ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) พบว่า ประเทศอุซเบกิสถานประสบความสำเร็จในการยุติการใช้แรงงานบังคับ (forced labour) และการใช้แรงงานเด็ก (child labour) อย่างเป็นระบบในตลอดวัฏจักรการผลิตฝ้ายในปี 2021 ที่ผ่านมา
ผลจากรายงานการติดตามการเก็บเกี่ยวฝ้ายในอุซเบกิสถาน ‘2021 ILO Third-Party Monitoring Report of the Cotton Harvest in Uzbekistan’ ซึ่งศึกษาผ่านการสัมภาษณ์แรงงานเก็บฝ้ายกว่า 11,000 คน พบว่า ร้อยละ 99 ของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเก็บเกี่ยวฝ้ายในปี 2021 ทำงานด้วยความสมัครใจ และร้อยละ 95 กล่าวว่าพวกเขามีสภาพการทำงานที่ครอบคลุมถึงการขนส่ง อาหาร การเข้าถึงน้ำสะอาด สุขอนามัย และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2020 นอกจากนี้ยังพบว่ามีจำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับในทุกจังหวัดและทุกอำเภอน้อยมากจนถึงไม่มีเลย
● อ่านเพิ่มเติม – SDG Vocab | 25 – Modern Slavery – ทาสสมัยใหม่
อุซเบกิสถานเป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่อันดับหกของโลก หนึ่งในแปดของคนวัยทำงานในอุซเบกิสถานเคยทำงานเก็บเกี่ยวในไร่ฝ้าย ร้อยละ 62 เป็นผู้หญิง และส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ชนบท ในอดีตที่ผ่านมาคนหลายล้านเคยถูกบังคับให้ทำงานในไร่ฝ้าย โดยได้รับค่าจ้างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย จนนำมาซึ่งการปฏิรูปภาคการผลิตฝ้ายในประเทศเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จนี้ช่วยให้เด็กประมาณสองล้านคน และผู้ใหญ่อีกกว่าห้าแสนคนในประเทศอุซเบกิสถานหลุดออกจากวงจรการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงาน
รายงาน ‘2021 ILO Third-Party Monitoring Report of the Cotton Harvest in Uzbekistan’ ฉบับสมบูรณ์ จะเผยแพร่ในวันที่ 29 มีนาคม 2022
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ #SDG8 งานที่มีคุณค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจ - (8.7) ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งรวมถึงการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก และภายในปี พ.ศ. 2568 ยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ #SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง - (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
ที่มา : Uzbek cotton is free from systemic child labour and forced labour (ILO)