เมื่อระหว่างวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) จัดงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-‘l9 Asia: Solidarity and Transformative Learning” หรือ “ความรอบรู้ในจินตนาการถึงอนาคต หลังวิกฤต Covid–19 ในเอเชีย: ภราดรภาพ และการประยุกต์ใช้แนวคิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ในการนี้ ได้รับเกียรติจากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์ภิชานจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ผู้เชี่ยวชาญอิสระ คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมแห่งสหประชาชาติ ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “Future Literacy and the Reframing of Education in Asia and Beyond”
เมื่อโลกอนาคตเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะคาดเดา วิกฤตสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดถึงความซับซ้อนและความท้าทายใหม่ ๆ ที่มนุษยชาติไม่เคยพบพานมาก่อน ดังนั้นความสามารถในการจินตนาการให้ไกลกว่าจุดที่ยืนอยู่ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ทั้งตนเองและโลก SDG Updates ฉบับนี้จึงขอสรุปประเด็นสำคัญจากการปาฐกถา “Future Literacy and the Reframing of Education in Asia and Beyond” หรือ “ความรอบรู้ในจินตนาการถึงอนาคต และการปรับกรอบมุมมองใหม่ของการศึกษาในเอเชียและภูมิภาคอื่น” เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของภาคการศึกษาในการพัฒนาบุคคลากรที่พร้อมรับมือและพร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
Futures Literacy คืออะไร?
ยูเนสโกให้ความหมาย “Futures Literacy” หรือ “ความรอบรู้ในจินตนาการถึงอนาคต” เป็นทักษะในการคาดการณ์ (anticipation) โลกอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบ (จะเห็นได้ว่าใช้คำว่า futures แบบเติม s เพื่อแสดงว่ามีมากกว่าหนึ่ง) และเมื่อเห็นภาพในภายภาคหน้าแล้ว ก็สามารถมีทักษะการใช้อนาคต (using-the-future) มาใช้ประโยชน์ในการเสริมความสามารถเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ฟื้นตัว และสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ซับซ้อนตั้งแต่ในเวลาปัจจุบัน โดยความรู้รอบในจินตนาการถึงอนาคตนี้ เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้และทุกคนควรมี ไม่ต่างจากทักษะการอ่านออกเขียนได้ (literacy)
(อ่านความหมายของ Futures Literacy โดยละเอียดที่ UNESCO)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ห้องเรียนในหลายพื้นที่ทั่วโลกต้องย้ายพื้นที่อย่างกะทันหันมาอยู่บนโลกออนไลน์ ศ.กิตติคุณ วิทิต เริ่มต้นการปาฐกถาโดยชี้ให้เห็น “สถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ของผู้สอนคลาสเรียนยุคปกติใหม่ เมื่อการเปิดกล้องให้เห็นผู้เรียนจะช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกยาวนานจนหลายครัวเรือนตกอยู่ในความยากจน ซ้ำเติมด้วยการขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเพียงพอ ทำให้ผู้เรียนหลายคนก็มีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอที่จะปฏิเสธตัวเลือกนั้น การเจอกันครึ่งทางในสถานการณ์ที่มีความท้าทายใหม่ ๆ เช่นนี้ จึงต้องผสมผสานทั้ง “ความยืดหยุ่น” (flexibility) “ความเป็นเหตุเป็นผล” (rationality) “ความเอาใจเอามาใส่ใจเรา” (empathy) และ “ความจำเป็น” (necessity) เข้าไปในกระบวนการสอนเพื่อเตรียมพร้อมรับอนาคตในทุกรูปแบบ
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ช่องว่างทางดิจิทัล
● World Data Lab พบว่าคนราว 1.1 พันล้านคน มี ‘ความยากจนทางอินเทอร์เน็ต’ (Internet Poverty)
● 1 Billion Lives Challenge หุ้นส่วนความเท่าเทียมทางดิจิทัลกับการเร่งลงทุนให้ 1 พันล้านคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ในราคาถูก
● ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นอย่างไร? เมื่อครึ่งหนึ่งของโลกยังเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ และไม่มีกรอบ “global data governance”
“The term ‘Futures Literacy’ thus offers the opportunity to reframe the Panorama of Education, especially because covid-19 has accelerated our process of adaptation. This is especially important for the Asian region because it is the most populous continent blessed with a huge number of children, but also ironically, replete with a variety of political systems, ranging from democratic to authoritarian. There are also key lessons for the world beyond”.
[คำแปล – คำว่า “Futures Literacy” จึงให้โอกาสในการปรับกรอบมุมมองใหม่ของการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโควิด-19 ได้เร่งกระบวนการปรับตัวของเรา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภูมิภาคเอเชียเพราะเป็นทวีปที่มีประชากรมากที่สุดโลกและมีเด็กจำนวนมาก แต่ตลกร้ายที่อยู่ภายใต้ระบอบการเมืองที่หลากหลายตั้งแต่ระบอบประชาธิปไตยไปจนถึงอำนาจนิยม นอกจากนี้ ยังมีบทเรียนสำคัญสำหรับพื้นที่อื่นอีกด้วย]
| 3 แนวทางการศึกษาเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
อาจารย์วิทิต กล่าวถึง 3 แนวทางการจัดการศึกษาที่สามารถเป็นจุดเข้ากระทำ (entry points) ที่จะดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อตัวผู้เรียนให้มีความสามารถพร้อมรับมือกับอนาคตได้ดีที่สุด ได้แก่ (1) Learning by Doing (2) Including and Participating และ (3) Caring and Sharing
01 – Learning by doing | เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ
แม้ในอนาคตอันใกล้ ผู้เรียนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมหาศาลบนอินเทอร์เน็ต แต่ “ข้อมูลไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาเสมอไป และการโฆษณาชวนเชื่อไม่ใช่การศึกษาอย่างแน่นอน” สิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงบทบาทของผู้สอน จากการเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำหน้าที่สอนสั่งอย่างผู้รู้มากกว่า มาเป็น “โค้ช” ที่จะคอยสนับสนุนให้ผู้เรียนมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ท่วมท้นได้อย่างผู้มีวิจารญาณ
ในห้วงเวลาที่โลกขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยี อ.วิทิต กล่าวว่า “พึงระลึกไว้เสมอว่าควรมีที่ว่างสำหรับสังคมศาสตร์” เพราะการศึกษาเรื่องของมนุษย์นั้นยังมีความสำคัญในแง่การรับรู้ถึงจิตรู้สำนึก (consciousness) และความรู้ผิดชอบชั่วดี (conscience) เพื่อที่ผู้เรียนจะได้เข้าใจประจักษ์ในตนเองของมนุษย์และเข้าใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันบนพื้นฐานความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ ความรู้ข้ามสาขาวิชา (cross-disciplinary) ข้ามวัฒนธรรม (cross cultural) และสหวิทยาการ (interdisciplinary)
นอกจากนี้ ผู้เรียนยังควรได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่าง ๆ ผ่านกีฬา งานศิลปะ กิจกรรมชุมชน และการทำงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งล้วนเป็นบทเรียนในการขัดเกลาทางสังคมที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจพื้นฐานของชีวิต ลึกไปถึงระดับจิตวิญญาณ
02 – Inclusive and participative | การเรียนรู้ต้องรวมทุกคน และทุกคนต้องมีส่วนร่วม
วิธีการเรียนรู้สำคัญไม่แพ้เนื้อหาที่เรียน การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมสำหรับอนาคต และจำเป็นต้องมีพื้นที่ประชาธิปไตยในห้องเรียนไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ให้ผู้เรียนสามารถแลกเปลี่ยนและสนทนาได้อย่างเปิดกว้าง ซึ่งยังเป็นกระบวนการที่ทำได้ไม่ดีพอ ยังไม่รวมถึง ความจริงที่ว่าหลายพื้นที่ของภูมิภาคเอเชียที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ทำให้ “เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพทางการศึกษา ถูกจำกัดอย่างหนัก”
อย่างไรก็ตาม การที่ประชาคมโลกร่วมรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งมีเป้าหมายที่กล่าวถึงเรื่องการศึกษาโดยเฉพาะ (SDG 4) จะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุมสำหรับทุกคนให้เกิดขึ้นจริง โดยหนึ่งในเป้าหมายย่อย (target) ใน SDG 4 กล่าวถึงประเด็นการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา อ.วิทิตให้ความเห็นว่า จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปในอนาคต เพราะสามารถช่วยให้ผู้คนปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ทักษะทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มโอกาสการมีงานทำหรือเปลี่ยนงานในตลอดช่วงชีวิต เพราะรูปแบบการทำงานแบบ “หนึ่งคน หนึ่งงานตลอดชีวิต” อาจไม่มีอีกต่อไป
03 – Caring and sharing | ความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
การเกิดขึ้นของโควิด-19 ได้กลายเป็นโอกาสที่เราจะได้มองใหม่หรือปรับที่ทางของการตอบสนองที่เรามีต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยอ.วิทิตได้กล่าวถึงองค์ประกอบเบื้องหลัง 3 ประการของการศึกษา นั่นคือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้เรียน เมื่อผนวกเข้ากับความมีมนุษยธรรม จะสามารถบ่มเพาะให้ผู้เรียนกลายเป็นผู้มีความรับผิดชอบและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันและสิ่งแวดล้อมได้
อ.วิทิตได้ยกตัวอย่างการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่นเผชิญร่วมกัน นำมาซึ่งการจัดทำสนธิสัญญา แผนการดำเนินงาน มาตรการ รวมทั้งข้อตกลงระดับโลกต่าง ๆ มากมาย แต่ความมุ่งมั่นเหล่านั้นจะเป็นจริงได้ “ขึ้นอยู่กับการศึกษาตั้งอายุยังน้อยที่ส่งเสริมให้เกิด ‘การใส่ใจและแบ่งปัน’ ต่อผู้อื่น พร้อมด้วยความเคารพต่อสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่น ๆ บนโลก” ที่จะทำให้เรามองเห็นโลกรอบตัวอย่างมีชีวิตจิตใจ และให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและหน้าที่ของเราที่มีต่อคนรุ่นถัดไป
| บทบาทของการศึกษา เพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีในอนาคต
วิกฤตด้านสาธารณสุขในครั้งนี้ได้เร่งให้การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ (digitalization) ในชีวิตประจำวันเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยอ.วิทิตกล่าวว่า ภาคการศึกษาจำเป็นต้องคิดและเริ่มจัดการกับองค์ประกอบแห่งอนาคตที่มาถึงแล้วและกำลังมา เพื่อให้แน่ใจว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้ชีวิตคนทุกคน และไม่ถูกใช้ทางมิชอบ (misuse)โดยอาจารย์ได้สรุป เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นปรากฏการณ์แห่งอนาคตด้วย 3As ได้แก่ A- Automation A-Algorithms และ A-Artificial Intelligence
01 – การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ระบบการทำงานอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยีแทนคน (Automation) เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ก็มาพร้อมกับอัตราการว่างงานของแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในจุดนี้การศึกษาจะมีความสำคัญในการพัฒนาทักษะเดิม (upskill) เพิ่มเติมทักษะใหม่ (reskill) ให้แรงงานที่หลุดจากตลาดแรงงานจากการแทนที่ของเครื่องจักร โดยควรมีการคุ้มครองทางสังคมที่จะสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษารูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตทุกคนในยุคใหม่ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในขณะเดียวกัน ปรับโฉมการศึกษาก็สำคัญในแง่ของการสร้างแรงงานที่มีทักษะสูงสำหรับงานในอนาคตจำนวนมาก เพื่อตอบสนองการขับเคลื่อนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Reskill & Upskill ของแรงงาน
● EA และ มทร. อีสาน ลงนามข้อตกลงทางวิชาการ พัฒนาบัณฑิตมีทักษะรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
● สถาบันอาชีวศึกษากับการปรับวิชา-เนื้อหา-วิธีการสอนให้สอดคล้องกับตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงจากผลกระทบโควิด-19
● SDG Insights | แรงงาน…สู่โลกหลังโควิด-19
02 – ความกังวลต่อการใช้อัลกอริทึม (Algorithm) ที่ทำงานกับข้อมูลของผู้คนบนโลกออนไลน์นำมาสู่การกำหนดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นในหลายประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถปกป้องสิทธิในการปฏิเสธหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ข้อมูล จนไปถึงความพยายามในการจัดการกับการใช้ข้อมูลและอัลกอรึทึมเพื่ออาชญากรรม แต่ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ การเกิดขึ้นของกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐในทางกว้างเกินไปในการควบคุมปิดกั้นการรับส่งข้อมูล การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตของประชาชนในเอเชีย “ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษาในภาพรวมและต่อพื้นที่สำหรับการเรียนรู้แบบเสรีนิยมและเสรีภาพทางวิชาการ”
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต
● SDG Insights | เสรีภาพทางวิชาการ กับบทบาทของมหาวิทยาลัย ในฐานะพื้นที่พูดคุยให้สังคมพร้อมรับความเสี่ยงในอนาคต
● SDG Recommends | ‘Free to Think 2021’ รายงานการติดตามสถานการณ์เสรีภาพทางวิชาการโลก
● SDG Recommends | Infodemic กับ SDGs เสรีภาพในอินเตอร์เน็ตของเอเชีย
03 – การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เช่น หุ่นยนต์ ได้ช่วยเหลือมนุษยชาติในหลาย ๆ ด้านอย่างเป็นที่ประจักษ์ แต่ความกังวลหลักคือการใช้ AI ของรัฐเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงและการเฝ้าระวังที่มากเกินไปจนคุกคามสิทธิมนุษยชน การได้รับการศึกษาและมีความรู้รอบด้านดิจิทัลจะช่วยให้ประชาชนสามารถคุ้มครองปกป้องสิทธิของตนได้ นอกจากนี้ กระบวนการศึกษาทั้งรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการจะช่วยให้ประชาชนโลกได้ตระหนักถึงสถานการณ์และข้อกังวลของ “หุ่นยนต์สังหาร” ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อเป็นอาวุธสงครามในกองทัพหลายประเทศ และเป็นกำลังในการผลักดันให้ผู้นำโลกร่วมกันกำหนดกฎระเบียบการควบคุม
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ AI
● 193 ประเทศสมาชิกยูเนสโกรับรองข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยย ‘จริยธรรม AI’ ฉบับแรกในประวัติศาสตร์
● 7 ไอเดียนำ AI เข้ามาช่วยภาครัฐทำงานอย่างไรให้คนมั่นใจในบริการสาธารณะมากขึ้น
● สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของ UN เรียกร้องให้มีการห้ามขาย-ใช้ AI ที่เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชนเป็นการชั่วคราว
โลกอนาคตที่หมุนไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบใกล้เข้ามาเต็มที่ จนนำมาถึงการตั้งคำถามว่าความล้ำยุคเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่ปัญญาและความสามารถมนุษย์ทั้งหมดหรือไม่? อย่างไรก็ตาม อาจารย์วิทิตได้สรุปว่า อย่างน้อยในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะยังคงมีพื้นที่ที่ 3As ไปไม่ถึง คือ พื้นที่ของ “การมีจิตสำนึกรู้ และ การรู้ผิดชอบชั่วดี” ของมนุษย์ที่จะสามารถควบคุมและรับผิดชอบการใช้เทคโนโลยีเพื่อมนุษยชาติในอนาคตได้
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องโดยตรงกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุม
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและการไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
ยังเชื่อมโยงกับ
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต
#SDG13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.3) ส่งเสริมนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
รับฟังปาฐกถา “Futures Literacy and the Reframing of Education in Asia and Beyond” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ ได้ที่
Facebook : Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U.
และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/
Last Updated on มีนาคม 23, 2022