ผู้เชี่ยวชาญด้านแร่ธาตุวิเคราะห์ว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจทำให้ความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียน (energy transition) เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเดินถอยหลัง
บทความบนเว็บไซต์ The Conversation โดยนักวิจัยด้านแร่ธาตุยั่งยืนจาก University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตโลหะสำคัญที่ใช้ในการผลิตเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาวะสงครามที่เกิดขึ้นทำให้อุปทานของโลหะเหล่านี้ฝืดเคือง
รัสเซียสามารถผลิตนิกเกิลซึ่งเป็นโลหะที่หายากซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 7% ของปริมาณที่ขุดได้ทั่วโลก และยังผลิตแพลเลเดียมได้มากถึงหนึ่งในสามของโลก ซึ่งเป็นโลหะนี้ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษของรถยนต์ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ราคาของนิกเกิลและแพลเลเดียมพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่ยูเครนเป็นประเทศซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดในโลกขององค์ประกอบทางเคมีที่เรียกว่า ก๊าซมีตระกูล (noble gas) ซึ่งประกอบด้วยนีออน คริปตอน และใช้ทำ ‘เซมิคอนดักเตอร์ชิป’ ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่ใช้ในรถยนต์และเครื่องจักรในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน
นักวิจัยยังระบุว่าความก้าวหน้าของโลกในการยุติการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นไปอย่างเชื่องช้าเกินไปตั้งแต่ก่อนเกิดความขัดแย้งครั้งนี้ โดยความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานทำให้หลายประเทศต้องสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มีการนำเข้าถ่านหินอย่างเร่งด่วนเนื่องจากความกังวลการหยุดจ่ายแก๊สจากรัสเซีย ความกดดันด้านพลังงานทำให้รัฐบาลเยอรมนีต้องต้องทบทวนแผนระยะสั้นในการเลิกใช้ถ่านหินและยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
บทความยังเสริมอีกว่า วิกฤตความขัดแย้งในครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซียด้วยการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และจัดการความต้องการพลังงานในประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้
- (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
- (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโลกให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
Last Updated on มีนาคม 22, 2022