SDG Updates | สิ่งคุกคามความมั่นคงของมนุษย์: จากอดีตถึงอนาคตที่ยากจะคาดการณ์

รายงานพิเศษ New Threats to Human Security in the Anthropocene เผยแพร่ โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนดัชนีที่ใช้ติดตามสถานะความมั่นคงของมนุษย์

รายงานดังกล่าวได้ชี้ว่า สิ่งที่คุกคามแกนหลักหรือสิ่งจำเป็นที่สุดของการดำรงชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ซับซ้อน และไม่สนใจพรมแดนระหว่างประเทศอีกต่อไปในยุคแอนโทรโปซีน (Anthropocene) นี้ ซึ่งเป็นการจุดประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อทิศทางการมอง การศึกษา การออกแบบนโยบายที่จะช่วยปกป้องมนุษย์ทุกผู้ให้มีความมั่นคงโดยคำนึงถึงบริบทที่ต้องมองไปข้างหน้าและปรับตัวให้ทันท่วงที 

อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามถึงดัชนีความมั่นคงของมนุษย์ครั้งนี้มิได้เป็นความพยายามครั้งแรกแต่อย่างไร ความมั่นคงของมนุษย์หรือ “human security” นั้น ถูกสร้างขึ้นและได้รับการปรับเปลี่ยนไปตาม “สิ่งคุกคาม” (ในบางกรณีเรียกว่า “ภัยคุกคาม”) หรือ “threats” ที่เป็นพลวัต  บวกรวมไปกับแนวทางการใช้ชีวิตที่มนุษย์อยากจะให้เป็นไป ณ ขณะนั้น จนสุดท้ายสะท้อนออกจากมิติและตัวชี้วัดต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

SDG Updates ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านเดินทางติดตามพัฒนาการของสิ่งคุกคามมนุษย์ แนวคิดชีวิตมนุษย์ที่ต้องการ ที่สอดคล้องไปกับภาพความมั่นคงของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา 

เราจะก้าวไปใน 5 ช่วงเวลาด้วยกัน ..


| ช่วงที่ 1 ความมั่นคงของมนุษย์แนบอยู่กับความมั่นคงของรัฐ

งานโดย Takahashi ชื่อ “Human Rights, Human Security, and State Security” เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2014 ได้ชี้ว่า ในอดีต ก่อนที่ความคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นรูปร่างที่ชัดเจน คำว่า “human security” นั้นถูกผูกติดอยู่กับหลักความมั่นคงของรัฐ หรือ state security อย่างแนบแน่น

Takahashi (2014) อ้างว่า “หลักความมั่นคง” ที่มีมนุษย์ในฐานะองค์ประกอบของรัฐนี้จะให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐในการปกป้องประชาชนของตนเอง ผ่านการใช้กองกำลังทหารสร้างเสถียรภาพทางการเมือง กิจกรรมเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางการเงิน เพื่อให้เกิดการรักษาระเบียบและความสงบสุขของผู้คนในสังคม  

แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน (Peace of Westphalia) ในปี ค.ศ. 1648 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสร้างความสงบสันติภาพระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรปที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งคุกคามของความมั่นคงของมนุษย์คนหนึ่งในเวลานั้นเชื่อมโยงกับภัยสงครามและเสถียรภาพของรัฐเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าสันติภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยถูกมองเป็นกุญแจที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนได้ผู้ลืมตาอ้าปาก ทำให้ความมั่นคงของรัฐ (ที่เรียกว่าเป็น traditional/state-centric security) ก็ทับอยู่เหนือความมั่นคงของมนุษย์อย่างต่อเนื่องมาจนสงครามเย็นจบลง แต่ก็ช่วงเวลานั้นเองที่แนวคิดความมั่งคงมนุษย์ค่อย ๆ ก่อร่างและพัฒนาขึ้นมา


| ช่วงที่ 2 ความมั่นคงของมนุษย์ที่ขยับขยายออกมาจากความมั่นคงของรัฐ

การต่อสู้ของสองขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นส่งผลให้หลายประเทศในโลกมีความพยายามรวบรวมความมั่งคั่ง เร่งรัดพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของตน แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนในสังคมกลับยังคงตกอยู่ในภาวะการณ์ที่ไม่สามารถแสวงหาความมั่นคงได้ในชีวิตประจำวัน ต้องประสบกับสิ่งคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ดังเช่น ความยากจนหิวโหย อัตราการว่างงานที่สูง ปัญหาอาชญากรรม การถูกกดขี่ เป็นต้น นั่นแปลว่าความมั่นคงของรัฐมิได้เป็นตัวแปรทั้งหมดของความมั่นคงของมนุษย์

ทำให้ช่วงหลังของสงครามเย็นที่โลกอยู่ในสภาวะที่มีสันติภาพในระดับหนึ่ง เกิดมีความเคลื่อนไหวให้ความสำคัญพุ่งไปที่มนุษย์และคุณภาพชีวิตมากขึ้น ความมั่นคงของมนุษย์ก็ถูกพูดถึงมาเรื่อยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 และในปี ค.ศ. 1990 แนวคิดความมั่นคงมนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ (Takhashi, 2014)

ความมั่นคงของมนุษย์คืออะไร ? มีผู้ให้ความหมายของความมั่นคงของมนุษย์ไว้หลากหลาย กระนั้น นิยามที่มีการใช้อย่างแพร่หลายและได้รับการอ้างอิงมากที่สุดคือคำนิยามที่เกิดในปี ค.ศ. 1994 ซึ่งถูกระบุในรายงาน Human Development Report: New Dimision of Human Security ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ว่า ความมั่นคงของมนุษย์ คือ  “…the vital core of all human lives in ways that enhance human freedoms and human fulfillment.“ ซึ่งในภาษาไทยสามารถแปลได้คือ สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ ในเชิงที่สร้างเสริมให้มนุษย์นั้นมีเสรีภาพและความเติมเต็ม 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการแจกแจงเสรีภาพดังกล่าวว่ามีด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ เสรีภาพจากความกลัว (freedom from fear) เสรีภาพที่จะเป็นอิสระจากความต้องการ (freedom from want) และเสรีภาพที่จะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี (freedom to live in dignity) ซึ่งประการสุดท้ายนี้ได้มีการเติมขึ้นมาในภายหลัง


| ช่วงที่ 3 จุดเริ่มต้นของตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ที่ผูกรวมกับแนวคิดการพัฒนา

ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้แล้วที่เราไม่สามารถมองแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์แยกออกจากการพัฒนาหรือ “development” ได้เลย การมีรายงาน Human Development Report: New Dimision of Human Security ของ UNDP แสดงให้เห็นว่า human security ถูกก่อร่างในรายงานว่าด้วยการพัฒนามนุษย์ (human development) โดยองค์กรที่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนา นอกจากนี้ดัชนีความมั่นคงของมนุษย์นั้นก็ถูกวางให้อยู่ภายใต้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ที่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมกว่า ซึ่ง HDI มีมิติของตัวชี้วัดอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ ความรู้ และมาตรฐานการครองชีพ

อย่างไรก็ตาม เมื่อความมั่นคงของมนุษย์เริ่มชัดเจนในระดับแนวคิดแล้ว กรอบการปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองจึงเริ่มเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความชัดเจน ซึ่งในปี ค.ศ. 2000 องค์การสหประชาชาติได้ทำการรับรองวาระความมั่นคงของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินคู่ขนานไปกับการพัฒนามนุษย์ ดังเห็นได้จากการผนวกความมั่นคงของมนุษย์ให้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับโลก ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี (ระหว่าง ค.ศ. 2000-2015) ประกอบไปด้วย 8 เป้าหมายที่มีชุดตัวชี้วัดเพื่อติดตามความคืบหน้า และในหนึ่งปีให้หลัง The Commission on Human Security ก็ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความมั่นคงของมนุษย์และสร้างเครื่องมือเพื่อการลงมือปฏิบัติ จนรายงาน Human Security Now ได้รับการเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2003 เป็นกรอบแนวคิดหลักที่ใช้อ้างอิงการดำเนินการขับเคลื่อนความมั่นคงของมนุษย์


| ช่วงที่ 4 ตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์บนฐานของสิ่งคุกคาม     

เช่นเดียวกับที่ state security มิได้เป็นตัวแปรทั้งหมดของ human security การพัฒนาก็มิได้สัมพันธ์กับความมั่นคงของมนุษย์ไปเสียทั้งหมด มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาที่เราพบเห็นโดยทั่วไปในโลกนี้ส่วนมากไม่ได้เน้นไปให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์เท่าที่ควร แต่เน้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้เองที่มีแนวโน้มว่าจะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลกระทบเชิงลบประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความน่าสนใจคือความคิดเห็นเชิง free-market บางกลุ่มที่ระบุว่าความเหลื่อมล้ำเป็นการกระตุ้นให้คนพัฒนาตนเอง นัยยะคือเป็นผลกระทบเชิงบวกจากการพัฒนา แต่แท้ที่จริงแล้วความเหลื่อมล้ำที่สูงเกินไปกลับทำให้ผู้คนที่อยู่ด้านล่างกลับยิ่งรู้สึกสิ้นหวังในชีวิตเสียมากกว่า (Hastings, 2009) และนั่นคือ human insecurity หรือ ความไม่มั่นคงของมนุษย์ อย่างปฏิเสธมิได้

HDI ไม่ได้สะท้อน HSI เสมอไป – กรณีศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา

สหรัฐอเมริกาเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และจาก Human Development Report ของสหประชาชาติฉบับล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2021 ให้ข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่อันดับ 1 ของโลก และในทางเดียวกันค่า HDI อยู่ที่อันดับที่ค่อนข้างสูงคืออันดับที่ 17 แต่เมื่อพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน สหรัฐอเมริกากลับมีตัวเลข Human Security Index (HSI) ที่ต่ำอย่างน่าใจหาย และเมื่อพินิจในรายละเอียดจะพบว่ามีตัวเลขที่ค่อนข้างสูง (ความมั่นคงของมนุษย์ต่ำ) ในเกือบทุกตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็น อัตราคนไร้บ้านอันเกิดจากภัยพิบัติหรืออัตรานักโทษในคุกที่มีค่าคะแนนสูงโดดขึ้นมามากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มดังกล่าว  

ในภาพใหญ่ สหรัฐอเมริกาจึงกลับกลายเป็นประเทศที่มีดัชนีด้านความมั่นคงของมนุษย์อยู่ในระดับปานกลางถึงล่าง และมีแนวโน้มของความมั่นคงของมนุษย์ที่แย่ลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010  โดยล่าสุด ค่า HSI ของประเทศในปี ค.ศ. 2021 มีคะแนนต่ำที่สุดในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาแม้เข้าใจได้ว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ก็ตาม

แน่นอนว่าแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังควรได้รับการบูรณาการกับแนวทางการพัฒนาของนานาประเทศมากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสไปที่ดัชนีความมั่นคงของมนุษย์แล้ว เราอาจจะต้องปรับมุมมองให้อยู่ในหน่วยของการดำรงชีพของมนุษย์ กล่าวคือ อาจวางคอนเซ็ปต์การพัฒนาเอาไว้รอบนอกก่อนแม้จะมีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ประเด็นความมั่นคงของมนุษย์เด่นชัดขึ้น แล้วเริ่มจากแนวคิดฐานที่เดิมทีแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เกิดจากความต้องการที่จะปกป้องตนเองจากภัยคุกคามหรือสิ่งคุกคาม ดังนั้น ตัวสิ่งคุกคามนี่เองที่จะเป็นตัวตั้งในการปั้นชุดตัวชี้วัดที่แสดงสถานะ human security ได้เป็นอย่างดี

ในปี ค.ศ. 2008 Human Security Unit (HSU-OCHA) ภายใต้สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) ทำการระบุตัวอย่างสิ่งคุกคามหลัก (main threats) ต่อความมั่นคงของมนุษย์ และนำมาจำแนกเป็นกลุ่มเพื่อเสนอเป็นประเภทความมั่นคงของมนุษย์ 7 ประเภทด้วยกัน ดังแสดงในตารางด้านล่าง

ตารางที่ 1: ประเภทของสิ่งคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์

ประเภทของความมั่นคงตัวอย่างของสิ่งคุกคามหลัก
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic security)ความยากจนเรื้อรัง การว่างงาน
ความมั่นคงทางอาหาร (Food security)ความหิวโหย ความอดอยาก
ความมั่นคงทางสุขภาพ (Health security)โรคติดต่อถึงแก่ชีวิต อาหารที่ไม่ปลอดภัย ภาวะขาดสารอาหาร อุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข
ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม (Environmental security)ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การผลาญทรัพยากรจนหมดไป ภัยธรรมชาติ มลภาวะ
ความมั่นคงส่วนบุคคล (Personal security)ความรุนแรงทางร่างกาย อาชญากรรม การก่อการร้าย ความรุนแรงในครอบครัว แรงงานเด็ก
ความมั่นคงของชุมชน (Community security)ความตึงเครียดที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ ศาสนา และอัตลักษณ์อื่น ๆ
ความมั่นคงทางการเมืองPolitical securityการกดทับทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน
ที่มา: HSU-OCHA (2008)

ประเภทของสิ่งคุกคามที่กลายมาเป็นมิติทั้ง 7 ของความมั่นคงของมนุษย์ข้างต้น จึงนับได้ว่าเป็นพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเต็มปากมากขึ้น  แต่ลักษณะของสิ่งคุกคามเหล่านี้ที่ลืมมิได้เลย คือ แม้จะมันถูกแยกเป็นกลุ่ม แต่ทุกมิติมีความข้องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การขาดไปซึ่งมิติใดมิติหนึ่งจะส่งผลให้มนุษย์มีความรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตน้อยลงในมิติอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำรงชีพได้

แม้ดัชนีตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ได้ถูกปรับปรุงพัฒนามาตลอด แต่จนกระทั่งปี ค.ศ. 2008 ได้มีการออกดัชนีชี้วัดความมั่งคงของมนุษย์อย่างเป็นทางการครั้งแรก รู้จักในชื่อของ Human Security Index (HSI) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์สำหรับวัดความมั่นคงมนุษย์ (Hastings, 2011) มิติของตัวชี้วัดประกอบไปด้วย ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ตัวชี้วัดด้านสังคม ความมั่นคงด้านอาหาร 

สำหรับข้อมูลในการตรวจสถานะตามตัวชี้วัดเหล่านี้ จะได้มาจากความร่วมมือระดับภูมิภาคจากองค์การต่าง ๆ ที่รับผิดชอบและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ สหภาพยุโรป อาเซียน และสหภาพแอฟริกา

ภายหลังจากมีการประกาศเกี่ยวกับดัชนีตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นทางการได้เพียง 2 ปี ในปี ค.ศ. 2010 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) ได้นำเสนอมาตรฐานความมั่นคงของมนุษย์และกำหนดองค์ประกอบของดัชนีความมั่นคงมนุษย์ที่มีการเพิ่มรายละเอียดมากยิ่งขึ้น (ตารางที่ 2) และเมื่อพิจารณาแล้วมีความสอดคล้องกับสิ่งคุกคามที่ HSU-OCHA ได้เรียบเรียงไว้

ตารางที่ 2: มาตรฐานความมั่นคงของมนุษย์และกำหนดองค์ประกอบของดัชนีความมั่นคงมนุษย์

มิติของ HSIตัวชี้วัด
ด้านเศรษฐกิจ– ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)
– ความเท่าเทียมกันด้านการกระจายรายได้
– ระบบธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจ
– การเงิน
ด้านสิ่งแวดล้อม– ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
– นโยบายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
– ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านสังคม– สุขภาพ
– การศึกษา
– การคุ้มครองและส่งเสริมความหลากหลาย
– สภาวะสงบสุข สันติ
– ระบบธรรมาภิบาล
– การปราศจากคอรัปชัน
– ความมั่นคงด้านอาหาร
ที่มา: ESCAP (2010)

เพื่อความต่อเนื่องสัมพันธ์ (consistency) ของข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศ UNDP (2020) ได้ทำการสร้างตัวชี้วัดที่ใช้วัดภาพรวมความมั่นคงของมนุษย์ในแต่ละประเทศ โดยเสนอ 7 ตัวชี้วัดที่ครอบคลุมมิติเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมแบบองค์รวมให้ถือเป็นรากฐานของตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งแต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของสังคมของประเทศ   ชุดตัวชี้วัดดังกล่าว ได้แก่

  1. อัตราการฆาตกรรม (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน)
  2. การจดทะเบียนแจ้งเกิด (คิดเป็นเปอร์เซ็นจากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ)
  3. ผู้คนที่ไร้บ้าน อันมาจากผลของภัยธรรมชาติ (อัตราส่วนเฉลี่ยต่อปี ต่อ 1 ล้านคน)
  4. ประชากรในคุก (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน)
  5. ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศ (คิดเป็นหลักพัน)
  6. อัตราการฆ่าตัวตาย เพศชาย (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน, ตามมาตราฐานอายุที่กำหนดไว้)
  7. อัตราการฆ่าตัวตาย เพศหญิง (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน, ตามมาตราฐานอายุที่กำหนดไว้)

| ช่วงที่ 5 – จากนี้ต่อไปกับสิ่งคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง 

แม้ที่ผ่านมา งานเกี่ยวกับ human security จะไม่ค่อยเน้นมิติความไม่มั่นคงทางสิ่งแวดล้อมในชุดตัวชี้วัดมากนักเมื่อเทียบกับมิติทางเศรษฐกิจและสังคม (Martin&Owen, 2010; Newman, 2010)  แต่หลังจากปี 2016 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สิ่งแวดล้อมเริ่มกลายเป็นเรื่องหลักที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในงานเขียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นของคงมนุษย์มากยิ่งขึ้น (Tavanti, 2016) ซึ่งอีกทางหนึ่งก็สามารถเชื่อได้ว่าเป็นเพราะสิ่งคุกคามทางสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์ในวงกว้างและชัดขึ้นในเวลาที่ผ่านมาด้วย

เรื่องที่กำลังถูกพูดถึงและให้ความสนใจอย่างมากก็คือ มนุษยสมัย หรือ แอนโทรโปซีน (Anthropocene) ซึ่งว่าด้วยการกระทำของมนุษย์บนโลกได้นำพาโลกมาถึงจุดที่มิอาจหวนกลับไปได้อีกแล้ว โดยการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ก็มีเหตุผลมาจากการที่ต้องการจะแข่งขันกันพัฒนาประเทศของตนไปสู่ความเป็นหนึ่ง จนนำมาซึ่งโลกที่แสนจะเปราะบางและเป็นอันตรายต่อมนุษย์

แอนโทรโปซีน หรือ มนุษยสมัย 

แอนโทรโปซีน คือแนวคิดเกี่ยวกับยุคสมัยเชิงธรณีวิทยา ว่าด้วยช่วงเวลาที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถทำให้ย้อนคืนกลับมาสู่สภาพดั้งเดิมได้อีก ซึ่งการกระทำของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงโลกในข่ายของแอนโทรโปซีนมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การปล่อยมลภาวะทางอากาศ การทิ้งขยะลงมหาสมุทรจำนวนมาก ฯลฯ แอนโทรโปรซีนเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงในหลายปีที่ผ่านและกลายเป็นเรื่องกระแสหลักในปี 2022 (Tapia, 2022)

อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อโลกนั้นได้มีแนวโน้มที่จะสร้างความไม่มั่นคง ในรูปแบบต่าง ๆ กับสังคมมนุษย์ทั่วโลกอย่างรุนแรงขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งต้นตอของอิทธิพลดังกล่าวก็มาจากกิจกรรมพัฒนาที่ก้าวกระโดด มนุษย์ทำให้ตัวเองตกอยู่ในหลุมของความไม่มั่นคงต่อเผ่าพันธุ์ของตัวเอง และไม่มีทางรู้ตัวเลยว่าความไม่มั่นคงดังกล่าวจะหลุดมาจากวังวนที่หมุนรอบตัวมนุษย์แล้วพุ่งเข้าชนตอนไหน 

รายงานล่าสุดของ UNDP (2022) อธิบายสภาพความไม่มั่นคงของมนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีนนี้ว่า ในขณะที่ภัยคุกคามเดิมก็มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม มนุษย์ก็ได้รู้สึกถึงสิ่งคุกคามรูปแบบใหม่ที่อุบัติขึ้นแล้ว โดยสิ่งคุกคามที่ชัดเจนที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง 3 สิ่งนี้มีแนวโน้มที่จะนำพาปัญหาในรูปแบบใหม่มาสู่มวลมนุษย์เพิ่มเติม ดังจะแจกแจงบางส่วนของตัวรายงานดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในการทำงานและพึ่งพาเทคโนโลยีในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม ยกตัวอย่าง เช่น การใช้โปรแกรมประชุมหรือทำงานทางไกลที่ทำให้การทำงานจากบ้านเป็นไปได้ เหนี่ยวนำให้ปัจเจกใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จำกัดและขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่าในช่วงเวลาปกติ จนสามารถเกิดความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าขึ้น นอกจากนี้การนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสายตาและอาการ office syndrome ต่าง ๆ ซึ่งจากที่กล่าวมาเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับตัวผู้คนโดยตรง

การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ยังทำให้เกิดการเลิกจ้างงานอย่างกะทันหัน ความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดขององค์กรใต้ความผันผวนต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการค้นพบว่างานบางตำแหน่งที่ใช้มนุษย์อาจไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป เพราะเครื่องจักร-หุ่นยนต์รุ่นใหม่สามารถทำงานได้เหมือนกัน บางทีกลับมีประสิทธิภาพที่รวมถึงผลิตภาพสูงกว่าและลดต้นทุนได้มากกว่าในระยะยาว นำมาสู่การเลิกจ้างโดยเฉพาะงานแรงงานไม่ใช้ทักษะ เช่น กรรมกรหรือแม่บ้าน  นอกจากนี้การเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ได้สร้างแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ถูกแทนที่ในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะ เช่น นักบัญชีหรือนักกฎหมาย มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนรู้สึกในองค์รวมว่าชีวิตมีความมั่นคงน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป

นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความฉลาดมากขึ้นและทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น แต่ถูกพัฒนาบนฐานของสังคมที่มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า อคติในอัลกอริทึม (algorithm bias) ซึ่งเกิดจาการที่คอมพิวเตอร์ไม่ประมวลผลได้อย่างเป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็น นำมาซึ่งปัญหาที่มีความซับซ้อน อาทิ หากใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยสรรหาผู้ที่จะมาสมัครงานในองค์กรในตำแหน่งที่มีเงินเดือนสูง ผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าอย่างมากที่จะเป็นเป้าหมายในการถูกยิงโฆษณาของปัญญาประดิษฐ์ 

อีกตัวอย่างที่ต้องจับตาคือ เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) ได้ถูกนำมาใช้ในวงการตำรวจเพื่อใช้ในการจับกุมคนร้าย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำงานได้แย่ลงกับคนที่ไม่ใช่ผู้ชายผิวขาวอย่างมีนัยยะสำคัญ และเมื่อใช้กับคนดำมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการจับกุมผิดฝาผิดตัว (ซึ่งเกิดขึ้นจริง) 

จากตัวอย่างที่กล่าวมาทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีสำหรับคนบางกลุ่ม แต่กลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าสำหรับคนบางกลุ่มเช่นกัน 

ผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายกำลังวิ่งกลับมาหามนุษย์ในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากในมหาสมุทรได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อปลาและมนุษย์ก็มีการบริโภคเนื้อปลานั้น เมื่อมนุษย์บริโภคจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บใหม่ที่ยังไม่มีองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ปรุโปร่งพอจะมารับมือได้ 

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ฯลฯ ในรายงานของ UNDP มีการกล่าวว่า มีความรุนแรงขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความรุนแรงดังกล่าวนี้ได้สร้างสิ่งคุกคามรูปแบบใหม่ขึ้นมา เนื่องจากในรายงานมีการพบความเชื่อมโยงว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่มากขึ้น มั่งคั่งขึ้น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมั่งคั่งน้อยลง และมีการเติบโตลดลงของเศรษฐกิจ นั่นแปลว่าระยะห่างความเหลื่อมล้ำในโลกกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

สิ่งคุกคามใหม่ประการสุดท้าย คือความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในสภาวะลดถอยลงถึงขั้นวิกฤติ สถานการณ์นี้ได้ซ้ำเติมความเปราะบางในมิติของอาหาร เพราะความหลากหลายที่ลดลงทำให้ตัวเลือกอาหารของมนุษย์ลดน้อยลงไปด้วย และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความหิวโหยในที่สุด 

รายงานของ UNDP (2022) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ในอดีตมนุษย์เคยบริโภคธัญพืชมากถึง 7,000 สายพันธ์ุ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 3 สายพันธ์ุหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดเท่านั้น ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบที่รุนแรงที่ส่งผลให้อาหาร 3 ชนิดนี้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ความขัดแย้ง ภูมิอากาศที่แปรปรวน มนุษย์จะได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

อีกทั้งปัญหาใน ณ เวลาปัจจุบัน เช่น โรคระบาด COVID-19 อันเป็นผลเริ่มมาจากสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนบางกลุ่มต้องประทังชีวิตตนเองด้วยการรุกคืบเข้าไปใช้พื้นที่ป่า นอกจากจะซ้ำเติมความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพแล้วยังนำไปสู่การติดโรคจากสัตว์และแพร่สู่คนจนกลายเป็นวิกฤตกาลระดับโลกแล้ว ยังสร้างความห่างเหินระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับความมั่นคงของตัวเองอีกด้วย  แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังทำให้มนุษย์รู้สึกใกล้ชิดกัน ก็คือ ภัยคุกคามหรือความไม่มั่นคงที่เกิดจากพื้นที่หนึ่งที่แผ่ขยายไปอย่างไร้พรมแดนและรวดเร็วนั่นเอง ฉนั้น ความมั่นคงของมนุษย์อาจจะมิใช่เรื่องที่รัฐหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบประชาชนของตัวเองเท่านั้นอีกต่อไปก็เป็นได้

จากที่กล่าวทั้งหมดข้างต้น ทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบันว่าควรจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อความผันผวนซับซ้อนอย่างไรหรือไม่ ก่อนที่การสร้างมาตรการปกป้องผู้คนให้ได้มากที่สุดในยุคสมัยนี้จะสายเกินไป


| สรุป – หนทางข้างหน้า

จะเห็นได้ว่าแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดในหลายศตวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากพลวัตของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความท้าทายใหม่ ๆ ที่ต้องการวิธีการติดตามและแก้ปัญหาใหม่ ๆ

การนำเรื่องแอนโทรโปซีนมาพูดถึงอย่างมากในปัจจุบันได้เน้นย้ำให้เราเห็นว่ามนุษย์เองได้สร้างอิทธิพลที่พลิกโฉมดาวโลกมากเพียงใด และการกระทำเหล่านั้นสามารถย้อนกลับมารัดตัวมนุษย์อย่างไร 

แอนโทรโปรซีนทำให้เราตระหนักได้ว่า มนุษย์จะต้องร่วมมือกันสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในเชิงนโยบายให้มาก และสร้างความเข้าใจใหม่ว่า ความมั่นคงของมนุษย์นั้น อาจจะไม่ใช่เพียงแค่คิดถึงมนุษย์อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องคิดไปถึงดวงดาวที่ชื่อว่าโลกด้วย เช่นนั้นเราจึงจะสามารถผ่าวิกฤติความมั่นคงของมนุษย์ที่รอเราอยู่ในอนาคต

นี่อาจจะถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ความมั่นคงของมนุษย์ควรถูกจัดให้กลายเป็นสิ่งที่มีลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก และดัชนีตัวชี้วัดปัจจุบันที่ใช้อยู่ ควรจะถูกตั้งคำถามใหม่อีกครั้งหรือไม่ ว่ามีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการอธิบายความมั่นคงของมนุษย์บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผันผวนและคาดการณ์ได้ยากเช่นนี้เพียงไร

เรียบเรียงโดย ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน #SDG2 ขจัดความหิวโหย #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ #SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ #SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้ #SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน #SDG13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล #SDG15 ระบบนิเวศบนบก #SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง

บรรณานุกรม

Ajay Chhibber. Ajay Chhibber (Editor). (2020). Measuring Human Development for the Anthropocene. United States of America: Human Development Report Office.

David A. Hastings. Amarakoon Bandara (Editor). (2009).  From Human Development to Human Security: A Prototype Human Security Index. Thailand,Bangkok: Economic and Social Commission for Asia and the Pacific.

Hastings, D. A., & Org, H. (2011). The Human Security Index: An Update and a New Release. Retrieved March 8, 2022, from http://www.HumanSecurityIndex.org

David Bosold, Sascha Werthes. (2005). Human Security in Practice: Canadian and Japanese Experiences. Internationale Politik und Gesellschaft (IPG)/International Politics and Society, 2005(1),. 84 – 101.

Heriberto Tapia. United Nations Development Programme (UNDP) (Editor). (2022). New threats to human security in the Anthropocene Demanding greater solidarity. New York: UNDP.

Marco Di Liddo. Marco Di Liddo (Editor). (2021). The impact of Covid-19 on Human Security. Rome,Italy: Farnesina.

Marco Tavanti. (2016). THE Sustainable Development Goals : A Brief History And Progress Overview. Retrieved March 8, 2022, from https://www.sdg.services/uploads/9/9/2/1/9921626/brief_history_of_sdgs.pdf

Martin, M., & Owen, T. (2010). The Second Generation of Human Security: Lessons from the UN and EU Experience. International Affairs (Royal Institute of International Affairs 1944-), 86(1), 211–224. http://www.jstor.org/stable/40389095

Morrow, Nathan Mock, Nancy B. Gatto, Andrea Lemense, Julia Hudson, Magaret. Hossein Azadi (Editor). (2022). Protective Pathways: Connecting Environmental and HumanSecurity at Local and Landscape Level with NLP and GeospatialAnalysis of a Novel Database of 1500 Project Evaluations. Switzerland: MPDI.

NEWMAN, E. (2010). Critical human security studies. Review of International Studies, 36(1), 77–94. http://www.jstor.org/stable/40588105

Saul Takahashi. Saul Takahashi (Editor). (2014).  Human Rights, Human Security, and State Security. United States of America: ABC-CLIO, LLC.

The United Nations Trust Fund for Human Security (UNTFHS). (2010). What is human security. Retrieved March 8, 2022, from https://www.iidh.ed.cr

United Nations Development Programme (UNDP). United Nations Development Programme (UNDP) (Editor). (1994). Human Development Report 1994. New York: Oxford University Press

United Nations Development Programme (UNDP). United Nations Development Programme (UNDP) (Editor). (2020). The Next Frontier:Human Development and the Anthropocene. Thailand, Bangkok: UNDP.

United Nations Development Programme (UNDP). (2022). Global Human Development Indicators. Retrieved March 8, 2022, https://hdr.undp.org/en/countries/profiles

Last Updated on มีนาคม 25, 2022

Author

  • Yossapol Sahwatdi

    Researcher Assistant at SDG Move | อยากเห็นผู้คนได้มีอิสระตามความฝันและความต้องการของตนเอง ในสังคมประชาธิปไตยที่มอบรัฐสวัสดิการให้ประชาชน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น