Site icon SDG Move

UN เผยแพร่ร่างกำหนดการประชุม HLPF กรกฎาคม 2565 เน้นการมีส่วนร่วมและการฟื้นฟูมุ่งสู่ความยั่งยืน

สำนักเลขาธิการสหประชาชาติได้เผยแพร่ร่างกำหนดการสำหรับการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปีพ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) โดยมีคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม ซึ่งการจัดประชุม HLPF ปีนี้มีการวางแผนที่จะจัดในรูปแบบการพบปะด้วยตนเอง (in-person) หลังที่ต้องจัดประชุมในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

Collen Vixen Kelapile ประธานคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติได้ส่งจดหมายเชิญนานาประเทศเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมเวที HLPF ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม และ 11 – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา

ร่างกำหนดการล่าสุดของการประชุม HLPF แบ่งออกเป็นสองสัปดาห์ สัปดาห์แรกของฟอรัมเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 – 7 กรกฎาคม และถัดไประหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม โดยหลังจากพิธีเปิดเช้าวันแรก จะเป็นการประชุม ณ โถงประชุมใหญ่ ซึ่งผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมอภิปรายและสะท้อนข้อคิดเห็นร่วมกันได้ทั้งหมด (town hall meeting) โดยปีนี้ จะเน้นประเด็นการฟื้นฟูศักยภาพให้กลับมาเข้มแข็งและผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (building back better and advancing the SDGs) โควิด-19 กับผลกระทบที่มีต่อการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแนวทางการฟื้นฟูและขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังภายในปี พ.ศ. 2573 ตลอดจนการระบุชี้ประเด็นที่เมื่อลงมือทำแล้วอาจจะ ‘ได้อย่าง เสียอย่าง’ และต้องพิจารณาให้เกิดผลลัพธ์ดีขึ้นทั้งคู่ (trade-offs) 

สำหรับการประชุมหารือ HLPF ในครั้งนี้จะเน้นการทบทวนเชิงลึกไปที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ดังนี้ 

โดยในสัปดาห์แรกจะเป็นการอภิปรายรายประเด็น ซึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุมครั้งนี้ อาทิ การเข้าถึงวัคซีนตลอดจนแหล่งทรัพยากรทั้งในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกา ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (the least developed countries: LDCs) และในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlocked developing countries: LLDCs) ประเด็นการฟื้นฟูศักยภาพหลังโควิด-19 ของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (small island developing States: SIDS) และในประเด็นเรื่อง วิสัยทัศน์จากภาคประชาสังคม ว่าด้วยการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเพื่อการฟื้นฟูที่ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การประชุมหารือ HLPF ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมผู้นำระดับสูงว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) ที่จะดำเนินการทบทวนและติดตามผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระยะกลาง หรือ ‘mid-term review of the SDGs’ ในเดือนกันยายน ปี 2566

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือการนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNRs) จาก 45 ประเทศ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 – 15 กรกฎาคม สำหรับประเทศที่จะได้นำเสนอ VNRs ในการประชุม HLPF ปีนี้เป็นครั้งแรกจะได้รับเวลานำเสนอนานที่สุดคือ 15 นาที และมีเวลาอีก 20 นาที สำหรับช่วงถาม-ตอบกับสมาชิกในที่ประชุม โดยสามารถนำเสนอในรูปแบบเดี่ยวหรือเป็นคณะก็ได้ สำหรับประเทศที่รายงาน VNRs เป็นครั้งที่สอง สาม หรือสี่ จะมีเวลา 10 นาทีสำหรับการนำเสนอ และเวลาอีก 15 นาทีสำหรับช่วงถาม-ตอบ โดยจะทำการนำเสนอในรูปแบบหมู่คณะ

ในระหว่างสัปดาห์ที่สอง (วันที่ 13 – 15 และ 18 กรกฎาคม) ECOSOC จะมีการจัดการประชุมระดับสูงของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (High-level ministerial segment) โดยในการประชุมจะมีการกล่าวถึงผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 5 (UN Environment Assembly: UNEA 5) ตลอดจนข้อความสารจาก 5 กลุ่มภูมิภาคสหประชาชาติ และการรับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการร่างโดยคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลนานาประเทศ นำโดยคณะผู้แทนจากประเทศอิตาลี และประเทศนาอูรู

ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม HLPF ในครั้งนี้จะมีการจัดงานกิจกรรมคู่ขนาน กิจกรรม VNR “labs” กิจกรรมพิเศษและนิทรรศการควบคู่กันไปด้วยในรูปแบบออนไลน์ สำหรับการสมัครเข้าร่วมงานและนิทรรศการดังกล่าวจะเปิดถึง 31 พฤษภาคม นี้

ข้อมูลเพิ่มเติม:
จดหมายเชิญจากประธาน ECOSOC
กำหนกการการประชุม HLPF 2022 ฉบับร่าง (ฉบับวันที่ 6 เมษายน)
กรอบแนวคิดสำหรับการประชุม HLPF 2022
กิจกรรมคู่ขนานการประชุม HLPF 2022

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมหารือ HLPF และ VNR ได้ ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG14 ทรัยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ที่มา: Draft Programme Released for In-Person HLPF 2022 (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

Exit mobile version