เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกรุยทางเดินระยะยาวให้เรามีทิศทางขจัดปัญหาคลาสสิคของโลกอย่างความยากจน ความหิวโหย ความเหลื่อมล้ำ ที่อยู่อาศัย และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความยุติธรรม แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “อาวุธ” เป็นเรื่องที่แอบซ่อนไว้ในการขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ว่าในกรณีใด ย่อมกระทบและเป็นอุปสรรคต่อความคืบหน้าของการพัฒนา โดยเฉพาะ “ความอยู่ดีและผาสุก” ของประชาชน อย่างน้อยที่สุดคือระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวจากการใช้ปืนพก ไปจนถึงความรุนแรงที่มาจากการใช้อาวุธตามแบบ (conventional weapons) ในการสู้รบขนาดใหญ่ขึ้น
ในสถานการณ์โลกที่คับขันอย่างที่เป็นนี้ SDG Updates ฉบับนี้ ชวนสำรวจความสัมพันธ์ฉบับรวบรัดของประเด็น “การลดอาวุธ” (disarmament) และ “การควบคุมอาวุธ” (arms control) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อช่วยทำความเข้าใจอีกมิติสันติภาพและความมั่นคงที่คู่ขนานไปกับประเด็นการพัฒนาอื่นของ SDGs และเพื่อช่วยเราทำความเข้าใจว่าความล้มเหลวที่จะลดอาวุธและควบคุมอาวุธ หรือล้มเหลวที่จะ “ป้องกัน” ไม่ให้อาวุธถูกนำไปใช้เพื่อก่อความรุนแรง อาชญากรรม และการก่อการร้ายนั้น เท่ากับว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สันติภาพและความมั่นคง สุขภาวะและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนกำลังถูกสั่นคลอน
การลดอาวุธ การควบคุมอาวุธ และการพัฒนา มีความเชื่อมโยงกันมาเสมอ ตามที่ระบุไว้ในมาตราที่ 26 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ที่ตระหนักว่าการลดอาวุธเป็น “เงื่อนไขอันดับต้น” ในการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาให้ยั่งยืน “เพื่อที่จะส่งเสริมการสถาปนา และการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยการนำเอาทรัพยากรทางมนุษยชนและทางเศรษฐกิจของโลกมาใช้เพื่อเป็นกำลังอาวุธให้น้อยที่สุด” ทั้งนี้ “การสะสมอาวุธ” ยังเป็นเชื้อเติมไฟให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างกัน และเป็นภาพสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงซึ่งจะนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่จำเป็น โดยกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนที่การพัฒนาที่ยั่งยืนพยายามจะบ่มเพาะและสร้างสมขึ้นมา ความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นเป็นความรุนแรงที่ใช้อาวุธและระเบิด ยังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน เมืองและที่อยู่อาศัย ความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ เศรษฐกิจย่ำแย่และเกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคม ทำให้พลเมืองบาดเจ็บล้มตาย สูญเสียความเป็นอยู่จนถึงกลายเป็นคนพลัดถิ่นและ/หรือผู้ลี้ภัย
.
การนำมาซึ่งความสงบสุขตาม #SDG16 จากมุมการลดอาวุธและการควบคุมอาวุธ
“การปกป้องพลเรือน” จากผลกระทบของการใช้อาวุธ คือใจกลางของงานด้านการลดอาวุธและการควบคุมอาวุธ มาตรการที่ใช้ห้ามและจำกัดการแพร่ขยายอาวุธบางประเภทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในด้านมนุษยธรรม เพราะเกี่ยวข้องกับการลดอัตราการเสียชีวิตและการลดความรุนแรงที่ใช้อาวุธ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง ที่ #SDG16 เป้าหมายย่อยที่ 16.1 ระบุเอาไว้ “ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ”
โดยกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาวุธและการลดอาวุธที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “การเสริมความแข็งแกร่งและขีดความสามารถของบรรดารัฐต่าง ๆ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ” ตาม #SDG16 เป้าหมายย่อยที่ 16.a จะสามารถ “ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธ” (illicit arms flows) ตาม #SDG16 เป้าหมายย่อยที่ 16.4 หรือ “ป้องกัน” การนำอาวุธไปใช้เป็นเครื่องมือในการก่อเหตุความรุนแรง อาชญากรรม และการก่อการร้ายได้ จึงกล่าวได้ว่า การควบคุมอาวุธผ่านทางการลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธ หมายรวมถึงอาวุธเล็กและอาวุธเบา (small arms and light weapons) มีส่วนช่วยส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวม
ส่วนในด้านการมีข้อมูลและความโปร่งใสของข้อมูลที่เกี่ยวกับอาวุธ อาทิ ข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณทหาร ข้อมูลการนำเข้าและส่งออกอาวุธ ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่สะท้อน “ความโปร่งใส ความมีประสิทธิผล และความพร้อมรับผิดรับชอบของสถาบันรัฐ” ตาม #SDG16 เป้าหมายย่อยที่ 16.6 โดยความโปร่งใสของข้อมูลที่ชี้ถึงศักยภาพทางการทหารของรัฐนั้นเองเป็นปัจจัยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐ ที่สำคัญต่อ “การร่วมกัน” ลดอาวุธและควบคุมอาวุธด้วยในทางหนึ่ง
นอกจากนี้ ในระดับการเมืองระหว่างประเทศ การที่นานาประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในเวทีพหุภาคีหรือใน “สถาบันของโลกาภิบาล” (global governance) ว่าด้วยการขับเคลื่อนการลดอาวุธ ยังจะส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ทางนโยบายที่ครอบคลุมทุกประเทศ อันเป็นผลประโยชน์ด้านสันติภาพและความมั่นคงสำหรับทุกคนอย่างยั่งยืน ตาม #SDG16 เป้าหมายย่อยที่ 16.8 ด้วย
| ปัญหาภายในประเด็น “การลักลอบการเคลื่อนย้ายอาวุธ” |
ข้อมูลเผยแพร่ใน Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ในปี 2561 ระบุว่า เฉพาะในประเด็นอาวุธที่กำหนดใน SDGs นี้เองมีความท้าทายอยู่ 2 – 3 ประการ ประการแรก หลายประเทศทั้งประเทศที่ส่งออกอาวุธและที่นำเข้าอาวุธยังคงมีข้อถกเถียงในการ “ตีความ” ว่าการลักลอบการเคลื่อนย้ายอาวุธ (illicit arms flows) หมายถึงการกระทำเช่นใด จากเหตุที่อาจมีผลประโยชน์จากการซื้อขายอาวุธไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประการที่สอง เมื่อพูดถึงการลักลอบการเคลื่อนย้ายอาวุธย่อมเกี่ยวพันกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่จัดการกับอาวุธตามแต่ละประเภทและลักษณะโดยไม่ได้ระบุนิยามที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้เกิดข้อคำถามถึงการพัฒนาฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายย่อยที่ 16.4 กระนั้น UN ได้นิยามความหมายของอาวุธที่ต่างประเภทกันไว้ อาทิ อาวุธตามแบบ (conventional arms) และอาวุธเล็ก (small arms) ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเก็บข้อมูลระดับชาติ* และประการที่สาม ต้องยอมรับว่าการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธนั้น เป็นความท้าทายอย่างยิ่งในตัวเอง เพราะเกี่ยวพันกับกิจกรรมที่มักเป็นการปกปิดไว้ทำให้ยากต่อการประเมินอย่างตรงไปตรงมา
*โดยหากยึดตามข้อมูล SDG Indicator Metadata ที่อัพเดทล่าสุดในปี 2561 “arms” ที่ระบุในตัวชี้วัด 16.4.2 หมายถึงอาวุธประเภท “อาวุธเล็กและอาวุธเบา” แต่เพียงเท่านั้น
.
การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธเกี่ยวข้องกับ SDGs ข้ออื่น ๆ อย่างไร?
- #SDG3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี – ความรุนแรงที่ใช้อาวุธหรือการสู้รบกันด้วยอาวุธ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธประเภทใด เป็นสาเหตุของการตายก่อนวัยอันควร ทำให้ผู้คนบาดเจ็บ พิการ เจ็บไข้จากเชื้อโรค โดยสถานการณ์ที่มีความรุนแรงยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ ในทางกลับกัน การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธสามารถช่วยส่งเสริมความคืบหน้าของการบรรลุการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีได้
- #SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ – การจำกัดการแพร่ขยายอาวุธและการเคลื่อนย้ายอาวุธโดยไม่ได้รับการควบคุม ได้ส่งสัญญาณความไม่ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้สำหรับทุกคน ในทางกลับกัน ความรู้ด้านการลดอาวุธและการควบคุมอาวุธจะช่วยส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมรู้รักสันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี และการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและความอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายจะถูกหล่อหลอมให้เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยยังถูกถ่ายทอดออกไปเป็นความรู้ความเข้าใจที่ติดตัวประชาชน กระทั่งตระหนักรู้และสามารถเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงระหว่างประเทศได้
- #SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง – การใช้อาวุธและผลกระทบจากการใช้อาวุธอาจมีความแตกต่างกันในมุมของเพศสภาพ ขณะที่ผู้ชายและเด็กชายมักเป็นผู้ครอบครองและเป็นผู้ใช้อาวุธ รวมถึงนับเป็นผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากความรุนแรงที่ใช้อาวุธ บ่อยครั้งที่ผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นเหยื่อจากความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ (gender-based violence) ที่มีอาวุธเล็กเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างในกรณีของความรุนแรงในครอบครัวที่มีการใช้ปืน เป็นต้น ดังนั้น มาตรการและนโยบายการลดอาวุธและควบคุมอาวุธจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงประเด็นทางเพศสภาพร่วมด้วย (gender-responsive disarmament and arms control) อาทิ การสร้างความเข้าใจว่าความเป็นผู้ชาย (masculinity) ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับการครอบครองและการใช้อาวุธ ถึงจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะได้ ในขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจลดอาวุธและควบคุมอาวุธ จะนำมาซึ่งนโยบายที่ครอบคลุมประเด็นทางเพศมากยิ่งขึ้น
- #SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า – การแพร่กระจายของอาวุธทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงของการรับเด็กเข้ามาเป็นทหารเด็ก มนุษย์ตกเป็นทาสสมัยใหม่ หรือแรงงานบังคับ อันเป็นผลมาจากการข่มขู่ด้วยอาวุธ นอกจากนี้ข้อมูลการศึกษาของ UN ชี้ว่า การใช้งบประมาณทางการทหารที่มากเกินไปมีผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการจ้างงาน ในทางกลับกัน หากสามารถลดงบประมาณทางการทหารลงได้ ย่อมจะช่วยลดผลกระทบทางลบเหล่านี้ กล่าวคือ ทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณก้อนดังกล่าวเพื่อนำไปใช้กับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้มากยิ่งขึ้น ในแง่นี้ จึงสัมพันธ์กับการช่วยลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศตาม #SDG10 ลงด้วย อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะช่วยให้นานาประเทศลดงบประมาณทางการทหารของตนลงได้ คือจะต้องทำให้มั่นใจว่าเกิดความมั่นคงระหว่างประเทศขึ้น โดยต้องอาศัยเวทีการพูดคุยและหารือกันเพื่อสร้าง “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” (confidence-building)
- #SDG11 เมืองและการตั่งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ยั่งยืน – นอกเหนือจากการโจมตีด้วยอาวุธ ทุ่นระเบิดที่ยังหลงเหลือในบางพื้นที่ หรือการที่พื้นที่หนึ่งมีแก็งค์ที่ใช้อาวุธซึ่งกระทบต่อความเป็นอยู่และปลอดภัยของพลเมืองและโครงสร้างพื้นฐานของเมืองแล้ว ยังมีในกรณีที่ที่ตั้งของคลังแสงอยู่ในบริเวณที่มีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น โดยความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น อาทิ จากระบบความปลอดภัยของคลังแสงที่ไม่แน่นหนา หรือในสถานการณ์อุบัติภัย ย่อมทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้างต่อพลเรือนขึ้นได้
- #SDG14 ทะเลและมหาสมุทร และ #SDG15 ระบบนิเวศบนบกและน้ำจืดบนแผ่นดิน – การปนเปื้อนจากเศษซากของการใช้อาวุธในสงคราม หรือแม้แต่การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมี ย่อมส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธจะช่วยลดผลกระทบจากการใช้อาวุธที่มีต่อสิ่งแวดล้อมลง
- #SDG17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน – ข้อนี้ถือเป็นข้อสำคัญในเชิงการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าของการพัฒนา จากมิติของการลดและการควบคุมอาวุธซึ่งเกี่ยวพันกับการอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศ การระดมทรัพยากรในการสนับสนุนให้สามารถดำเนินการลดและควบคุมอาวุธได้ ไปจนถึงการพัฒนาระบบข้อมูลที่เกี่ยวกับอาวุธ ที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือประกอบนโยบายและการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
จากที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่าประเด็นความมั่นคงและการพัฒนาเป็นสองด้านที่อยู่บนเหรียญเดียวกัน นั่นทำให้สำหรับ SDGs แล้วจึงต้องนับรวมเรื่องการลดอาวุธและการควบคุมอาวุธเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการพัฒนา เพื่อการป้องกันความขัดแย้ง (conflict prevention) และเพื่อการสร้างสันติภาพ (peacebuilding) ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ จะต้องอาศัยหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศทำให้เกิดขึ้นด้วย
● ศึกษาเพิ่มเติม: ข้อตกลงระหว่างประเทศ/สนธิสัญญาที่เกี่ยวกับประเด็นอาวุธและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน:
– Coming Full Circle: Arms Control & Disarmament Relevance to Target 16.4 of SDGs (Non Violence NY)
– Case Study: GOALS NOT GUNS: How the Sustainable Development Goals and the Arms Trade Treaty are Interlinked (ATT Monitor)
– The Arms Trade Treaty and the Sustainable Development Goals (Control Arms)
● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
– สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2564 จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร?
– SDG Updates | ‘สันติภาพ’ แบบไหน ที่จะนำสังคมและเศรษฐกิจให้ฟื้นกลับจากโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน
– เมื่อผู้หญิงทำให้สันติภาพยั่งยืนขึ้น: ‘womenmediators.org’ ครั้งแรกที่คุณสามารถค้นหาผู้หญิงที่มีบทบาทสร้างสันติภาพและความมั่นคง
แหล่งอ้างอิง:
Advancing Disarmament within the 2030 Agenda for Sustainable Development (UN)
How disarmament and arms control contribute to sustainable development (UN Youth 4 Disarmament)
SDG16.4 and the collection of data on illicit arms flows: Progress made but challenges ahead (SIPRI)
Last Updated on กุมภาพันธ์ 26, 2022