รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอินเดียกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 กุมภาพันธ์ 2565) ว่า อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันและถ่านหินรายใหญ่ของโลก วางแผนปรับตัวเป็นศูนย์ผลิตและส่งออก “พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว” (green hydrogen) ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกที่กำลังเป็นที่พูดถึงในขณะนี้ โดยตั้งเป้าหมายการผลิตที่ 5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 หรือครึ่งหนึ่งของเป้าหมายการผลิตของสหภาพยุโรปที่ 10 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573
การหันมาพัฒนาการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวของอินเดียถือเป็น “นโยบายระดับชาติ” โดยนอกจากการส่งออกแล้ว อินเดียหวังให้เป็นนโยบายช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและลดการนำเข้าน้ำมันดิบ และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศด้วย
โดยข้อมูลส่วนแรกของแผนที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น อินเดียสะท้อนว่า จะดำเนินการสร้าง “แรงจูงใจการผลิต” ที่จะเอื้อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวลงได้ เพราะแรงจูงใจการผลิตเป็นก้าวสำคัญของการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง รายละเอียดข้อสำคัญ มีอาทิ
- จัดแบ่งพื้นที่สำหรับการผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวไว้โดยเฉพาะ
- ในช่วงแรกเริ่มโครงการ จะยกเว้นค่าส่งกำลังไฟฟ้า (ที่ได้จากพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว) ระหว่างรัฐกับรัฐในอินเดีย เป็นระยะเวลา 25 ปีหรือก่อนช่วงกลางปี 2568
- ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อโครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนียไปยังผู้บริโภค (electric grids) เป็นอันดับแรก นอกจากนั้น ผู้ผลิตพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย จะได้รับอนุญาตให้สามารถติดตั้งบังเกอร์เพื่อเก็บคลังพลังงานสำหรับการส่งออกในบริเวณท่าด่าน
- ส่วนลำดับต่อไป รัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาอุดหนุนให้โรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปุ๋ยหันมาสนับสนุนใช้พลังงานจากไฮโดรเจนสีเขียว
ทั้งนี้ ในประเด็นกระบวนการผลิตและพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวนั้น หลายประเทศมองว่ามีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงและเป็นอีกพลังงานทางเลือกหนึ่งจากพลังงานฟอสซิลแต่เดิม โดยเฉพาะเป็นเส้นทางใหม่ของกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ สู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonization)
● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– ArcelorMittal ผู้ผลิตเหล็กชั้นนำ จะเริ่มผลิตเหล็กในสเปนที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์เป็นที่แรกของโลกภายในปี 2568
– Enel Green Power บริษัทพลังงานชั้นนำระดับโลก จะเริ่มใช้ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ในการผลิตเซรามิคจากแคว้นบาเลนเซียของสเปนเป็นครั้งแรก
– อีกหนึ่งก้าวที่บริษัทเดินหน้าสู่ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ เมื่อบริษัทเดนมาร์ก ลงนาม MOU กับบริษัทเกาหลีใต้ ศึกษา-ผลิตพลังงานสะอาดในเมืองอินชอน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสมัยใหม่
-(7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แหล่งที่มา:
India plans to produce 5 mln tonnes of green hydrogen by 2030 (Reuters)
India Unveils Hydrogen Plan to Speed Shift From Fossil Fuels (Bloomberg)
#SDGWatch #IHPP