ข้อมูลล่าสุดจาก ‘Air Quality Database 2022’ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ระบุว่า ประชากรโลกประมาณ 99% กำลังประสบกับมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานที่ WHO กำหนด โดยประชากรในประเทศที่มีรายได้ต่ำและประเทศที่มีรายได้ปานกลางเป็นผู้ที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวมากที่สุด
Air Quality Database หรือ ฐานข้อมูลด้านคุณภาพอากาศนี้เก็บข้อมูลมลพิษทางอากาศอันเกิดจากฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) และขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จากมากกว่า 6,000 เมืองใน 117 ประเทศในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2562 นับเป็นการเก็บข้อมูลความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ระดับพื้นดินเป็นครั้งแรกและยังถือว่าเป็นฐานข้อมูลคุณภาพอากาศที่มีความครอบคลุมมากที่สุดเนื่องจากมีการเพิ่มการเก็บข้อมูล PM2.5 และ PM10 จากกว่า 2,000 เมือง/ชุมชน ซึ่งมากกว่าในการอัปเดตฐานข้อมูลครั้งก่อนหน้าเมื่อปีพ.ศ. 2554 ถึง 6 เท่า โดยมลพิษทางอากาศเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในกิจกรรมแต่ละวันของมนุษย์ และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่าล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจและการทำงานของหัวใจ และได้คร่าชีวิตประชากรกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกก่อนเวลาอันควร
โดยหากยึดตามเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศของ WHO (Air Quality Guidelines: AQGs) ยังพบว่า มีเมืองในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางน้อยกว่า 1% ที่มีคุณภาพอากาศเป็นไปตามเกณฑ์แนะนำของ WHO ขณะที่ มีเมืองในประเทศที่มีรายได้สูง 17% ที่มีคุณภาพอากาศต่ำกว่าเกณฑ์แนะนำของ WHO ในด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5 หรือ PM10)
แม้ประเทศที่มีรายได้สูงยังเผชิญกับปัญหาค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ในปริมาณมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบในระดับโลกแล้วจะพบว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเป็นกลุ่มประเทศที่เผชิญกับทั้งระดับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในปริมาณที่สูงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูง โดยยังมีค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ที่สูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูงประมาณ 1.5 เท่าอีกด้วย
จากข้อมูลการศึกษาล่าสุดที่ชี้ถึงปัญหาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจนก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นพิษต่อสุขภาพของประชาชน ยิ่งย้ำให้ WHO เห็นถึงความสำคัญของการควบคุมปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการสร้างมลพิษทางอากาศที่ต้องเร่งลงมือทำให้ได้จริง โดย WHO เองได้ทำการปรับเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศระดับโลก (AQG) ใหม่ในรอบ 15 ปี เพื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้นสำหรับการควบคุมมลพิษทางอากาศเมื่อปีพ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา และจากการข้อค้นพบบนฐานข้อมูลคุณภาพอากาศปีล่าสุดนี้ ยังได้มีข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการปรับปรุงคุณภาพของอากาศที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ WHO การเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การควบคุมการเผาผลาญเชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์และการเผาของเสียจากพืชผลทางการเกษตร
● อ่านบทความและข่าวที่เกี่ยวข้อง:
– ซีรีส์ SDG Insights ส่องเพื่อนบ้าน – การจัดการปัญหาฝุ่นละอองในประเทศเพื่อนบ้านของไทย
– รายงาน UNEP ชี้ให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกขาดกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศภายนอกอาคาร
– WHO ออกเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 15 ปี หวังช่วยลดการเสียชีวิตจาก PM2.5 ได้หลายล้านคนต่อปี
– 4 องค์การด้านสุขภาพเรียกร้องให้ลด “มลพิษทางอากาศ” ชี้เป็นหนึ่งตัวการโรคหัวใจและหลอดเลือด และความเสี่ยงต่อโควิด-19
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่นๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2573
ที่มา:
– Poorer nations lag behind higher-income countries in air quality standards: WHO (Reuters)
– Billions of people still breathe unhealthy air: new WHO data (WHO)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย