สัดส่วน ‘Green Talent’ คนเก่งที่มีทักษะความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้นเกือบ 40% จากปี 2015

รายงาน Global Green Skills Report 2022 โดยเว็บไซต์ Linkedin ให้ข้อมูลว่าสัดส่วนของบุคลากรที่มีความสามารถสูงในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ‘green talent’ ในกำลังแรงงานระดับโลกมีอัตราเพิ่มขึ้น 38.5% จากสัดส่วน 9.6% ในปี 2015 เป็น 13.3% ในปี 2021 แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์อาชีพการงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตขึ้น

Linkedin แพลตฟอร์มเครือข่ายคนทำงานที่ใหญ่ที่ในโลก ให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับทักษะและงานที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (green jobs & green skills) จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านแรงงานทั่วโลกไปสู่อนาคตเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) โดยสังเคราะห์จากโปรไฟล์ด้านอาชีพกว่า 800 ล้านโปรไฟล์บนเครือข่าย พบว่า ตำแหน่ง “งานสีเขียว” ที่เติบโตเร็วที่สุดระหว่างปี 2016 ถึง 2021 ได้แก่ ผู้จัดการด้านความยั่งยืน ช่างเทคนิคกังหันลม ที่ปรึกษาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ นักนิเวศวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม

ในปี 2021 ที่ผ่าน ประมาณ 10% ของประกาศรับสมัครงานบน LinkedIn มีการระบุความต้องการผู้สมัครที่มีทักษะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างน้อยหนึ่งทักษะ แม้กระทั่งในงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคส่วนด้านสิ่งแวดล้อมก็ตาม ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารจัดการยานพาหนะ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้จัดการงานก่อสร้าง และตัวแทนขายและบริการด้านเทคนิค เป็นต้น

ทักษะสีเขียวเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกทุนมนุษย์ที่จะเพิ่มพลังให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเกิดขึ้นได้จริง รายงาน Global Green Skills Report 2022 ได้สรุป 5 เทรนด์ที่ขัดขวางการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมไปสู่เศรฐกิจสีเขียวของกำลังแรงงานทั่วโลก ประกอบด้วย

  1. แนวโน้มของการเพิ่มพูนทักษะสีเขียวแตกต่างกันไปตามระดับรายได้ของประเทศ – ประเทศที่มีรายได้สูง ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงและระดับล่างมีการเติบโตในด้านทักษะสีเขียวที่มีความเฉพาะทางกว่า เช่น แฟชั่นยั่งยืน การใช้พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์​ เป็นต้น ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำยังคงตามหลังในแง่ของความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
  2. ระดับรายได้ของประเทศมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของงานสีเขียว – สัดส่วนของการจ้างงาน green talent ระหว่างปี 2015-2021 เติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศรายได้สูง ตามมาด้วยกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และรายได้น้อย
  3. ช่องว่างระหว่างเพศในงานสีเขียว ยังคงไม่ดีขึ้นนับตั้งแต่แปี 2015 – สัดส่วนระหว่างผู้หญิงและผู้ชายที่ถือว่าเป็นผู้มีทักษะสูงในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ 62:100 ซึ่งคงที่มาตั้งแต่ปี 2015
  4. การเติบโตของ green talent สูงสุดในหมู่คนรุ่นมิลเลนเนียลส์ – ข้อมูลของ Linkedin พบการเติบโตของ green talent ในคนทุกกลุ่มอายุในเกือบทุกประเทศในระหว่างปี 2015-2021 แต่เพิ่มสูงสุดในหมู่คนรุ่นใหม่ นำโดยคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ (เกิดปี 1981-1996)
  5. สัดส่วนของ green talent เพิ่มขึ้นในแรงงานทุกระดับการศึกษา แต่เติบโตเร็วขึ้นในกำลังแรงงานที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ 
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
- (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่จำเป็น รวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพ สำหรับการจ้างงาน การมีงานที่ดี และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
- (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ภายใน ปี 2573
#SDG8 การเติบโตทางเศรษฐกิจและงานที่มีคุณค่า
- (8.4) พัฒนาความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิต และพยายามที่จะตัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม (decoupling)
- (8.5) ในด้านการส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน
- (8.6) ลดสัดส่วนของเยาวชนที่ไม่มีงานทำ ที่ไม่มีการศึกษา และที่ไม่ได้รับการฝึกอบรม ภายในปี 2563

Last Updated on มีนาคม 15, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น