SDG Updates | เปิดรายงานความก้าวหน้า SDGs ในเอเชียและแปซิฟิก ความมุ่งมั่นบรรลุทันในปี 2030 คงไกลเกินเอื้อม

วันนี้ (17 มีนาคม พ.ศ. 2565) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ได้เปิดตัวรายงาน “Asia and the Pacific SDG Progress Report” ประจำปี 2022 อย่างเป็นทางการ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประกอบด้วย 5 อนุภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เอเชียเหนือและเอเชียกลาง เอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก โดยรายงานฉบับนี้ได้โฟกัสไปถึงความเป็นไปได้ที่จะบรรลุ SDGs ให้ทันในปี 2030 ของภูมิภาคนี้ที่ไกลออกไปทุกที เพราะก้าวหน้าที่เชื่องช้าผนวกด้วยความท้าทายรุนแรงจากทั้งจากโรคระบาดและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจำเป็นที่การพัฒนาจะต้องไปให้ถึงกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังสุด (furthest behind) โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้

SDG Updates ฉบับนี้จะขอสรุปข้อค้นพบที่สำคัญจากรายงาน Asia and the Pacific SDG Progress Report 2022: Widening disparities amid COVID-19” เพื่อให้ผู้อ่านทุกคนพร้อมอัปเดตข้อมูลล่าสุดของความก้าวหน้าด้าน SDGs ในภูมิภาคของเราจากรายงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งประจำปีนี้


|| เอเชียและแปซิฟิกจะไม่บรรลุ ‘วาระการพัฒนาปี 2030’ จนกว่าจะถึงปี 2065

การประเมินความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากข้อมูลทั้งหมด 60 ประเทศ/เขต ระบุว่าความก้าวหน้าที่เดินไปช้าลงเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ปี และเสริมด้วยความท้าทายเพิ่มเติมด้วยวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตสาธารณสุขอย่างโควิด-19 ทำให้เส้นทางในการบรรลุวาระการพัฒนานี้ได้ทันในปี 2030 สำหรับภูมิภาคนี้หลุดมือไป และหากยังคงดำเนินการด้วยอัตราเร็วเท่าปัจจุบัน รายงานฉบับนี้คาดการณ์ว่า ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะสามารถบรรลุทั้ง 17 เป้าหมายนี้ได้ในปี 2065 ซึ่งช้ากว่าที่ประชาคมโลกกำหนดไว้ถึง 35 ปี การวิเคราะห์นี้ยิ่งเน้นย้ำว่าทุกภาคส่วนจะต้องคว้าทุกโอกาสเพื่อเร่งความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้

ภาพรวมความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2021
ที่มา: Asia and the Pacific SDG Progress Report

เมื่อพิจารณาในระดับเป้าหมาย (goal) ความก้าวหน้า (progress) ที่โดดเด่นของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนับจากข้อมูลปี 2015 คือ SDG 7 พลังงานสมัยใหม่ในราคาที่จ่ายได้ และ SDG 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าที่เด่นชัด คือ การเพิ่มการลงทุนระหว่างประเทศในพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน การขยายพื้นที่จ่ายไฟฟ้าให้ไปถึงชนบท การขยายบริการอินเทอร์เน็ตและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าที่มีนี้ก็ยังเดินช้าเกินกว่าจะบรรลุได้ทันในปี 2030

ในอีกด้านหนึ่ง แนวโน้มการ ‘ถดถอย’ (regression) ของการพัฒนาในบางเป้าหมายอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง โดยมีสองเป้าหมายที่เดินสวนทางการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ SDG 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และ SDG 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเรียกร้องการดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนเพื่อให้กลับมาอยู่บนเส้นทางที่ภูมิภาคนี้จะมีโอกาสบรรลุ SDGs ทั้งนี้ ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 35% นับตั้งแต่ปี 2000 และจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติอันเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มกว่าสองเท่าจากปี 2015 ยังไม่รวมถึงการเพิ่มการลงทุนในพลังงานฟอสซิลในขณะที่ก็มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่

สำหรับเป้าหมายอื่นที่มีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย หรือหยุดนิ่ง (stagnant) ได้แก่ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพและครอบคลุม SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และ SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล

—–

รายงานจาก ESCAP ฉบับนี้ได้เจาะลึกลงไปถึงระดับเป้าหมายย่อย (target) ทั้ง 169 เป้าหมาย โดยประเมินจาก 112 เป้าหมายย่อยที่มีข้อมูลมากเพียงพอในปีนี้ จากการคาดการณ์ความก้าวหน้าของแต่ละเป้าหมาย พบว่า ด้วยอัตราเร็วความก้าวหน้าเท่าปัจจุบัน ภายในปี 2030 จะมีเพียง 10 เป้าหมายย่อยเท่านั้นที่ทำสำเร็จ (สีเขียว)ในขณะที่ อีก 81 เป้าหมายย่อยต้องการเร่งการดำเนินการอย่างด่วนเพื่อให้ทันปี 2030 (สีเหลือง) และอีก 21 เป้าหมายที่เดินถอยการต้องการการดำเนินเพื่อกลับทิศทางของแนวโน้ม (สีแดง)

เป้าหมายที่มี เป้าหมายย่อยที่ติดตัวแดง หรือมีแนวโน้มสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเป้าหมายอื่น ๆ ได้แก่ SDG 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล (3 จาก 8 เป้าหมายย่อย) SDG 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ (4 จาก 12 เป้าหมายย่อย) และ SDG 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (3 จาก 11 เป้าหมายย่อย)

การคาดการณ์ความก้าวหน้าของแต่ละเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ที่มา: Asia and the Pacific SDG Progress Report

|| วิกฤตโรคระบาดทำให้กลุ่มเปราะบาง ‘ยิ่งเปราะบาง’ และคนที่อยู่ข้างหลัง ‘ยิ่งไกลออกไป’ จากการเข้าถึงโอกาส

รายงานความก้าวหน้าฉบับนี้มาได้ธีม “Widening disparities amid COVID-19” เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการพัฒนาที่ต้องเข้าถึงคนที่อยู่ท้ายสุดก่อน (reach first those who are furthest behind) ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง (vulnerable groups) ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและไม่ครอบคลุม และเมื่อวิกฤตต่าง ๆ เกิดขึ้นมาอย่างกะทันหัน อาทิ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประชากรกลุ่มนี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มากกว่า การวิเคราะห์ในรายงานนี้แสดงให้เห็นว่าต้องมีการดำเนินการมากขึ้นเพื่อขยายการคุ้มครองทางสังคมสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง และการทำความเข้าใจความเข้าใจลักษณะประชากร เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สุขภาพ สถานที่ สถานะการย้ายถิ่นฐาน และรายได้ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูจากวิกฤตครั้งนี้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

ภาพรวมสถานการณ์เปราะบางที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบางแต่ละกลุ่มในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตามที่รายงานฉบับนี้ได้สังเคราะห์มา ประกอบด้วย

  • 15-64% ของผู้หญิงในเอเชียแปซิฟิกเผชิญความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศจากคนใกล้ชิดหรือคู่ชีวิตในตลอดช่วงชีวิตหนึ่ง
  • เด็ก 32 ล้านคนในเอเชียและแปซิฟิกอยู่ในภาวะผอมแห้ง (wasted) เด็ก 10% ออกจากโรงเรียนในระดับมัธยมต้น โดยเด็กหญิงที่อยู่อาศัยในชนบทและมาจากครัวเรือนที่ยากจน เป็นกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสมากกว่าเด็กทั่วไป
  • ประชาการในบางเชื้อชาติ วรรณะ หรือบางกลุ่มชาติพันธุ์ อาจมีโอกาสตกอยู่ในความยากจนหลายมิติ (multidimentional poverty) มากกว่าถึง 10 เท่า
  • มีบางประเทศที่ยังไม่มีการจ่ายเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ
  • ผู้ทุพพลภาพขั้นรุนแรงเพียง 21.6% เท่านั้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ผู้พิการเป็นเงินสด
  • ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นบ้านของประชากรผู้ลี้ภัย 19% ของโลก แต่ก็มีรายงานการเสียชีวิตและการหายตัวไประหว่างการย้ายถิ่นฐานเพิ่มขึ้นในปี 2021

|| ความก้าวหน้าด้านข้อมูลที่ถือเป็นข่าวดี

รายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า จำนวนตัวชี้วัด (indicator) ของ SDGs ที่มีข้อมูลพร้อมใช้งานได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านับตั้งแต่ปี 2017 แต่ก็ยังต้องการความพยายามที่มากขึ้นจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติเพื่อปิดช่องว่างของข้อมูลที่ยังคงเหลือเป้าหมายย่อยอีก 57 เป้าหมาย หรือคิดเป็น 34% จากทั้งหมด 169 เป้าหมายย่อย ที่ยังไม่สามารถประเมินได้ในปีนี้ และเพิ่มความพร้อมของข้อมูล (data availability) ให้แก่ SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG 14 ทรัพยากรทางทะเล และ SDG 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ที่ยังคงมีจำกัดอยู่ การขาดความพร้อมใช้งานของข้อมูลคุณภาพสูง ทันเวลา และเชื่อถือได้ อาจไม่สามารถสะท้อนภาพความจริงได้ชัดแจ้ง และอาจทำให้การดำเนินการเพื่อการพัฒนาแก้ไขเป็นไปอย่างล่าช้า และอาจไม่ตรงจุด


ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 และมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มความก้าวหน้าในการบรรลุ SDGs ในปีต่อ ๆ ไปจะช้าลงไปอีกเนื่องจากการมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจในโลกหลังวิกฤตอาจต้องแลกมากับความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม รายงานฉบับนี้เสนอแนะว่า เราสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้ได้ก็ต่อเมื่อรับเอา SDGs เป็นหลักของการดำเนินการเพื่อการฟื้นฟูที่ครอบคลุม เท่าเทียม และเป็นธรรมมากขึ้น


Last Updated on มีนาคม 24, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น