เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมานี้ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ได้เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2565 (Global Risks Report 2022) รายงานฉบับสำคัญที่มีผู้ติดตามอ่านในแต่ละปี เพื่อให้ได้ทราบว่า“ความเสี่ยง” ใดที่ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการสะท้อนว่าโลกกำลังเผชิญ รวมทั้งความเสี่ยงใดที่มีนัยยะของความเร่งด่วนที่จะต้องรีบจัดการ
SDG Updates วันนี้ นำเสนอบทสังเคราะห์จากรายงานดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลการชี้แนะที่ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีความหมายต่อผู้มีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบายระดับชาติที่จะนำไปศึกษาและเปรียบเทียบกับการระบุความเสี่ยงในการจัดลำดับประเด็นวาระสำคัญของชาติ รวมถึงการตระหนักว่าประเด็นใดที่กำลังเป็นความเสี่ยงระดับโลก (global risks) ในปีนี้ ใน 5 ปีข้างหน้า หรือในห้วง 10 ปีต่อจากนี้ไป หรือท้ายที่สุดแล้ว คือการสร้างปัจจุบันที่พร้อมรับมือกับความผันผวนในอนาคต (resilience)
ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานความเสี่ยงโลกฉบับที่ 17 นี้ เป็นผลผลิตจากการเก็บข้อมูลผ่านการสำรวจ Global Risks Perception Survey (GRPS) ของสภาเศรษฐกิจโลก ที่เก็บข้อมูลมาตั้งแต่ปี 2549 สำหรับปีนี้ได้มีการปรับปรุงเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกที่สดใหม่และกว้างขวางขึ้น รวบรวมจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงและผู้นำเกือบ 1,000 คนจากวงการธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยได้เปรียบเทียบความเสี่ยง 37 ประการที่ถูกจัดกลุ่มใน 5 มิติของความเสี่ยง ประกอบด้วยมิติเศรษฐกิจ (Economic) มิติสังคม (Societal) มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) มิติภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และมิติเทคโนโลยี (Technological) ทั้งนี้ เนื้อหาการสำรวจในปี 2564 – 2565 สะท้อนมุมองศาของความเสี่ยงได้ ดังนี้
- COVID-19 Hindsight: การเข้าใจปัญหาโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยศึกษาบทเรียนที่ได้จากสถานการณ์โควิด-19 จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
- Future Outlook: แนวโน้มในอนาคต ทั้งมุมมองความเสี่ยงของโลก และการลดผลกระทบของความเสี่ยงลง
- Horizon: ขอบเขตของความเสี่ยง สะท้อนการรับรู้ด้านความเสี่ยงของผู้ตอบแบบสำรวจ และความรู้สึกว่าความเสี่ยงใดที่มีความเร่งด่วน (urgency) โดยขอบเขตของความเสี่ยงเป็นส่วนสะท้อนทางเลือกของการตัดสินใจ รวมถึงว่าผู้ที่มีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบายอาจต้องเผชิญ “การแลกอะไรไปกับอะไร” (trade-off) ในทางเลือกหนึ่ง ๆ ด้วย
- Severity: ความรุนแรงของความเสี่ยง เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ในส่วนนี้ยังพูดถึง Effects หรือ ผลกระทบของความเสี่ยง ที่ให้ผู้ตอบแบบสำรวจพิจารณาผลกระทบที่เกี่ยวข้องร่วมกับความรุนแรงของความเสี่ยง
- International Mitigation: การลดผลกระทบระหว่างประเทศ เป็นการประเมินความพยายามระหว่างนานาประเทศใน 15 พื้นที่ที่มีการกำกับดูแลทั่วโลก เพื่อชี้ความสำเร็จ รวมถึงโอกาสในการดำเนินการและเสริมความร่วมมือระดับโลกต่อไป
- คำถามปลายเปิดเกี่ยวกับความเสี่ยง แนวโน้ม และสัญญาณเตือนโดยผู้เชี่ยวชาญ
.
| ปี 2565 ที่ไม่พ้นไปจากผลกระทบของโควิด-19: โลกที่แบ่งแยกกันมากกว่าเดิม
.
ตั้งแต่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ความเสี่ยงในมิติสังคมและความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อมแย่ลงมากที่สุด โดยประเด็นที่ติดอันดับต้นคือ ความเป็นปึกแผ่นของสังคมที่พังทลายลง วิกฤติความเป็นอยู่ โรคติดต่อ และสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ตามมาด้วยวิกฤติหนี้ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ล้มเหลว ความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัล และปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงที่มีต่อองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
นอกจากตัวเชื้อโรค ผลกระทบของวิกฤติสาธารณสุขที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมยังคงเป็นภัยสำคัญที่ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ อาทิ การเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศที่มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจและรายได้ ได้นำมาซึ่งความแตกแยกทางสังคมและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างกัน มากกว่าไปนั้น ปัญหาเรื้อรังอย่างมิติเศรษฐกิจหากพิจารณาต่อไปในระยะ 2 ปีข้างหน้านี้ (พ.ศ. 2567) รายงานฯ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังซบเซา โดยจะเติบโตน้อยกว่าระดับก่อนโรคระบาดที่ 2.3% ราคาข้าวของเครื่องใช้ ภาวะเงินเฟ้อ และหนี้สินจะพุ่งสูงขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ส่วนเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตลดลง 5.5% จากระดับการเติบโตของ GDP ที่ตั้งไว้ก่อนโรคระบาด ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาจะเติบโตเกินระดับที่ตั้งไว้ก่อนโรคระบาดที่ 0.9% สะท้อนให้เห็น “ช่องว่าง” ของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในสองกลุ่มเศรษฐกิจนี้ที่ออกห่างจากกันมากขึ้น
การแบ่งแยกและความตึงเครียดทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเช่นนี้ ยิ่งทำให้การประสานความร่วมมือซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการรักษาแผลเป็นจากโรคระบาดใหญ่เป็นไปได้ยากยิ่ง ยังพาลให้โลกคลาดสายตาและพลาดที่จะจับมือเพื่อร่วมกันต่อกรกับความเสี่ยงใหม่ที่กำลังจะมาถึง อย่างความล้มเหลวของการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate transition disorder) ความเปราะบางต่อภัยไซเบอร์ที่มากขึ้น (increased cyber vulnerabilities) อุปสรรคของการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่สาหัสขึ้น (greater barriers to international mobility) ไปจนถึงการแข่งขันทางอวกาศ (competition in space)
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ความเสี่ยงระยะยาวของโลกในทศวรรษต่อจากนี้
หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใกล้ตัวที่สุด มีอาทิ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และคลื่นความร้อนที่เกิดยาวนานขึ้น โดยการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อโควิด-19 ยังทำให้เห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทะยานอย่างรวดเร็วกว่าในปี 2563 รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDCs) ต่อที่ประชุม COP26 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.5°C กล่าวได้ว่า แม้ทุกภาคส่วนรับรู้ถึงแรงกดดันมหาศาลในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
แต่การเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วที่สามารถบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้ในระยะยาว อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ในระยะสั้น อาทิ การทำให้ผู้คนว่างงานฉับพลันจากการปิดกิจการในอุตสากรรมที่ปล่อยคาร์บอนอย่างหนัก แต่หากเปลี่ยนผ่านช้าเกินไป ก็เป็นการปล่อยปละให้สิ่งแวดล้อมยิ่งเสื่อมโทรมและกลายเป็นโลกที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมมากขึ้น นับเป็นทางแยกของความเสี่ยงที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยเน้นให้เกิดความร่วมมือมากที่สุด
ความไม่เท่าเทียมทางดิจิทัลและภัยคุกคามความมั่นคงไซเบอร์: ความเสี่ยงระยะสั้นและระยะกลางที่ไม่ควรละเลย
โควิด-19 ทำให้สังคมย้ายมาใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลจนกลายเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกับที่อาชญากรรมไซเบอร์ก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยไม่เพียงกระทบต่อเรื่องเงินทองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด (Critical Infrastructure: CI) ความเป็นปึกแผ่นของสังคม ข่าวเท็จ/บิดเบือนที่แพร่หลายที่กระทบต่อสุขภาพจิต เป็นต้น กล่าวได้ว่า ความมั่นคงปลอดภัยของโลกดิจิทัลมีความสำคัญยิ่งต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ
อุปสรรคต่อการอพยพ-โยกย้ายถิ่นฐานที่มีมากขึ้นกว่าเดิม
พิษเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความขัดแย้งและการดำเนินคดีทางการเมือง เป็นสาเหตุอันดับต้นที่บังคับให้ผู้คนจำใจต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน ทว่าการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในยุคของโรคระบาดกลับทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น จากการที่ประเทศปลายทางตั้งนโยบายปกป้องเศรษฐกิจในประเทศและการกำหนดกฎระเบียบของการเดินทางเข้าประเทศที่เข้มงวดขึ้น ล้วนมีผลต่อโอกาสด้านอาชีพสำหรับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน โอกาสในการใช้ชีวิตของผู้ลี้ภัย โดยมีผลต่อการส่งเงินกลับบ้าน วิกฤติทางมนุษยธรรมและความเป็นอยู่ การแบ่งขั้วทางสังคม (societal polarization) และช่องว่างทางรายได้ของแรงงาน
การแข่งขันทางอวกาศ: พื้นที่ใหม่ที่ต้องมีการกำกับดูแล
ความตึงเครียดใหม่ภายในโลกยังรวมไปถึงพื้นที่ในอวกาศ ความเสี่ยงที่มาจากการแข่งขันในกิจกรรมทางการทหารและบริษัทเทคโนโลยีที่กระทำเพื่อการค้า ล้วนส่งสัญญาณว่าอวกาศกำลังกลายเป็นปราการความเสี่ยงใหม่ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของโลกและวัตถุในอวกาศที่แออัดจนรบกวนวงโคจรรอบโลก ตลอดจนการที่อวกาศเป็นพื้นที่ที่ไม่มีรัฐบาลประเทศใดถือเอกสิทธิ์เป็นผู้กำกับดูแล การแข่งขันทางอวกาศที่ว่านี้ย่อมนำมาสู่ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่นานาประเทศจะร่วมมือกันจัดการทรัพยากรของทุกคนอย่างยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
.
| 0 – 10 ปี: ตัวเลขสะท้อนความเสี่ยงและความเร่งด่วนในแต่ละระยะเวลา
.
เมื่อหลายประเด็นเป็นความเสี่ยงหรือเป็นภัยคุกคามต่อโลก การที่สามารถระบุได้ชัดเจนขึ้นว่าความเสี่ยงใดมีนัยยะของความเร่งด่วนมากกว่าโดยเปรียบเทียบจึงสำคัญในแง่ของการวางแผนทางเลือกในการจัดการและการรับมือ เช่นในรายงานความเสี่ยงโลกที่ผู้ตอบแบบสำรวจสะท้อนมุมมองถึงความเสี่ยงที่ตนเชื่อว่าเป็นปัญหารุนแรงตามขอบเขตระยะเวลาที่กำหนดอยู่ 3 ช่วงเวลา ได้แก่
- ความเสี่ยงระยะสั้น: 0 – 2 ปี
- ความเสี่ยงระยะกลาง: 2 – 5 ปี
- ความเสี่ยงระยะยาว: 5 – 10 ปี
ในห้วง 2 ปีนี้ ความเสี่ยงที่ยังน่ากังวลคือมิติสังคมและมิติสิ่งแวดล้อมจากสถานการณ์ของโรคระบาดดังที่กล่าวข้างต้น โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจน้อยกว่า 16% ที่ “มองในแง่บวก” ว่าอนาคตน่าจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่ส่วนมาก (84%) รู้สึก “กังวล” กับอนาคตในภายภาคหน้า นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 11% เชื่อมั่นว่าโลกจะเร่งเครื่องในการฟื้นตัวได้ภายในปี พ.ศ. 2567 ส่วนอีก 89% มองอนาคตระยะใกล้นี้ว่าจะเต็มไปด้วยความผันผวน แตกแยก และหายนะที่จะมีพุ่งสูงขึ้น
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ความรู้สึก “มองโลกในแง่ลบ” ที่แพร่หลายอย่างที่เป็นนี้อาจนำไปสู่การสร้างวังวนแห่งภาพลวงตา ที่จะยิ่งทำให้การลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตให้ดีขึ้นกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าเราจะยังเผชิญกับ “ความน่าประหลาดใจ” อีกนานัปการ หรือจุดตัดที่จะแบ่งแยกประชากรในโลกออกเป็น “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้”
ส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น ผู้ตอบแบบสำรวจยังมองว่าความเสี่ยงในมิติสังคมและมิติสิ่งแวดล้อมเป็นมิติที่ “น่ากังวลมากที่สุด” โดยเมื่อเทียบกับกรอบระยะเวลาในอีก 10 ปีหรือมากกว่า 10 ปีนี้ คะแนนที่นำขึ้นมาเป็นความเสี่ยงระยะยาว 5 อันดับใน 10 อันดับที่น่ากังวลมากที่สุดโดยวัดจากความรุนแรง (severity) ตกเป็นของประเด็นในมิติสิ่งแวดล้อมหรือ “สุขภาวะของโลก” (health of the planet) โดยความเสี่ยงที่รุนแรงมากที่สุด 3 อันดับแรกเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น ได้แก่ ความล้มเหลวในการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณจากผู้ตอบแบบสำรวจที่กังวลถึงวิกฤติหนี้และการเผชิญหน้ากันทางภูมิเศรษฐศาสตร์อีกด้วย (Geoeconomic confrontations)
ทั้งนี้ หากสำรวจความพยายามของนานาประเทศในการลดความเสี่ยงลง ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เชื่อว่าปัจจุบันยังมีการดำเนินการที่น้อยเกินไป อย่างในกรณีของการลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีผู้ตอบแบบสำรวจที่สูงถึง 77% ระบุว่า ความพยายามในประเด็นนี้ “ยังไม่เริ่มต้น” หรือ “อยู่ในช่วงการพัฒนาระยะแรก” เพียงเท่านั้น ขณะที่ความร่วมมือระดับโลกเพื่อบรรเทาวิกฤติมนุษยธรรมได้ถูกท้าทาย โดยเฉพาะที่หลายประเทศพัฒนาแล้วหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศก่อน
ความเสี่ยงระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว: เมื่อใดที่ความเสี่ยงจะกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญของโลก
ภาพจาก: Global Risks Report 2022: What you need to know (World Economic Forum)
.
สรุปความเสี่ยงที่ควรรู้จากรายงานความเสี่ยงโลก ประจำปี 2565
- ความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อม เป็นความเสี่ยงที่ปรากฏทั้งมุมมองความเสี่ยงระยะสั้นและระยะยาว
- 5 ใน 10 อันดับความเสี่ยงในมิติสิ่งแวดล้อม มีทั้งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ และวิกฤติทรัพยากรทางธรรมชาติ
- ความล้มเหลวในการลงมือทำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นความเสี่ยงที่สำคัญอย่างยิ่งยวดทั้งมุมมองความเสี่ยงระยะกลางและระยะยาว โดยมีความเป็นไปได้ที่จะก่อความเสียหายอย่างเลวร้ายต่อสังคม เศรษฐกิจ และโลกใบนี้
- 3 อันดับแรกจาก 10 อันดับความเสี่ยงตามความรุนแรงในระยะ 10 ปีข้างหน้า ล้วนเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-related) ทั้งสิ้น
- ความเสี่ยงในมิติสังคมคิดเป็น 1 ใน 3 ของ 10 อันดับความเสี่ยงตามความรุนแรงในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยประเด็นแรกยังคงเป็นเรื่อง ความเป็นปึกแผ่นทางสังคมที่พังทลาย
.
| ทิ้งท้าย: 5 บทเรียนเตรียมตัวให้พร้อมกับความท้าทายในอนาคต
.
ขณะที่โลกเต็มไปด้วยความท้าทายที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน จุดเริ่มต้นของความพยายามลดความเสี่ยงของโลกมีกุญแจดอกสำคัญที่การเพิ่มความร่วมมือ และการขยันประเมินสถานการณ์/การดำเนินการอยู่เสมอ โดยสามารถลงมือได้จาก 5 บทเรียนที่สภาเศรษฐกิจโลกสรุปไว้ ดังนี้
01 – พัฒนากรอบการลดความเสี่ยงอย่างเป็นองค์รวม แทนที่กรอบซึ่งมุ่งเน้นกับความเสี่ยงหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะจะช่วยให้สามารถจินตนาการถึงภาพใหญ่ของฉากทัศน์ที่แย่ที่สุดได้ ทั้งกรอบที่ทำให้เห็นความเสี่ยงหลายประการยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบที่นึกไม่ถึงด้วย
02 – คำนึงถึงระบบนิเวศทั้งหมด ที่นอกเหนือไปจากจุด/ระบบนิเวศ ณ ที่เราอยู่หรือที่เราดำเนินการ
03 – เปิดรับกลยุทธ์การตั้งรับและปรับตัวที่หลากหลาย โดยตระหนักว่าไม่มีกลยุทธ์ใดที่จะสัมฤทธิ์ผลในทุกกรณี กล่าวคือ ปัญหาที่มีความซับซ้อนจำต้องอาศัยความพยายามที่ต่อเนื่องและการปรับตัวอยู่เสมอ
04 – เชื่อมโยงความพยายามในการตั้งรับและปรับตัวในภารกิจหนึ่งร่วมกับเป้าหมายอื่น อาทิ ความพยายามในด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
05 – ให้คิดว่าการตั้งรับและปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงเป็นการเดินทางไกล เพราะสิ่งสำคัญคือการปรับปรุงและปรับตัวระหว่างทาง
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
เพื่อให้เข้าใจปัจจุบัน ความเสี่ยง และเรื่องของอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
อย่าลืมติดตามซีรีส์ Futures Literacy ได้ตลอดทั้งเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 ที่ SDG Move TH เร็ว ๆ นี้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
– Executive Summary: Global Risks Reports 2022 (World Economic Forum)
– Key Finding: Global Risks Reports 2022 (World Economic Forum)
– Chapter 2. Disorderly Climate Transition (World Economic Forum)
– Chapter 3. Digital Dependencies and Cyber Vulnerabilities (World Economic Forum)
– Chapter 4. Barriers to Migration (World Economic Forum)
– Global Risks Report 2022: What you need to know (World Economic Forum)
– Visualized: A Global Risk Assessment of 2022 and Beyond (Visual Capitalist)
– เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ส่องปัจจัยเสี่ยงโลกในปี 2022 (VOA Thai)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย