เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เป็นเวทีที่สนับสนุนการสื่อสารความรู้ไปสู่นโยบายอย่างมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย หรือ Thailand Sustainable Development Forum (TSDF) ผ่านการสร้างกลไกในการนำข้อมูลไปสู่การกำหนดวาระนโยบาย จัดทำหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อแสดงข้อมูลสถานการณ์ สถานะ และช่องว่างการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและการทำงานร่วมกันของนักวิชาการและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการข้ามศาสตร์ และให้เกิดความเชื่อมโยงกับคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) และหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทย
กิจกรรมของเวที TSDF เริ่มต้นด้วย กิจกรรมพรีฟอรัม – เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Pre-forum of Thailand Sustainable Development Forum 2022: Setting the Scene) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ตามมาด้วยการประชุม Working Group Meeting ทั้ง 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ (Experts Working Group Meeting) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 และ ประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders Working Group Meeting) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565 ผ่านการวิเคราะห์ประเด็นที่เชื่อมโยงกับ Transformation themes บนกรอบแนวคิดการดำเนินงานอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า ‘INSIGHT’ ซึ่งประกอบด้วย
- I – Institutional and Policy Coherence
- N – Network and Partnership
- S – Science Technology and Innovation
- I – Information System and Statistics
- G – Governance and Leadership
- H – Human Resource and Capacity Building
- T – Treasury and Finance for Development
และกิจกรรมล่าสุด การประชุมหารือผู้เชี่ยวชาญระดับสูง (High-Level Experts Meeting) เมื่อวันที่ 27-28 มกราคม 2565 ที่ผ่านมานี้ มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วน โดยนำผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสถาบันสำคัญของประเทศ อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (คณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์) นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ (มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ) ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ (กรรมการอำนวยการสำนักงานสภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมแห่งชาติ) คุณหทัยชนก ชินอุปราวัฒน์ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) ดร.จักรพงศ์ พงศ์ธไนศวรรย์ (สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
และหน่วยงานเจ้าภาพร่วม (co-host) อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF Thailand) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ธนาคารโลก (World bank) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ผลจากประชุมครั้งดังกล่าวได้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ มากมาย อาทิ
- การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล โดยพบว่ามีข้อมูลในบริบทของประเทศไทยที่มีคุณภาพที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ (open data) ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนสามารถประเมินการผลสัมฤทธิ์ของทำงานของภาคส่วนอื่นได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถทำความเข้าใจสถานการณ์และปัญหาร่วมกัน และนำไปใช้เพื่อประกอบการกำหนดมาตรการ/นโยบายที่เหมาะสม
- การขับเคลื่อนทุกภาคส่วนและทุกระดับสอดประสานกัน จึงควรสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนรายประเด็น ในรูปแบบ “Partnership for Change” เพื่อขับเคลื่อนตามมิติของแต่ละพื้นที่
- การขับเคลื่อนผ่านการวิจัยและนวัตกรรม ควรมีขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งระดับชาติและพื้นที่อย่างบูรณาการ ผ่านการวิจัยและนวัตกรรม
และในแง่การเชื่อมโยงกลไกการทำงานไปสู่นโยบายในปัจจุบัน ได้ข้อเสนอแนะดังนี้
- กลไกการทำงานเน้นการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (social impact) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านการกำหนดวาระทางสังคม (social agenda) ที่มีคุณค่าต่อสังคม และหาทางแก้ปัญหา
- กลไกที่ใช้ทุนทางสังคมและทุนทางปัญญา (social and intellectual capitals) ของผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และนับถอยหลังกิจกรรมสุดท้ายอย่าง เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2565 (Thailand Sustainable Development Forum 2022) ที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ เป็นวาระที่ประเทศไทยเองตื่นตัวและตั้งตารอคอยการเปิดข้อมูลรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565 และ Call to Action ซึ่งการนำเสนอข้อมูลการพัฒนาที่ยั่งยืนในครั้งนี้ มีความคาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาผ่านไปสู่การขับเคลื่อนการผ่านดำเนินกิจกรรม/งานด้านข้อมูล การสอดประสานการดำเนินงานของทุกภาคส่วนและทุกระดับ และผ่านงานวิจัย และนวัตกรรม ในมิติต่าง ๆ ได้อย่างไร และจะมีผลอย่างไร โปรดติดตามต่อไปในเร็ว ๆ นี้ …
สุดท้ายนี้ทางผู้จัดงาน ผู้ร่วมจัด และหุ้นส่วนความร่วมมือทุกฝ่าย หวังว่า เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (Thailand Sustainable Development Forum) นี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ของไทย เพื่อนำไปสู่ขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเกิดการตระหนัก และมีเป้าหมายเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2573 อย่างเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ TSDF 2022 ได้ที่ – Director’s Note: 16: บันทึกจากการประชุม Thailand Sustainable Development Forum 2022 ในลิงก์ด้านล่าง .
Last Updated on มีนาคม 25, 2022