SDG Updates | เมื่อความเสี่ยงหลักของทศวรรษคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – สรุปประเด็นสำคัญในรายงาน Global Risks Report 2022

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมานี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2565 (Global Risks Report 2022) รายงานฉบับสำคัญที่มีผู้ติดตามอ่านในแต่ละปี เพื่อให้ได้ทราบว่า“ความเสี่ยง” ใดที่ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการสะท้อนว่าโลกกำลังเผชิญ รวมทั้งความเสี่ยงใดที่มีนัยยะของความเร่งด่วนที่จะต้องรีบจัดการ

SDG Updates วันนี้ นำเสนอบทสังเคราะห์จากรายงานดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลการชี้แนะที่ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีความหมายต่อผู้มีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบายระดับชาติที่จะนำไปศึกษาและเปรียบเทียบกับการระบุความเสี่ยงในการจัดลำดับประเด็นวาระสำคัญของชาติ รวมถึงการตระหนักว่าประเด็นใดที่กำลังเป็นความเสี่ยงระดับโลก (global risks) ในปีนี้ ใน 5 ปีข้างหน้า หรือในห้วง 10 ปีต่อจากนี้ไป หรือท้ายที่สุดแล้ว คือการสร้างปัจจุบันที่พร้อมรับมือกับความผันผวนในอนาคต (resilience)


ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานความเสี่ยงโลกฉบับที่ 17 นี้ เป็นผลผลิตจากการเก็บข้อมูลผ่านการสำรวจ Global Risks Perception Survey (GRPS) ของสภาเศรษฐกิจโลก ที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2549 สำหรับปีนี้ได้มีการปรับปรุงเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกที่สดใหม่และกว้างขวางขึ้น รวบรวมจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงและผู้นำเกือบ 1,000 คนจากวงการธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยได้เปรียบเทียบความเสี่ยง 37 ประการที่ถูกจัดกลุ่มใน 5 มิติของความเสี่ยง ประกอบด้วยมิติเศรษฐกิจ (Economic) มิติสังคม (Societal) มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) มิติภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และมิติเทคโนโลยี (Technological) ทั้งนี้ เนื้อหาการสำรวจในปี 2564 – 2565 สะท้อนมุมองศาของความเสี่ยงได้ ดังนี้

  • COVID-19 Hindsight: การเข้าใจปัญหาโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยศึกษาบทเรียนที่ได้จากสถานการณ์โควิด-19 จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  • Future Outlook: แนวโน้มในอนาคต ทั้งมุมมองความเสี่ยงของโลก และการลดผลกระทบของความเสี่ยงลง
  • Horizon: ขอบเขตของความเสี่ยง สะท้อนการรับรู้ด้านความเสี่ยงของผู้ตอบแบบสำรวจ และความรู้สึกว่าความเสี่ยงใดที่มีความเร่งด่วน (urgency) โดยขอบเขตของความเสี่ยงเป็นส่วนสะท้อนทางเลือกของการตัดสินใจ รวมถึงว่าผู้ที่มีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบายอาจต้องเผชิญ “การแลกอะไรไปกับอะไร” (trade-off) ในทางเลือกหนึ่ง ๆ ด้วย
  • Severity: ความรุนแรงของความเสี่ยง เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในส่วนนี้ยังพูดถึง Effects หรือ ผลกระทบของความเสี่ยง ที่ให้ผู้ตอบแบบสำรวจพิจารณาผลกระทบที่เกี่ยวข้องร่วมกับความรุนแรงของความเสี่ยง
  • International Mitigation: การลดผลกระทบระหว่างประเทศ เป็นการประเมินความพยายามระหว่างนานาประเทศใน 15 พื้นที่ที่มีการกำกับดูแลทั่วโลก เพื่อชี้ความสำเร็จ รวมถึงโอกาสในการดำเนินการและเสริมความร่วมมือระดับโลกต่อไป
  • คำถามปลายเปิดเกี่ยวกับความเสี่ยง แนวโน้ม และสัญญาณเตือนโดยผู้เชี่ยวชาญ

.

| ปี 2565 ที่ไม่พ้นไปจากผลกระทบของโควิด-19: โลกที่แบ่งแยกกันมากกว่าเดิม

.

ตั้งแต่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ความเสี่ยงในมิติสังคมและความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อมแย่ลงมากที่สุด โดยประเด็นที่ติดอันดับต้นคือ ความเป็นปึกแผ่นของสังคมที่พังทลายลง วิกฤติความเป็นอยู่ โรคติดต่อ และสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ตามมาด้วยวิกฤติหนี้ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ล้มเหลว ความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัล และปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงที่มีต่อองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

นอกจากตัวเชื้อโรค ผลกระทบของวิกฤติสาธารณสุขที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมยังคงเป็นภัยสำคัญที่ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ อาทิ การเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจและรายได้ ได้นำมาซึ่งความแตกแยกทางสังคมและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกัน มากกว่าไปนั้น ปัญหาเรื้อรังอย่างมิติเศรษฐกิจหากพิจารณาต่อไปในระยะ 2 ปีข้างหน้านี้ (พ.ศ. 2567) รายงานฯ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังซบเซา โดยจะเติบโตน้อยกว่าระดับก่อนโรคระบาดที่ 2.3% ราคาข้าวของเครื่องใช้ ภาวะเงินเฟ้อ และหนี้สินจะพุ่งสูงขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ส่วนเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตลดลง 5.5% จากระดับการเติบโตของ GDP ที่ตั้งไว้ก่อนโรคระบาด ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาจะเติบโตเกินระดับที่ตั้งไว้ก่อนโรคระบาดที่ 0.9% สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในสองกลุ่มเศรษฐกิจนี้ที่ออกห่างจากกันมากขึ้น

การแบ่งแยกและความตึงเครียดทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเช่นนี้ ยิ่งทำให้การประสานความร่วมมือซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการรักษาแผลเป็นจากโรคระบาดใหญ่เป็นไปได้ยากยิ่ง ยังพาลให้โลกคลาดสายตาและพลาดที่จะจับมือเพื่อร่วมกันต่อกรกับความเสี่ยงใหม่ที่กำลังจะมาถึง อย่างความล้มเหลวของการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate transition disorder) ความเปราะบางต่อภัยไซเบอร์ที่มากขึ้น (increased cyber vulnerabilities) อุปสรรคของการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่สาหัสขึ้น (greater barriers to international mobility) ไปจนถึงการแข่งขันทางอวกาศ (competition in space)

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ความเสี่ยงระยะยาวของโลกในทศวรรษต่อจากนี้


หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใกล้ตัวที่สุด มีอาทิ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และคลื่นความร้อนที่เกิดยาวนานขึ้น โดยการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อโควิด-19 ยังทำให้เห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทะยานอย่างรวดเร็วกว่าในปี 2563 รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ต่อที่ประชุม COP26 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.5°C กล่าวได้ว่า แม้ทุกภาคส่วนรับรู้ถึงแรงกดดันมหาศาลในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

แต่การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วที่สามารถบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้ในระยะยาว อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ในระยะสั้น อาทิ การทำให้ผู้คนว่างงานฉับพลันจากการปิดกิจการในอุตสากรรมที่ปล่อยคาร์บอนอย่างหนัก แต่หากเปลี่ยนผ่านช้าเกินไป ก็เป็นการปล่อยปละให้สิ่งแวดล้อมยิ่งเสื่อมโทรมและกลายเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมมากขึ้น นับเป็นทางแยกของความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยเน้นให้เกิดความร่วมมือมากที่สุด

ความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัลและภัยคุกคามความมั่นคงไซเบอร์: ความเสี่ยงระยะสั้นและระยะกลางที่ไม่ควรละเลย


โควิด-19 ทำให้สังคมย้ายมาใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลจนกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกับที่อาชญากรรมไซเบอร์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยไม่เพียงกระทบต่อเรื่องเงินทองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด (Critical Infrastructure: CI) ความเป็นปึกแผ่นของสังคม ข่าวเท็จ/บิดเบือนที่แพร่หลายที่กระทบต่อสุขภาพจิต เป็นต้น กล่าวได้ว่า ความมั่นคงปลอดภัยของโลกดิจิทัลมีความสำคัญยิ่งต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ

อุปสรรคต่อการอพยพ-โยกย้ายถิ่นฐานที่มีมากขึ้นกว่าเดิม


พิษเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความขัดแย้งและการดำเนินคดีทางการเมือง เป็นสาเหตุอันดับต้นที่บังคับให้ผู้คนจำใจต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ทว่าการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในยุคของโรคระบาดกลับทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น จากการที่ประเทศปลายทางตั้งนโยบายปกป้องเศรษฐกิจในประเทศและการกำหนดกฎระเบียบของการเดินทางเข้าประเทศที่เข้มงวดขึ้น ล้วนมีผลต่อโอกาสด้านอาชีพสำหรับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน โอกาสในการใช้ชีวิตของผู้ลี้ภัย โดยมีผลต่อการส่งเงินกลับบ้าน วิกฤติทางมนุษยธรรมและความเป็นอยู่ การแบ่งขั้วทางสังคม (societal polarization) และช่องว่างทางรายได้ของแรงงาน

การแข่งขันทางอวกาศ: พื้นที่ใหม่ที่ต้องมีการกำกับดูแล


ความตึงเครียดใหม่ภายในโลกยังรวมไปถึงพื้นที่ในอวกาศ ความเสี่ยงที่มาจากการแข่งขันในกิจกรรมทางการทหารและบริษัทเทคโนโลยีที่กระทำเพื่อการค้า ล้วนส่งสัญญาณว่าอวกาศกำลังกลายเป็นปราการความเสี่ยงใหม่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของโลกและวัตถุในอวกาศที่แออัดจนรบกวนวงโคจรรอบโลก ตลอดจนการที่อวกาศเป็นพื้นที่ที่ไม่มีรัฐบาลประเทศใดถือเอกสิทธิ์เป็นผู้กำกับดูแล การแข่งขันทางอวกาศที่ว่านี้ย่อมนำมาสู่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่นานาประเทศจะร่วมมือกันจัดการทรัพยากรของทุกคนอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

.

| 0 – 10 ปี: ตัวเลขสะท้อนความเสี่ยงและความเร่งด่วนในแต่ละระยะเวลา

.

เมื่อหลายประเด็นเป็นความเสี่ยงหรือเป็นภัยคุกคามต่อโลก การที่สามารถระบุได้ชัดเจนขึ้นว่าความเสี่ยงใดมีนัยยะของความเร่งด่วนมากกว่าโดยเปรียบเทียบจึงสำคัญในแง่ของการวางแผนทางเลือกในการจัดการและการรับมือ เช่นในรายงานความเสี่ยงโลกที่ผู้ตอบแบบสำรวจสะท้อนมุมมองถึงความเสี่ยงที่ตนเชื่อว่าเป็นปัญหารุนแรงตามขอบเขตระยะเวลาที่กำหนดอยู่ 3 ช่วงเวลา ได้แก่

  • ความเสี่ยงระยะสั้น: 0 – 2 ปี
  • ความเสี่ยงระยะกลาง: 2 – 5 ปี
  • ความเสี่ยงระยะยาว: 5 – 10 ปี

ในห้วง 2 ปีนี้ ความเสี่ยงที่ยังน่ากังวลคือมิติสังคมและมิติสิ่งแวดล้อมจากสถานการณ์ของโรคระบาดดังที่กล่าวข้างต้น โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจน้อยกว่า 16% ที่ “มองในแง่บวก” ว่าอนาคตน่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่ส่วนมาก (84%) รู้สึก “กังวล” กับอนาคตในภายภาคหน้า นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 11% เชื่อมั่นว่าโลกจะเร่งเครื่องในการฟื้นตัวได้ภายในปี พ.ศ. 2567 ส่วนอีก 89% มองอนาคตระยะใกล้นี้ว่าจะเต็มไปด้วยความผันผวน แตกแยก และหายนะที่จะมีพุ่งสูงขึ้น

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ความรู้สึก “มองโลกในแง่ลบ” ที่แพร่หลายอย่างที่เป็นนี้อาจนำไปสู่การสร้างวังวนแห่งภาพลวงตา ที่จะยิ่งทำให้การลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้นกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าเราจะยังเผชิญกับ “ความน่าประหลาดใจ” อีกนานัปการ หรือจุดตัดที่จะแบ่งแยกประชากรในโลกออกเป็น “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้”

ส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจยังมองว่าความเสี่ยงในมิติสังคมและมิติสิ่งแวดล้อมเป็นมิติที่ “น่ากังวลมากที่สุด” โดยเมื่อเทียบกับกรอบระยะเวลาในอีก 10 ปีหรือมากกว่า 10 ปีนี้ คะแนนที่นำขึ้นมาเป็นความเสี่ยงระยะยาว 5 อันดับใน 10 อันดับที่น่ากังวลมากที่สุดโดยวัดจากความรุนแรง (severity) ตกเป็นของประเด็นในมิติสิ่งแวดล้อมหรือ “สุขภาวะของโลก” (health of the planet) โดยความเสี่ยงที่รุนแรงมากที่สุด 3 อันดับแรกเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น ได้แก่ ความล้มเหลวในการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณจากผู้ตอบแบบสำรวจที่กังวลถึงวิกฤติหนี้และการเผชิญหน้ากันทางภูมิเศรษฐศาสตร์อีกด้วย (Geoeconomic confrontations)

ทั้งนี้ หากสำรวจความพยายามของนานาประเทศในการลดความเสี่ยงลง ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เชื่อว่าปัจจุบันยังมีการดำเนินการที่น้อยเกินไป อย่างในกรณีของการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีผู้ตอบแบบสำรวจที่สูงถึง 77% ระบุว่า ความพยายามในประเด็นนี้ “ยังไม่เริ่มต้น” หรือ “อยู่ในช่วงการพัฒนาระยะแรก” เพียงเท่านั้น ขณะที่ความร่วมมือระดับโลกเพื่อบรรเทาวิกฤติมนุษยธรรมได้ถูกท้าทาย โดยเฉพาะที่หลายประเทศพัฒนาแล้วหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศก่อน

ความเสี่ยงระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว: เมื่อใดที่ความเสี่ยงจะกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญของโลก

ภาพจาก: Global Risks Report 2022: What you need to know (World Economic Forum)

.

สรุปความเสี่ยงที่ควรรู้จากรายงานความเสี่ยงโลก ประจำปี 2565

  • ความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อม เป็นความเสี่ยงที่ปรากฏทั้งมุมมองความเสี่ยงระยะสั้นและระยะยาว
  • 5 ใน 10 อันดับความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อม มีทั้งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ และวิกฤติทรัพยากรทางธรรมชาติ
  • ความล้มเหลวในการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความเสี่ยงที่สำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งมุมมองความเสี่ยงระยะกลางและระยะยาว โดยมีความเป็นไปได้ที่จะก่อความเสียหายอย่างเลวร้ายต่อสังคม เศรษฐกิจ และโลกใบนี้
  • 3 อันดับแรกจาก 10 อันดับความเสี่ยงตามความรุนแรงในระยะ 10 ปีข้างหน้า ล้วนเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-related) ทั้งสิ้น
  • ความเสี่ยงในมิติสังคมคิดเป็น 1 ใน 3 ของ 10 อันดับความเสี่ยงตามความรุนแรงในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยประเด็นแรกยังคงเป็นเรื่อง ความเป็นปึกแผ่นทางสังคมที่พังทลาย

.

| ทิ้งท้าย: 5 บทเรียนเตรียมตัวให้พร้อมกับความท้าทายในอนาคต

.

ขณะที่โลกเต็มไปด้วยความท้าทายที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน จุดเริ่มต้นของความพยายามลดความเสี่ยงของโลกมีกุญแจดอกสำคัญที่การเพิ่มความร่วมมือ และการขยันประเมินสถานการณ์/การดำเนินการอยู่เสมอ โดยสามารถลงมือได้จาก 5 บทเรียนที่สภาเศรษฐกิจโลกสรุปไว้ ดังนี้

01 พัฒนากรอบการลดความเสี่ยงอย่างเป็นองค์รวม แทนที่กรอบซึ่งมุ่งเน้นกับความเสี่ยงหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยให้สามารถจินตนาการถึงภาพใหญ่ของฉากทัศน์ที่แย่ที่สุดได้ ทั้งกรอบที่ทำให้เห็นความเสี่ยงหลายประการยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบที่นึกไม่ถึงด้วย

02 คำนึงถึงระบบนิเวศทั้งหมด ที่นอกเหนือไปจากจุด/ระบบนิเวศ ณ ที่เราอยู่หรือที่เราดำเนินการ

03 เปิดรับกลยุทธ์การตั้งรับและปรับตัวที่หลากหลาย โดยตระหนักว่าไม่มีกลยุทธ์ใดที่จะสัมฤทธิ์ผลในทุกกรณี กล่าวคือ ปัญหาที่มีความซับซ้อนจำต้องอาศัยความพยายามที่ต่อเนื่องและการปรับตัวอยู่เสมอ

04เชื่อมโยงความพยายามในการตั้งรับและปรับตัวในภารกิจหนึ่งร่วมกับเป้าหมายอื่น อาทิ ความพยายามในด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม

05 ให้คิดว่าการตั้งรับและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงเป็นการเดินทางไกล เพราะสิ่งสำคัญคือการปรับปรุงและปรับตัวระหว่างทาง

ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง


เพื่อให้เข้าใจปัจจุบัน ความเสี่ยง และเรื่องของอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
อย่าลืมติดตามซีรีส์ Futures Literacy ได้ตลอดทั้งเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 ที่ SDG Move TH เร็ว ๆ นี้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Executive Summary: Global Risks Reports 2022 (World Economic Forum)
Key Finding: Global Risks Reports 2022 (World Economic Forum)
Chapter 2. Disorderly Climate Transition (World Economic Forum)
Chapter 3. Digital Dependencies and Cyber Vulnerabilities (World Economic Forum)
Chapter 4. Barriers to Migration (World Economic Forum)
Global Risks Report 2022: What you need to know (World Economic Forum)
Visualized: A Global Risk Assessment of 2022 and Beyond (Visual Capitalist)
เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ส่องปัจจัยเสี่ยงโลกในปี 2022 (VOA Thai)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 1, 2022

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น