจาก Climate Bonds Initiative วิเคราะห์โอกาสการเติบโตของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในไทย

องค์กร Climate Bonds Initiative (CBI) เผยแพร่รายงาน ‘Green Infrastructure Investment Opportunities Thailand’ หรือ Thai GIIO ที่จัดทำร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้กระทรวงการคลัง วิเคราะห์ทางเลือกด้านการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำที่สำคัญในประเทศ

รายงานนำเสนอโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure) หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 17 โครงการของประเทศไทยทั้งด้านพลังงานหมุนเวียน การขนส่งคาร์บอนต่ำ โครงสร้างพื้นฐานน้ำและการจัดการน้ำ และอีกเกือบ 40 โครงการที่อยู่ในแผน (pipeline projects) ในภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ การขนส่งคาร์บอนต่ำ พลังงานหมุนเวียน และการจัดการน้ำและของเสียอย่างยั่งยืน เพื่อชี้ให้เห็นโอกาสในการลงทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เติบโตขึ้นภายในประเทศ

จากรายงานฉบับนี้ ซึ่งนำโดย Climate Bonds Initiative องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อเพิ่มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้สำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเมินว่าไทยมีศักยภาพสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 31,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งเสริมนโยบายที่เอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green investments) อย่างเช่น โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และการตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2065 ของรัฐบาลไทย

รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านโอกาสการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สูงขึ้น และเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่คิดถึงสิ่งแวดล้อม (green recovery) หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ด้วยการกระตุ้นการมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าของโครงการ นักพัฒนา และนักการเงินในการลงทุนสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รายงาน Thai GIIO ฉบับนี้ ครอบคลุมเนื้อหาหลักที่สำคัญ ได้แก่

  • สถานะของประเทศไทยมีอนาคตที่ดีในการระดมเงินทุนจากตลาดทุนเพื่อลดช่องว่างทางการเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว
  • การพัฒนาทางเลือกทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้างในประเทศไทย
  • การประเมินแนวโน้มปัจจุบันและการสนับสนุนด้านนโยบายสำหรับตราสารหนี้สีเขียว (green bonds) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (social bonds) และตราสารหนี้ความยั่งยืน (sustainability bonds) ในประเทศ และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability-labelled bonds: SLB) จากฉากหลังเศรษฐกิจระดับโลก
  • ศักยภาพในการใช้ตราสารหนี้การเปลี่ยนผ่าน (transition bonds) เพื่อวัตถุประสงค์ในการระดมทุนโครงการลดการปล่อยคาร์บอนของภาคส่วนที่ยากต่อการลด และ
  • บทบาทของการเป็นที่ซื้อขายหลักทรัพย์และภาคการธนาคารในการส่งเสริมกรอบการกำกับดูแลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน
- (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ยั่งยืนและมีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ

ที่มา : Thailand: Green Infrastructure Investment Opportunities for Green Bonds, Loans & Sukuk Climate Bonds continues its series on sustainable investment opportunities across the globe (Climate Bonds Initiative)

Last Updated on มกราคม 31, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น