รายงานพิเศษ “New Threats to Human Security in the Anthropocene” เผยแพร่ โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนดัชนีที่ใช้ติดตามสถานะความมั่นคงของมนุษย์
รายงานดังกล่าวได้ชี้ว่า สิ่งที่คุกคามแกนหลักหรือสิ่งจำเป็นที่สุดของการดำรงชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ซับซ้อน และไม่สนใจพรมแดนระหว่างประเทศอีกต่อไปในยุคแอนโทรโปซีน (Anthropocene) นี้ ซึ่งเป็นการจุดประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อทิศทางการมอง การศึกษา การออกแบบนโยบายที่จะช่วยปกป้องมนุษย์ทุกผู้ให้มีความมั่นคงโดยคำนึงถึงบริบทที่ต้องมองไปข้างหน้าและปรับตัวให้ทันท่วงที
อย่างไรก็ตาม การตั้งคำถามถึงดัชนีความมั่นคงของมนุษย์ครั้งนี้มิได้เป็นความพยายามครั้งแรกแต่อย่างไร ความมั่นคงของมนุษย์หรือ “human security” นั้น ถูกสร้างขึ้นและได้รับการปรับเปลี่ยนไปตาม “สิ่งคุกคาม” (ในบางกรณีเรียกว่า “ภัยคุกคาม”) หรือ “threats” ที่เป็นพลวัต บวกรวมไปกับแนวทางการใช้ชีวิตที่มนุษย์อยากจะให้เป็นไป ณ ขณะนั้น จนสุดท้ายสะท้อนออกจากมิติและตัวชี้วัดต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
SDG Updates ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านเดินทางติดตามพัฒนาการของสิ่งคุกคามมนุษย์ แนวคิดชีวิตมนุษย์ที่ต้องการ ที่สอดคล้องไปกับภาพความมั่นคงของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
เราจะก้าวไปใน 5 ช่วงเวลาด้วยกัน ..
| ช่วงที่ 1 – ความมั่นคงของมนุษย์แนบอยู่กับความมั่นคงของรัฐ
งานโดย Takahashi ชื่อ “Human Rights, Human Security, and State Security” เผยแพร่ในปี ค.ศ. 2014 ได้ชี้ว่า ในอดีต ก่อนที่ความคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นรูปร่างที่ชัดเจน คำว่า “human security” นั้นถูกผูกติดอยู่กับหลักความมั่นคงของรัฐ หรือ state security อย่างแนบแน่น
Takahashi (2014) อ้างว่า “หลักความมั่นคง” ที่มีมนุษย์ในฐานะองค์ประกอบของรัฐนี้จะให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐในการปกป้องประชาชนของตนเอง ผ่านการใช้กองกำลังทหารสร้างเสถียรภาพทางการเมือง กิจกรรมเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางการเงิน เพื่อให้เกิดการรักษาระเบียบและความสงบสุขของผู้คนในสังคม
แนวคิดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากสนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลิน (Peace of Westphalia) ในปี ค.ศ. 1648 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะสร้างความสงบสันติภาพระหว่างอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรปที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งทำให้สามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งคุกคามของความมั่นคงของมนุษย์คนหนึ่งในเวลานั้นเชื่อมโยงกับภัยสงครามและเสถียรภาพของรัฐเป็นอย่างมาก อาจกล่าวได้ว่าสันติภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยถูกมองเป็นกุญแจที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนได้ผู้ลืมตาอ้าปาก ทำให้ความมั่นคงของรัฐ (ที่เรียกว่าเป็น traditional/state-centric security) ก็ทับอยู่เหนือความมั่นคงของมนุษย์อย่างต่อเนื่องมาจนสงครามเย็นจบลง แต่ก็ช่วงเวลานั้นเองที่แนวคิดความมั่งคงมนุษย์ค่อย ๆ ก่อร่างและพัฒนาขึ้นมา
| ช่วงที่ 2 – ความมั่นคงของมนุษย์ที่ขยับขยายออกมาจากความมั่นคงของรัฐ
การต่อสู้ของสองขั้วอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นส่งผลให้หลายประเทศในโลกมีความพยายามรวบรวมความมั่งคั่ง เร่งรัดพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของตน แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนในสังคมกลับยังคงตกอยู่ในภาวะการณ์ที่ไม่สามารถแสวงหาความมั่นคงได้ในชีวิตประจำวัน ต้องประสบกับสิ่งคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ดังเช่น ความยากจนหิวโหย อัตราการว่างงานที่สูง ปัญหาอาชญากรรม การถูกกดขี่ เป็นต้น นั่นแปลว่าความมั่นคงของรัฐมิได้เป็นตัวแปรทั้งหมดของความมั่นคงของมนุษย์
ทำให้ช่วงหลังของสงครามเย็นที่โลกอยู่ในสภาวะที่มีสันติภาพในระดับหนึ่ง เกิดมีความเคลื่อนไหวให้ความสำคัญพุ่งไปที่มนุษย์และคุณภาพชีวิตมากขึ้น ความมั่นคงของมนุษย์ก็ถูกพูดถึงมาเรื่อยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1970 และในปี ค.ศ. 1990 แนวคิดความมั่นคงมนุษย์ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ (Takhashi, 2014)
ความมั่นคงของมนุษย์คืออะไร ? มีผู้ให้ความหมายของความมั่นคงของมนุษย์ไว้หลากหลาย กระนั้น นิยามที่มีการใช้อย่างแพร่หลายและได้รับการอ้างอิงมากที่สุดคือคำนิยามที่เกิดในปี ค.ศ. 1994 ซึ่งถูกระบุในรายงาน Human Development Report: New Dimision of Human Security ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ว่า ความมั่นคงของมนุษย์ คือ “…the vital core of all human lives in ways that enhance human freedoms and human fulfillment.“ ซึ่งในภาษาไทยสามารถแปลได้คือ สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ ในเชิงที่สร้างเสริมให้มนุษย์นั้นมีเสรีภาพและความเติมเต็ม
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการแจกแจงเสรีภาพดังกล่าวว่ามีด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ เสรีภาพจากความกลัว (freedom from fear) เสรีภาพที่จะเป็นอิสระจากความต้องการ (freedom from want) และเสรีภาพที่จะดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี (freedom to live in dignity) ซึ่งประการสุดท้ายนี้ได้มีการเติมขึ้นมาในภายหลัง
| ช่วงที่ 3 – จุดเริ่มต้นของตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ที่ผูกรวมกับแนวคิดการพัฒนา
ต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้แล้วที่เราไม่สามารถมองแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์แยกออกจากการพัฒนาหรือ “development” ได้เลย การมีรายงาน Human Development Report: New Dimision of Human Security ของ UNDP แสดงให้เห็นว่า human security ถูกก่อร่างในรายงานว่าด้วยการพัฒนามนุษย์ (human development) โดยองค์กรที่ส่งเสริมเรื่องการพัฒนา นอกจากนี้ดัชนีความมั่นคงของมนุษย์นั้นก็ถูกวางให้อยู่ภายใต้ดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ที่มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมกว่า ซึ่ง HDI มีมิติของตัวชี้วัดอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ ความรู้ และมาตรฐานการครองชีพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อความมั่นคงของมนุษย์เริ่มชัดเจนในระดับแนวคิดแล้ว กรอบการปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองจึงเริ่มเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความชัดเจน ซึ่งในปี ค.ศ. 2000 องค์การสหประชาชาติได้ทำการรับรองวาระความมั่นคงของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินคู่ขนานไปกับการพัฒนามนุษย์ ดังเห็นได้จากการผนวกความมั่นคงของมนุษย์ให้เข้าไปเป็นส่วนสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับโลก ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี (ระหว่าง ค.ศ. 2000-2015) ประกอบไปด้วย 8 เป้าหมายที่มีชุดตัวชี้วัดเพื่อติดตามความคืบหน้า และในหนึ่งปีให้หลัง The Commission on Human Security ก็ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความมั่นคงของมนุษย์และสร้างเครื่องมือเพื่อการลงมือปฏิบัติ จนรายงาน Human Security Now ได้รับการเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2003 เป็นกรอบแนวคิดหลักที่ใช้อ้างอิงการดำเนินการขับเคลื่อนความมั่นคงของมนุษย์
| ช่วงที่ 4 – ตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์บนฐานของสิ่งคุกคาม
เช่นเดียวกับที่ state security มิได้เป็นตัวแปรทั้งหมดของ human security การพัฒนาก็มิได้สัมพันธ์กับความมั่นคงของมนุษย์ไปเสียทั้งหมด มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาที่เราพบเห็นโดยทั่วไปในโลกนี้ส่วนมากไม่ได้เน้นไปให้ความสำคัญกับการพัฒนามนุษย์เท่าที่ควร แต่เน้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้เองที่มีแนวโน้มว่าจะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลกระทบเชิงลบประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ความน่าสนใจคือความคิดเห็นเชิง free-market บางกลุ่มที่ระบุว่าความเหลื่อมล้ำเป็นการกระตุ้นให้คนพัฒนาตนเอง นัยยะคือเป็นผลกระทบเชิงบวกจากการพัฒนา แต่แท้ที่จริงแล้วความเหลื่อมล้ำที่สูงเกินไปกลับทำให้ผู้คนที่อยู่ด้านล่างกลับยิ่งรู้สึกสิ้นหวังในชีวิตเสียมากกว่า (Hastings, 2009) และนั่นคือ human insecurity หรือ ความไม่มั่นคงของมนุษย์ อย่างปฏิเสธมิได้
HDI ไม่ได้สะท้อน HSI เสมอไป – กรณีศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และจาก Human Development Report ของสหประชาชาติฉบับล่าสุดประจำปี ค.ศ. 2021 ให้ข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่อันดับ 1 ของโลก และในทางเดียวกันค่า HDI อยู่ที่อันดับที่ค่อนข้างสูงคืออันดับที่ 17 แต่เมื่อพูดถึงความมั่นคงของมนุษย์เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยกัน สหรัฐอเมริกากลับมีตัวเลข Human Security Index (HSI) ที่ต่ำอย่างน่าใจหาย และเมื่อพินิจในรายละเอียดจะพบว่ามีตัวเลขที่ค่อนข้างสูง (ความมั่นคงของมนุษย์ต่ำ) ในเกือบทุกตัวชี้วัด ไม่ว่าจะเป็น อัตราคนไร้บ้านอันเกิดจากภัยพิบัติหรืออัตรานักโทษในคุกที่มีค่าคะแนนสูงโดดขึ้นมามากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มดังกล่าว
ในภาพใหญ่ สหรัฐอเมริกาจึงกลับกลายเป็นประเทศที่มีดัชนีด้านความมั่นคงของมนุษย์อยู่ในระดับปานกลางถึงล่าง และมีแนวโน้มของความมั่นคงของมนุษย์ที่แย่ลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 โดยล่าสุด ค่า HSI ของประเทศในปี ค.ศ. 2021 มีคะแนนต่ำที่สุดในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาแม้เข้าใจได้ว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ก็ตาม
แน่นอนว่าแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังควรได้รับการบูรณาการกับแนวทางการพัฒนาของนานาประเทศมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสไปที่ดัชนีความมั่นคงของมนุษย์แล้ว เราอาจจะต้องปรับมุมมองให้อยู่ในหน่วยของการดำรงชีพของมนุษย์ กล่าวคือ อาจวางคอนเซ็ปต์การพัฒนาเอาไว้รอบนอกก่อนแม้จะมีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้ประเด็นความมั่นคงของมนุษย์เด่นชัดขึ้น แล้วเริ่มจากแนวคิดฐานที่เดิมทีแนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เกิดจากความต้องการที่จะปกป้องตนเองจากภัยคุกคามหรือสิ่งคุกคาม ดังนั้น ตัวสิ่งคุกคามนี่เองที่จะเป็นตัวตั้งในการปั้นชุดตัวชี้วัดที่แสดงสถานะ human security ได้เป็นอย่างดี
ในปี ค.ศ. 2008 Human Security Unit (HSU-OCHA) ภายใต้สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs: OCHA) ทำการระบุตัวอย่างสิ่งคุกคามหลัก (main threats) ต่อความมั่นคงของมนุษย์ และนำมาจำแนกเป็นกลุ่มเพื่อเสนอเป็นประเภทความมั่นคงของมนุษย์ 7 ประเภทด้วยกัน ดังแสดงในตารางด้านล่าง
ตารางที่ 1: ประเภทของสิ่งคุกคามต่อความมั่นคงของมนุษย์
ประเภทของความมั่นคง | ตัวอย่างของสิ่งคุกคามหลัก |
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic security) | ความยากจนเรื้อรัง การว่างงาน |
ความมั่นคงทางอาหาร (Food security) | ความหิวโหย ความอดอยาก |
ความมั่นคงทางสุขภาพ (Health security) | โรคติดต่อถึงแก่ชีวิต อาหารที่ไม่ปลอดภัย ภาวะขาดสารอาหาร อุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข |
ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม (Environmental security) | ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การผลาญทรัพยากรจนหมดไป ภัยธรรมชาติ มลภาวะ |
ความมั่นคงส่วนบุคคล (Personal security) | ความรุนแรงทางร่างกาย อาชญากรรม การก่อการร้าย ความรุนแรงในครอบครัว แรงงานเด็ก |
ความมั่นคงของชุมชน (Community security) | ความตึงเครียดที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ ศาสนา และอัตลักษณ์อื่น ๆ |
ความมั่นคงทางการเมืองPolitical security | การกดทับทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน |
ประเภทของสิ่งคุกคามที่กลายมาเป็นมิติทั้ง 7 ของความมั่นคงของมนุษย์ข้างต้น จึงนับได้ว่าเป็นพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเต็มปากมากขึ้น แต่ลักษณะของสิ่งคุกคามเหล่านี้ที่ลืมมิได้เลย คือ แม้จะมันถูกแยกเป็นกลุ่ม แต่ทุกมิติมีความข้องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด การขาดไปซึ่งมิติใดมิติหนึ่งจะส่งผลให้มนุษย์มีความรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตน้อยลงในมิติอื่น ๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่ความล้มเหลวในการดำรงชีพได้
แม้ดัชนีตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ได้ถูกปรับปรุงพัฒนามาตลอด แต่จนกระทั่งปี ค.ศ. 2008 ได้มีการออกดัชนีชี้วัดความมั่งคงของมนุษย์อย่างเป็นทางการครั้งแรก รู้จักในชื่อของ Human Security Index (HSI) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์สำหรับวัดความมั่นคงมนุษย์ (Hastings, 2011) มิติของตัวชี้วัดประกอบไปด้วย ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ตัวชี้วัดด้านสังคม ความมั่นคงด้านอาหาร
สำหรับข้อมูลในการตรวจสถานะตามตัวชี้วัดเหล่านี้ จะได้มาจากความร่วมมือระดับภูมิภาคจากองค์การต่าง ๆ ที่รับผิดชอบและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ได้แก่ สหภาพยุโรป อาเซียน และสหภาพแอฟริกา
ภายหลังจากมีการประกาศเกี่ยวกับดัชนีตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์อย่างเป็นทางการได้เพียง 2 ปี ในปี ค.ศ. 2010 คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก หรือ United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) ได้นำเสนอมาตรฐานความมั่นคงของมนุษย์และกำหนดองค์ประกอบของดัชนีความมั่นคงมนุษย์ที่มีการเพิ่มรายละเอียดมากยิ่งขึ้น (ตารางที่ 2) และเมื่อพิจารณาแล้วมีความสอดคล้องกับสิ่งคุกคามที่ HSU-OCHA ได้เรียบเรียงไว้
ตารางที่ 2: มาตรฐานความมั่นคงของมนุษย์และกำหนดองค์ประกอบของดัชนีความมั่นคงมนุษย์
มิติของ HSI | ตัวชี้วัด |
ด้านเศรษฐกิจ | – ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) – ความเท่าเทียมกันด้านการกระจายรายได้ – ระบบธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจ – การเงิน |
ด้านสิ่งแวดล้อม | – ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม – นโยบายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม – ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม |
ด้านสังคม | – สุขภาพ – การศึกษา – การคุ้มครองและส่งเสริมความหลากหลาย – สภาวะสงบสุข สันติ – ระบบธรรมาภิบาล – การปราศจากคอรัปชัน – ความมั่นคงด้านอาหาร |
เพื่อความต่อเนื่องสัมพันธ์ (consistency) ของข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศ UNDP (2020) ได้ทำการสร้างตัวชี้วัดที่ใช้วัดภาพรวมความมั่นคงของมนุษย์ในแต่ละประเทศ โดยเสนอ 7 ตัวชี้วัดที่ครอบคลุมมิติเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมแบบองค์รวมให้ถือเป็นรากฐานของตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งแต่ละประเทศสามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทของสังคมของประเทศ ชุดตัวชี้วัดดังกล่าว ได้แก่
- อัตราการฆาตกรรม (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน)
- การจดทะเบียนแจ้งเกิด (คิดเป็นเปอร์เซ็นจากเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ)
- ผู้คนที่ไร้บ้าน อันมาจากผลของภัยธรรมชาติ (อัตราส่วนเฉลี่ยต่อปี ต่อ 1 ล้านคน)
- ประชากรในคุก (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน)
- ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศ (คิดเป็นหลักพัน)
- อัตราการฆ่าตัวตาย เพศชาย (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน, ตามมาตราฐานอายุที่กำหนดไว้)
- อัตราการฆ่าตัวตาย เพศหญิง (อัตราส่วนต่อประชากรในประเทศ 1 แสนคน, ตามมาตราฐานอายุที่กำหนดไว้)
| ช่วงที่ 5 – จากนี้ต่อไปกับสิ่งคุกคามที่เปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
แม้ที่ผ่านมา งานเกี่ยวกับ human security จะไม่ค่อยเน้นมิติความไม่มั่นคงทางสิ่งแวดล้อมในชุดตัวชี้วัดมากนักเมื่อเทียบกับมิติทางเศรษฐกิจและสังคม (Martin&Owen, 2010; Newman, 2010) แต่หลังจากปี 2016 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) สิ่งแวดล้อมเริ่มกลายเป็นเรื่องหลักที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในงานเขียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นของคงมนุษย์มากยิ่งขึ้น (Tavanti, 2016) ซึ่งอีกทางหนึ่งก็สามารถเชื่อได้ว่าเป็นเพราะสิ่งคุกคามทางสิ่งแวดล้อมได้ส่งผลเป็นภัยต่อความมั่นคงของมนุษย์ในวงกว้างและชัดขึ้นในเวลาที่ผ่านมาด้วย
เรื่องที่กำลังถูกพูดถึงและให้ความสนใจอย่างมากก็คือ มนุษยสมัย หรือ แอนโทรโปซีน (Anthropocene) ซึ่งว่าด้วยการกระทำของมนุษย์บนโลกได้นำพาโลกมาถึงจุดที่มิอาจหวนกลับไปได้อีกแล้ว โดยการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ก็มีเหตุผลมาจากการที่ต้องการจะแข่งขันกันพัฒนาประเทศของตนไปสู่ความเป็นหนึ่ง จนนำมาซึ่งโลกที่แสนจะเปราะบางและเป็นอันตรายต่อมนุษย์
แอนโทรโปซีน หรือ มนุษยสมัย
แอนโทรโปซีน คือแนวคิดเกี่ยวกับยุคสมัยเชิงธรณีวิทยา ว่าด้วยช่วงเวลาที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถทำให้ย้อนคืนกลับมาสู่สภาพดั้งเดิมได้อีก ซึ่งการกระทำของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงโลกในข่ายของแอนโทรโปซีนมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนพื้นที่ป่าให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม การปล่อยมลภาวะทางอากาศ การทิ้งขยะลงมหาสมุทรจำนวนมาก ฯลฯ แอนโทรโปรซีนเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงในหลายปีที่ผ่านและกลายเป็นเรื่องกระแสหลักในปี 2022 (Tapia, 2022)
อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อโลกนั้นได้มีแนวโน้มที่จะสร้างความไม่มั่นคง ในรูปแบบต่าง ๆ กับสังคมมนุษย์ทั่วโลกอย่างรุนแรงขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งต้นตอของอิทธิพลดังกล่าวก็มาจากกิจกรรมพัฒนาที่ก้าวกระโดด มนุษย์ทำให้ตัวเองตกอยู่ในหลุมของความไม่มั่นคงต่อเผ่าพันธุ์ของตัวเอง และไม่มีทางรู้ตัวเลยว่าความไม่มั่นคงดังกล่าวจะหลุดมาจากวังวนที่หมุนรอบตัวมนุษย์แล้วพุ่งเข้าชนตอนไหน
รายงานล่าสุดของ UNDP (2022) อธิบายสภาพความไม่มั่นคงของมนุษย์ในยุคแอนโทรโปซีนนี้ว่า ในขณะที่ภัยคุกคามเดิมก็มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นและซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิม มนุษย์ก็ได้รู้สึกถึงสิ่งคุกคามรูปแบบใหม่ที่อุบัติขึ้นแล้ว โดยสิ่งคุกคามที่ชัดเจนที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง 3 สิ่งนี้มีแนวโน้มที่จะนำพาปัญหาในรูปแบบใหม่มาสู่มวลมนุษย์เพิ่มเติม ดังจะแจกแจงบางส่วนของตัวรายงานดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในการทำงานและพึ่งพาเทคโนโลยีในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพแบบองค์รวม ยกตัวอย่าง เช่น การใช้โปรแกรมประชุมหรือทำงานทางไกลที่ทำให้การทำงานจากบ้านเป็นไปได้ เหนี่ยวนำให้ปัจเจกใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จำกัดและขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากกว่าในช่วงเวลาปกติ จนสามารถเกิดความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าขึ้น นอกจากนี้การนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสายตาและอาการ office syndrome ต่าง ๆ ซึ่งจากที่กล่าวมาเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับตัวผู้คนโดยตรง
การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ยังทำให้เกิดการเลิกจ้างงานอย่างกะทันหัน ความจำเป็นที่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดขององค์กรใต้ความผันผวนต่าง ๆ ทำให้ผู้ประกอบการค้นพบว่างานบางตำแหน่งที่ใช้มนุษย์อาจไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป เพราะเครื่องจักร-หุ่นยนต์รุ่นใหม่สามารถทำงานได้เหมือนกัน บางทีกลับมีประสิทธิภาพที่รวมถึงผลิตภาพสูงกว่าและลดต้นทุนได้มากกว่าในระยะยาว นำมาสู่การเลิกจ้างโดยเฉพาะงานแรงงานไม่ใช้ทักษะ เช่น กรรมกรหรือแม่บ้าน นอกจากนี้การเร่งรัดพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ได้สร้างแนวโน้มที่จะทำให้ผู้ถูกแทนที่ในตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะ เช่น นักบัญชีหรือนักกฎหมาย มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนรู้สึกในองค์รวมว่าชีวิตมีความมั่นคงน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีความฉลาดมากขึ้นและทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น แต่ถูกพัฒนาบนฐานของสังคมที่มีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า อคติในอัลกอริทึม (algorithm bias) ซึ่งเกิดจาการที่คอมพิวเตอร์ไม่ประมวลผลได้อย่างเป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็น นำมาซึ่งปัญหาที่มีความซับซ้อน อาทิ หากใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยสรรหาผู้ที่จะมาสมัครงานในองค์กรในตำแหน่งที่มีเงินเดือนสูง ผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงมีโอกาสน้อยกว่าอย่างมากที่จะเป็นเป้าหมายในการถูกยิงโฆษณาของปัญญาประดิษฐ์
อีกตัวอย่างที่ต้องจับตาคือ เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) ได้ถูกนำมาใช้ในวงการตำรวจเพื่อใช้ในการจับกุมคนร้าย อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำงานได้แย่ลงกับคนที่ไม่ใช่ผู้ชายผิวขาวอย่างมีนัยยะสำคัญ และเมื่อใช้กับคนดำมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการจับกุมผิดฝาผิดตัว (ซึ่งเกิดขึ้นจริง)
จากตัวอย่างที่กล่าวมาทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีสำหรับคนบางกลุ่ม แต่กลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าสำหรับคนบางกลุ่มเช่นกัน
ผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายกำลังวิ่งกลับมาหามนุษย์ในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากในมหาสมุทรได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อปลาและมนุษย์ก็มีการบริโภคเนื้อปลานั้น เมื่อมนุษย์บริโภคจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บใหม่ที่ยังไม่มีองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ปรุโปร่งพอจะมารับมือได้
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็น พายุ น้ำท่วม คลื่นความร้อน ฯลฯ ในรายงานของ UNDP มีการกล่าวว่า มีความรุนแรงขึ้นและเกิดขึ้นบ่อยอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความรุนแรงดังกล่าวนี้ได้สร้างสิ่งคุกคามรูปแบบใหม่ขึ้นมา เนื่องจากในรายงานมีการพบความเชื่อมโยงว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการเติบโตของเศรษฐกิจที่มากขึ้น มั่งคั่งขึ้น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมั่งคั่งน้อยลง และมีการเติบโตลดลงของเศรษฐกิจ นั่นแปลว่าระยะห่างความเหลื่อมล้ำในโลกกำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สิ่งคุกคามใหม่ประการสุดท้าย คือความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่ในสภาวะลดถอยลงถึงขั้นวิกฤติ สถานการณ์นี้ได้ซ้ำเติมความเปราะบางในมิติของอาหาร เพราะความหลากหลายที่ลดลงทำให้ตัวเลือกอาหารของมนุษย์ลดน้อยลงไปด้วย และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความหิวโหยในที่สุด
รายงานของ UNDP (2022) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ในอดีตมนุษย์เคยบริโภคธัญพืชมากถึง 7,000 สายพันธ์ุ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 3 สายพันธ์ุหลัก ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพดเท่านั้น ซึ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือผลกระทบที่รุนแรงที่ส่งผลให้อาหาร 3 ชนิดนี้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด ความขัดแย้ง ภูมิอากาศที่แปรปรวน มนุษย์จะได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งปัญหาใน ณ เวลาปัจจุบัน เช่น โรคระบาด COVID-19 อันเป็นผลเริ่มมาจากสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนบางกลุ่มต้องประทังชีวิตตนเองด้วยการรุกคืบเข้าไปใช้พื้นที่ป่า นอกจากจะซ้ำเติมความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพแล้วยังนำไปสู่การติดโรคจากสัตว์และแพร่สู่คนจนกลายเป็นวิกฤตกาลระดับโลกแล้ว ยังสร้างความห่างเหินระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับความมั่นคงของตัวเองอีกด้วย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังทำให้มนุษย์รู้สึกใกล้ชิดกัน ก็คือ ภัยคุกคามหรือความไม่มั่นคงที่เกิดจากพื้นที่หนึ่งที่แผ่ขยายไปอย่างไร้พรมแดนและรวดเร็วนั่นเอง ฉนั้น ความมั่นคงของมนุษย์อาจจะมิใช่เรื่องที่รัฐหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบประชาชนของตัวเองเท่านั้นอีกต่อไปก็เป็นได้
จากที่กล่าวทั้งหมดข้างต้น ทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับตัวชี้วัดความมั่นคงของมนุษย์ในปัจจุบันว่าควรจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อความผันผวนซับซ้อนอย่างไรหรือไม่ ก่อนที่การสร้างมาตรการปกป้องผู้คนให้ได้มากที่สุดในยุคสมัยนี้จะสายเกินไป
| สรุป – หนทางข้างหน้า
จะเห็นได้ว่าแนวคิดความมั่นคงของมนุษย์มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดในหลายศตวรรษที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากพลวัตของโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความท้าทายใหม่ ๆ ที่ต้องการวิธีการติดตามและแก้ปัญหาใหม่ ๆ
การนำเรื่องแอนโทรโปซีนมาพูดถึงอย่างมากในปัจจุบันได้เน้นย้ำให้เราเห็นว่ามนุษย์เองได้สร้างอิทธิพลที่พลิกโฉมดาวโลกมากเพียงใด และการกระทำเหล่านั้นสามารถย้อนกลับมารัดตัวมนุษย์อย่างไร
แอนโทรโปรซีนทำให้เราตระหนักได้ว่า มนุษย์จะต้องร่วมมือกันสร้างความมั่นคงของมนุษย์ในเชิงนโยบายให้มาก และสร้างความเข้าใจใหม่ว่า ความมั่นคงของมนุษย์นั้น อาจจะไม่ใช่เพียงแค่คิดถึงมนุษย์อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องคิดไปถึงดวงดาวที่ชื่อว่าโลกด้วย เช่นนั้นเราจึงจะสามารถผ่าวิกฤติความมั่นคงของมนุษย์ที่รอเราอยู่ในอนาคต
นี่อาจจะถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ความมั่นคงของมนุษย์ควรถูกจัดให้กลายเป็นสิ่งที่มีลำดับความสำคัญเป็นลำดับแรก และดัชนีตัวชี้วัดปัจจุบันที่ใช้อยู่ ควรจะถูกตั้งคำถามใหม่อีกครั้งหรือไม่ ว่ามีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการอธิบายความมั่นคงของมนุษย์บนโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผันผวนและคาดการณ์ได้ยากเช่นนี้เพียงไร
เรียบเรียงโดย ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน #SDG2 ขจัดความหิวโหย #SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ #SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ #SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดในราคาที่จ่ายได้ #SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน #SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ #SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน #SDG13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล #SDG15 ระบบนิเวศบนบก #SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
บรรณานุกรม
Ajay Chhibber. Ajay Chhibber (Editor). (2020). Measuring Human Development for the Anthropocene. United States of America: Human Development Report Office.
David A. Hastings. Amarakoon Bandara (Editor). (2009). From Human Development to Human Security: A Prototype Human Security Index. Thailand,Bangkok: Economic and Social Commission for Asia and the Pacific.
Hastings, D. A., & Org, H. (2011). The Human Security Index: An Update and a New Release. Retrieved March 8, 2022, from http://www.HumanSecurityIndex.org
David Bosold, Sascha Werthes. (2005). Human Security in Practice: Canadian and Japanese Experiences. Internationale Politik und Gesellschaft (IPG)/International Politics and Society, 2005(1),. 84 – 101.
Heriberto Tapia. United Nations Development Programme (UNDP) (Editor). (2022). New threats to human security in the Anthropocene Demanding greater solidarity. New York: UNDP.
Marco Di Liddo. Marco Di Liddo (Editor). (2021). The impact of Covid-19 on Human Security. Rome,Italy: Farnesina.
Marco Tavanti. (2016). THE Sustainable Development Goals : A Brief History And Progress Overview. Retrieved March 8, 2022, from https://www.sdg.services/uploads/9/9/2/1/9921626/brief_history_of_sdgs.pdf
Martin, M., & Owen, T. (2010). The Second Generation of Human Security: Lessons from the UN and EU Experience. International Affairs (Royal Institute of International Affairs 1944-), 86(1), 211–224. http://www.jstor.org/stable/40389095
Morrow, Nathan Mock, Nancy B. Gatto, Andrea Lemense, Julia Hudson, Magaret. Hossein Azadi (Editor). (2022). Protective Pathways: Connecting Environmental and HumanSecurity at Local and Landscape Level with NLP and GeospatialAnalysis of a Novel Database of 1500 Project Evaluations. Switzerland: MPDI.
NEWMAN, E. (2010). Critical human security studies. Review of International Studies, 36(1), 77–94. http://www.jstor.org/stable/40588105
Saul Takahashi. Saul Takahashi (Editor). (2014). Human Rights, Human Security, and State Security. United States of America: ABC-CLIO, LLC.
The United Nations Trust Fund for Human Security (UNTFHS). (2010). What is human security. Retrieved March 8, 2022, from https://www.iidh.ed.cr
United Nations Development Programme (UNDP). United Nations Development Programme (UNDP) (Editor). (1994). Human Development Report 1994. New York: Oxford University Press
United Nations Development Programme (UNDP). United Nations Development Programme (UNDP) (Editor). (2020). The Next Frontier:Human Development and the Anthropocene. Thailand, Bangkok: UNDP.
United Nations Development Programme (UNDP). (2022). Global Human Development Indicators. Retrieved March 8, 2022, https://hdr.undp.org/en/countries/profiles