แม่น้ำกว่า 200 สายทั่วโลกปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ยา หลายสายมีระดับเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ความเข้มข้นของการปนเปื้อนผลิตภัณฑ์ยาในแม่น้ำกว่าสองร้อยสายทั่วโลก กินวงกว้างและอยู่ในระดับจะเป็นอันตรายต่อทั้งสุขภาพมนุษย์และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อม อันเป็นผลมาจากการปล่อยน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

การศึกษา ‘Pharmaceutical pollution of the world’s rivers’ จากทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยยอร์กในสหราชอาณาจักร ตรวจสอบคุณภาพแม่น้ำโดยใช้ตัวอย่างน้ำจาก 1,052 จุด ที่เก็บจากแม่น้ำทั้งหมด 258 สาย ใน 104 ประเทศ พบว่า มีแม่น้ำเพียงสองสายเท่านั้นที่ไม่พบมลพิษจากผลิตภัณฑ์ยา นั่นคือในไอซ์แลนด์และที่ใกล้กับหมู่บ้านชนบทที่ผู้อาศัยไม่ใช้ยาแผนปัจจุบันในเวเนซูเอลา แม้กระทั่งในแอนตาร์กติกา ในขณะที่แม่น้ำอีกหลายสายมีการปนเปื้อนสูงกว่าระดับที่ปลอดภัย

ภาพรวมผลการตรวจสอบ พบว่า จุดที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดคือแหล่งน้ำที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และอยู่ในพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำเสียและของเสียที่ไม่ดี หรือใกล้กับฐานการผลิตยา โดยแม่น้ำที่พบความเข้มข้นของมลพิษจากยาสูงที่สุดคือ ที่เมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน ประเทศลาปาซ ประเทศโบลิเวีย เมืองแอดดิสอาบาบา ประเทศเอธิโอเปีย และตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำไคตั๊ก ในฮ่องกง พบการปนเปื้อนจากผลิตภัณฑ์ยาสูงถึง 34 ชนิด

ยาที่พบมากในตัวอย่างจากน้ำ คือ ยารักษาโรคเบาหวาน โรคลมชัก ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาแก้แพ้ ยาชา และโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ซึ่งนักวิจัยกังวลว่าจะนำมาสู่การพัฒนาการของแบคทีเรียให้มีความสามารถในการดื้อยาชนิดนั้นได้ และการพบยาคุมกำเนิดในแม่น้ำ อาจส่งผลให้ปลาบางชนิดไม่สามารถขยายพันธุ์ได้

รายงานการวิจัยระบุว่า ทางออกของปัญหานี้คือการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสีย และเมื่ออ้างอิงจากตัวเลขของธนาคารโลก พบว่าน้ำเสียประมาณ 80% ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ได้รับการบำบัด

| อ่านเพิ่มเติม – ยาวิพากษ์ จดหมายข่าวศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังระบบยา

ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ในตัวชี้วัด 3.d.2 ลดสัดส่วนการติดเชื้อดื้อยาในกระแสเลือด
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
- (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2573

ที่มา : Pharmaceuticals are present in almost all the world’s rivers, study finds (World Economic Forum)

Last Updated on กุมภาพันธ์ 24, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น