Site icon SDG Move

WHO มีแผนที่จะส่งยาต้านไวรัส เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในยูเครน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับ แผนงานฉุกเฉินของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเพื่อแก้ปัญหาโรคเอดส์ทั่วโลก (PEPFAR) ตลอดจนหน่วยงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง มีแผนที่จะจัดส่งยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมรวมเม็ด (antiretroviral drug TLD) เพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศยูเครนโดยมีการจัดหายาไว้แล้วจำนวน 209,000 ชุด

ประเทศยูเครนมีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 260,000 คน ซึ่งนับเป็นอันดับสองของทวีปยุโรป รองจากประเทศรัสเซีย ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศยูเครนกำลังอยู่ระหว่างการรักษาโดยการรับยาต้านไวรัส นอกจากนี้ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่าจำนวนยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศยูเครนเหลือจำนวนเพียงพอสำหรับการใช้ไม่ถึงเดือน

ยาต้านไวรัสเอชไอวี เป็นเวชภัณฑ์สำคัญมากสำหรับผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งไม่เพียงแค่ทำหน้าที่ในการควบคุมปริมาณไวรัสในร่างกาย แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเผยแพร่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย ทั้งนี้ หากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่สามารถรับยาต้านไวรัสได้อย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดอาการดื้อยา ซึ่งจะส่งผลกระทบในการรักษาสุขภาพของผู้รับยาต้านเชื้อไวรัสในระยะยาวได้

จากข้อมูลของ WHO ยาต้านไวรัสชุดแรกได้ถูกจัดส่งผ่านชายแดนประเทศโปแลนด์ ก่อนที่จะกระจายยาโดยส่งให้ศูนย์บริการเอชไอวีในประเทศยูเครนทั่วประเทศต่อไป

“ประเทศยูเครนซึ่งเพิ่งจะกำลังเริ่มก้าวผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากด้านเอชไอวีไปได้ ทว่าสงครามในครั้งนี้จะทำให้การพัฒนาด้านสาธารณสุขของประเทศย่ำแย่ลง เราจะไม่ยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” กล่าวโดย Henri P. Kluge ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคยุโรป

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้

แหล่งที่มา: 
WHO to supply HIV drugs to Ukraine (Reuters)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

Exit mobile version