สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ารัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศสิงคโปร์ ประกาศจะปรับภาษีคาร์บอนขึ้นอีก 5 เท่าเป็น 25 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 601 บาท) ต่อตันคาร์บอนในปี 2024 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในประมาณปี 2050
สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอน และได้ดำเนินการเก็บภาษีคาร์บอนเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตั้งแต่ปี 2019 และมีแผนที่จะขึ้นภาษีคาร์บอนในอนาคต โดยจะปรับตัวเลขเป็น 45 ดอลลาร์สิงคโปร์ในปี 2026 และ 2027 และขึ้นเป็น 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ถึง 80 ดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปี 2030 อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ภาคธุรกิจจะได้รับอนุญาตให้ซื้อคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศเพื่อชดเชยกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ต้องเสียภาษีได้เป็นสัดส่วนถึง 5%
การเก็บภาษีคาร์บอนของสิงคโปร์ในปัจจุบัน บังคับใช้กับโรงงาน อุตสาหกรรม ธุรกิจทั้งหมดทุกประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 25,000 ตันต่อปีขึ้นไป ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ 30-40 รายในประเทศสิงคโปร์ อาทิ โรงกลั่นน้ำมันและโรงไฟฟ้า ซึ่งปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งหมดของประเทศ
การปรับขึ้นภาษีคาร์บอนนี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนและเข้มแข็งขึ้นจากรัฐบาลที่จะสามารถกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนพัฒนาให้โซลูชั่นเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ให้คำแนะนำการกำหนดราคาขึ้นต่ำของภาษีคาร์บอนสำหรับกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในปี 2030 ไว้ว่าควรจะอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,400 บาท) สำหรับประเทศเศรษฐกิจขั้นสูง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีรายได้สูง เช่น จีน และ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับตลาดเกิดใหม่ที่มีรายได้ต่ำ เช่น อินเดีย เป็นต้น
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ - (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
ที่มา :
Singapore’s carbon tax to rise five-fold in 2024 (Reuters)
Budget 2022: Singapore’s carbon tax could increase to $80 per tonne of emissions by 2030 (The Strait Times)