ใครหลายคนคิดว่าอนาคตเดินทางเป็นเส้นตรง กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 อุบัติขึ้นเพื่อฉุกให้เราตระหนักว่าอนาคตล้วนมีแต่ความผันผวนและซ่อนเงื่อนด้วยฉากทัศน์อีกหลายเส้นทาง “ความยืดหยุ่น” และ “การปรับตัว” จึงเป็นองค์ประกอบของชีวิต ณ ห้วงขณะปัจจุบันที่เราจำเป็นต้องมี แต่คงจะดียิ่งขึ้นหากเรามี “ทักษะพิเศษ” ช่วยเตรียมพร้อมตนเองให้จัดการกับสิ่งที่นึกไม่ถึง พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งภาวะฉุกเฉินใดที่อาจประเดประดังเข้ามา
SDG Updates วันนี้ ชวนสังเกตความท้าทายของปัจจุบันและอนาคตที่โลกกำลังเผชิญ แล้วย้อนกลับมาสำรวจกระบวนการระหว่างทางที่ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังดำเนินการควบคู่กับความพยายามขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ก่อนจะเสนอ “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ที่สะท้อนความจำเป็นของธรรมาภิบาลในการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก ด้วย “ธรรมาภิบาลการคาดการณ์” (Anticipatory Governance) ที่ใช้ประโยชน์จากอนาคต – พินิจทุกสมมติฐาน – รังสรรค์ความคิดและนวัตกรรมในปัจจุบันเพื่อตอบรับกับความเสี่ยงทั้งหลาย โดยเชื่อมโยงและครอบคลุมผู้คนในทุกระดับ เพื่อให้ชุมชนจนถึงประชาคมโลกมีความพร้อมและสามารถจัดสรรทรัพยากรร่วมกัน (Global commons) ได้อย่างยั่งยืน
เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/04/FL-EP1.png
“เราทำนาย วาดฝัน และหวาดกลัว เราวางแผน จัดระเบียบ และตัดสินใจโดยการใช้อนาคต…” เช่นนี้แล้ว เวลาพูดถึงอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ควรจะรู้สึกอึดอัด และไม่จำเป็นต้องรอให้ภัยอันตรายปรากฎให้เห็นเป็นรูปร่างประชิดตัว เพราะเมื่อถึงเวลานั้นอาจสายเกินกว่าจะลงมือแก้ไข ดังนั้น การหยิบอนาคตมาเป็นเครื่องมือปรับปรุงปัจจุบันจึงเป็นทักษะที่ควรพัฒนาเพื่อก่อประโยชน์แก่ผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น การมีทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคตจะเสริมพลังด้านการเตรียมพร้อม (prepare) ฟื้นฟู (recover) และก่อร่างสิ่งใหม่ (invent) ระหว่างทางหรือห้วงขณะที่การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้น
01 – อะไรคือความท้าทายที่เรากำลังเผชิญหรือที่จะเผชิญในอนาคต?
ความสมดุลของการพัฒนา –Tanja Hichert ผู้เชี่ยวชาญด้าน Futures Literacy และ Foresight จากประเทศแอฟริกาใต้กล่าวถึงโมเดล “เศรษฐกิจโดนัท” (Doughnut Economics) ฉายภาพให้เห็นความท้าทายด้านความยั่งยืนข้อหนึ่งคือ แม้ประเด็นอย่างโภชนาการที่ดี ความเท่าเทียม การมีงานทำและมีรายได้จะเป็นความต้องการพื้นฐานสำหรับทุกคน แต่หลายคนในโลกเช่นในภูมิภาคแอฟริกายังไม่สามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกัน การพัฒนาจำต้องคำนึงถึง “จุดสมดุล” ภายใต้เงื่อนไขของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกับการตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้แร่ธาตุ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อผลิตอาหาร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – ดร. Hezri Adnan ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและโซลูชันด้าน SDGs จาก Think Tank ของมาเลเซีย ย้ำถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นเทรนด์ความท้าทายหลักแห่งยุคสมัย หากดูข้อมูลล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) เราจะเห็นฉากทัศน์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นไปได้ 5 รูปแบบจนถึงปี ค.ศ. 2100 บนฐานข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แน่นอนว่าฉากทัศน์ที่แตกต่างย่อมพาโลกไปสู่ปลายทางที่ต่างกันด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นกระแสที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตื่นตัวนำไปผนวกในกรอบและกลยุทธ์การดำเนินงาน แต่สำหรับภาคประชาสังคมแล้ว นี่ยังเป็นอีกจุดที่ต้องจัดการกับการฟอกเขียว (green washing)
| ความท้าทายในการสร้าง Global Commons: จากชุมชนถึงประชาคมโลก
ผศ.ดร. อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุถึงความท้าทาย 2 ประเด็นในเชิงปรัชญาตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ได้แก่ อัตลักษณ์ (identity) ตัวตนตามบทบาท หน้าที่ หรือสัญชาติก่อนที่จะนิยามตนเองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับโลกนี้อย่างไรและเป็นพลเมืองของโลกแล้วหรือไม่ สองคือ ความครอบคลุม(inclusivity) ที่ไม่เพียงเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางหรือชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่คือคำถามที่มีต่อการปฏิบัติต่อกันในชีวิตประจำวันของผู้คน ตั้งแต่ครอบครัวและเพื่อนฝูง “โดยไม่กีดกันใครออกไป” ซึ่งเป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาเชิงบวกในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ไปจนถึงคำถามว่าท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนในโลกดิจิทัลที่ไร้พรมแดนนั้นเชื่อมต่อถึงกันอย่างมีความหมายจริงหรือ (meaningful connected)
นอกจากนี้ ศ.ดร. Yuto Kitamura จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้สะท้อนอีก 2 ความท้าทายสำคัญ หนึ่งคือ ความแตกต่างและความไม่เท่าเทียม (disparities) ในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและเงินทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรีบจัดการ และสองคือ ปัญหากระดุมสองเม็ด หรือสองความท้าทายที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการเดิมแก้ไขได้อีกต่อไป ตัวอย่างเช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทยในขณะที่มีประชากรเด็กเพิ่มขึ้น หรือปัญหาความหิวโหยในประเทศกำลังพัฒนาขณะเดียวกับที่พบปัญหาโรคอ้วนจากเหตุของความยากจนซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ เป็นต้น
โดยหากมองภาพรวมทั้งในบริบทของไทยและระดับโลก Geraldine Ansart หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทย ชี้ให้เห็นความเปราะบางของสถานการณ์สันติภาพ ความมั่นคง สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาในปัจจุบัน โดยย้ำถึงความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อนานาปัญหาเชื่อมโยงกัน จึงต้องมีนโยบายที่บูรณาการ ความร่วมมือเพื่อลดความขัดแย้ง และหุ้นส่วนการพัฒนาที่ครอบคลุมภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์การระหว่างประเทศ
Global commons หมายถึง พื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ โดยมีการจัดการ ดูแล และรักษาทรัพยากรร่วมกัน (Common-Pool Resources: CPRs) ภายใต้กฎเกณฑ์ร่วมกัน โดยสามารถหมายถึงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ทะเลหลวง น้ำ อากาศ จนถึงประเด็น/พื้นที่สากลใหม่ ๆ (global spheres) อย่างอวกาศและอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ ยังหมายรวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ อาทิ สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยสรุป เมื่อพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างยั่งยืน เราจะเห็นการใช้คำว่า “Global commons” ร่วมด้วย
| ความท้าทายว่าด้วยเรื่องอำนาจ การถอดรื้อและกอปรสร้างมโนทัศน์ใหม่
ก่อนจะไปถึง “อนาคตใหม่” จากจินตนาการว่าปัจเจกบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ควรจะร่วมมือกันโดยไม่มีพรมแดนขวางกั้น ศ.ดร. Imtiaz Ahmed จากศูนย์ Genocide Studies มหาวิทยาลัยธากา ชวนพินิจถึง “การเมืองของเอกภาวะ” (Politics of Singularities) หรือระบบที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง (state-centric) ของทุกสิ่งอย่างที่เป็นอยู่ ไม่เว้นแม้แต่สหประชาชาติ (United Nations: UN) ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาคมโลก เอกภาวะนี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการทะลายตัวตนและเขตแดนมาประสานความร่วมมือในระดับโลก (global collaboration) ดังนั้น สิ่งที่ควรทำระหว่างทางเดินนี้คือการสำรวจคอนเซ็ปท์และมโนทัศน์ในปัจจุบัน ถอดรื้อ (deconstruct) และประกอบสร้างขึ้นใหม่ (reconstruct)
ศ. สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมโดยยกความท้าทายสำคัญอย่าง “กับดักความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้ง” (inequality and conflict trap) ซึ่งสัมพันธ์กับอำนาจบังคับและความรุนแรง กระทำโดยผู้ที่อยู่ในอำนาจซึ่งโดยมากเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ทำให้การไขปัญหาเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักดังกล่าวจำต้องจัดการกับอำนาจเก่าอย่างที่เป็นอยู่ (status quo) คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะจัดการอย่างไรในเมื่อเรายังอยู่ใน/ต้องพึ่งพิงระบบที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง โดยที่ระบบดังกล่าวอยู่ใน Global Commons และองค์การระหว่างประเทศ
นอกจากอำนาจบังคับแล้ว ดร. Yuto Kitamura ยังระบุต่อไปว่า โลกคงหลีกเลี่ยงการพูดถึง “อำนาจนำ”(hegemony) ไม่ได้ ขณะเดียวกัน ยังจะต้องเท่าทันอำนาจรูปแบบอื่นอย่าง “อำนาจละมุน” (soft power) ด้วย
| ช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน: ความท้าทายของภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน SDGs
- ภาคธุรกิจ – การเปลี่ยนแนวปฏิบัติให้ต่างไปจากเดิมที่เคยทำมา (business-as-usual) ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เล่าถึงตัวอย่างของเครือข่าย UN Global Compact ที่ยึดหลักการ 10 ข้อ และการนำ SDGs มาปรับในวิถีการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า พร้อมด้วยการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติระหว่างบริษัท/องค์กร ไปจนถึงการร่วมกันสร้าง “ระบบนิเวศ” ที่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนในภาคธุรกิจขึ้น
โดยนอกจากจะมุ่งจัดการกับความท้าทายหลัก 7 ประเด็นอันดับต้น ได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงานและงานที่มีคุณค่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การต่อต้านการคอร์รัปชัน ความเท่าเทียมทางเพศ การบูรณาการ SDGs และธรรมาภิบาลในการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก (transformational governance) ในกรณีของไทยยังตั้งเป้าหมายใหญ่คือการมุ่งสู่ “เศรษฐกิจ BCG” และเศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ที่สอดคล้องกับวาระแห่งชาติของรัฐบาลไทยด้วย เป้าหมายดังกล่าวถือเป็นแกนกลางให้ยึดถือหากเผชิญกับความท้าทายอื่นใด ร่วมกับการยึดหลักการความครอบคลุมและการมีส่วนร่วม เสริมด้วยการยกระดับขีดความสามารถและสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดนี้
- ภาคประชาสังคม – มีบทบาทอย่างยิ่งในกระบวนการตัดสินใจเพื่อการเปลี่ยนแปลง ดร. Hezri Adnan สะท้อนถึงความท้าทายประการแรกคือ การสร้างความเข้าใจในหมู่ผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคมระหว่างที่กำลังผนึกกำลังสร้างเครือข่าย และสองคือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ว่านี้ นอกจากจะขึ้นอยู่กับผู้นำของภาคประชาสังคมแล้ว ยังขึ้นอยู่กับบริบทการปกครองของแต่ละประเทศ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนรัฐบาลครั้งหนึ่งอาจเป็นช่องทางเปิดโอกาสให้สานสัมพันธ์หรือระงับความสัมพันธ์ระหว่างกันลงได้
ส่วนในบริบทของไทยนั้น Geraldine Ansart แสดงข้อห่วงกังวลต่อ (ร่าง) พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นตัวอย่างที่สะท้อนความท้าทายของภาคประชาสังคมได้เป็นอย่างดี
- องค์การระหว่างประเทศ – Geraldine Ansart เล่าถึงทิศทางการดำเนินงานของ UN ในไทยที่มุ่งเน้น 3 ข้อสำคัญ หนึ่งคือ กรอบการทำงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศและการขยายการหารือกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเน้นอันดับความสำคัญที่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมการไม่เลือกปฏิบัติ สองคือ การยึดถือหลักการความครอบคลุมไว้ในทุกการดำเนินงาน อาทิ การสนับสนุนผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานในทุกอุตสาหกรรม และความพยายามกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานทั้งที่มีเอกสารประจำตัวและที่ไม่มีเอกสารประจำตัว และสามที่ Geraldine เน้นย้ำความสำคัญอย่างยิ่งยวดตลอดทั้งการสัมมนาคือ การสนับสนุนภาคประชาสังคมในกระบวนการตัดสินใจ พื้นที่ของการพูดคุย (dialogue) และเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้าถึงชุมชนให้ได้มากที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนข้อมูล สถานการณ์ และความต้องการจากชุมชนสู่ระดับนโยบาย และสะท้อนสังคมที่จะเป็นของทุกคนอย่างเสมอภาค
การสำรวจความท้าทายในแต่ละแง่มุมดั่งที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยนมาข้างต้น จะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อไปว่ารูปแบบของระบบธรรมาภิบาลเช่นใดที่จะเหมาะสมกับเงื่อนไขเหล่านี้และฉากทัศน์ที่หลากหลายแห่งอนาคต
02 – พร้อมรับความผันผวนและร่วมมือเพื่อ Global Commons ด้วย “Futures Literacy”
– รัฐธรรมนูญขององค์การ UNESCO
“เพราะสงครามก่อขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ภายในจิตใจของมนุษย์นี่เองที่การปกป้องสันติภาพจำต้องก่อตัวขึ้นด้วย” คำกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นความสามารถในการ “จินตนาการ” ของมนุษย์ ความสามารถของมนุษย์ที่จะ “ปลดเปลื้อง” (emancipation) ออกจากกรอบเรื่องเล่า (narratives) และมโนทัศน์แบบเดิมที่เคยทำมา ออกจากการคิด “I think therefore I am” ไปสู่การวาดฝัน “I dream therefore I am” หากไม่วาดฝันเสียแล้ว ภาพแทนประชาคมโลกอย่าง UN คงไม่มีวันก่อร่างขึ้นได้
Tanja Hichert กล่าวว่ารูปแบบธรรมาภิบาลจะต้องก้าวไปเป็น “ธรรมาภิบาลการคาดการณ์” (Anticipatory Governance) หรือทำให้ทักษะ Futures Literacy กลายเป็นการทำงานของสถาบัน (institutionalize) โดยทำงานร่วมกับอนาคต ตรึกตรองทุกสมมติฐานและปัญหาที่มีความซับซ้อน เพื่อประเมินทางเลือกและตัดสินใจเลือกสิ่งที่จะต้องทำในปัจจุบันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทักษะนี้ยังช่วยให้สามารถจัดการกับภาวะฉุกเฉินได้ดีขึ้น เพราะหลายครั้งที่มนุษย์ไม่สามารถพยากรณ์อนาคตล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ
ภายใต้ธรรมาภิบาลใหม่นี้ ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ล้วนควรพัฒนากฎระเบียบ ค่านิยม เครื่องมือ และเครือข่ายให้อยู่ใน “กรอบการตัดสินใจที่มีความยืดหยุ่น” (flexible decision framework) ในแบบฉบับที่จินตนาการไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าอนาคตสามารถเดินไปได้ในหลายเส้นทาง จึงจะสามารถระบุชี้ปัญหา ลดความเสี่ยง และป้องกันความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่หวาดหวั่น
กล่าวคือ หากเราเชื่อว่าอนาคตมีเส้นทางเดียวจึงทำให้ตัดสินใจจับทางเลือกหนึ่งไว้จนแน่น นั่นเท่ากับการยอมรับความเสี่ยงที่จะพังลงทั้งหมดในคราวเดียวเช่นกัน แต่หากเรามองหลายมุมและพิจารณาหลายทางเลือกเพื่อจัดการกับสถานการณ์ เมื่อฉากทัศน์ใดเกิดขึ้น เราจะไม่ล้มทั้งหน้ากระดาน ในจุดนี้ยังสะท้อนถึงความสามารถในการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Resilience)
นอกจากนี้ ธรรมาภิบาลที่จะนำไปสู่การให้บริการสินค้าสาธารณะ (public goods) ได้ตามความต้องการอย่างยั่งยืน Tanja Hichert เสนอต่อไปว่า เราควรจะฝึกฝนการมองอนาคตใน “ระยะยาว” (longtermism) ให้ไกลไปถึงระยะ 10 – 15 ปีด้วย
| ธรรมาภิบาลใหม่: ภาคส่วนที่มิใช่รัฐกับการขับเคลื่อนทางการเมือง
ดร. Hezri Adnan เสนอ 3 รูปแบบของการก่อร่างธรรมาภิบาลใหม่ โดยยกตัวอย่างจากบริบทของมาเลเซีย
- Strategic civic engagement – หรือ การมีส่วนร่วมของพลเมืองอย่างมียุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ขยายขอบเขตเข้ามาทำงานร่วมกับรัฐสภาและรัฐบาล โดยยังได้รับงบประมาณจากภาครัฐในการดำเนินงานในท้องถิ่นด้วย เช่นนี้จะช่วยให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับภาพใหญ่ของนโยบายรัฐได้มากขึ้น
- Policy brokering and entrepreneurship – หรือ การที่ผู้เชี่ยวชาญจากภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเข้ามาเคลื่อนไหวในประเด็นนโยบายสาธารณะเพื่อรณรงค์และส่งเสริมนโยบายเฉพาะด้าน โดยตระหนักว่าบทบาทของนักรณรงค์ทางการเมืองไม่ได้ตัดขาดหรือจำต้องอยู่นอกวงสนทนาของภาครัฐเสมอไป
- Green politics – ในกรณีของมาเลเซีย สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นแต่ปัจจุบันกำลังปรากฎให้เห็นก็คือ การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกจับตาในการเลือกตั้ง เพราะหมายถึงโอกาสของการเปลี่ยนแปลง โดยมาจากการส่งเสียงของประชาชนในประเด็นดังกล่าว ไปจนถึงการเสนอผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่พร้อมจะเป็นตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา
โดยการสนับสนุนให้ภาคส่วนที่มิใช่รัฐเดินหน้าขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวตีได้นั้น ศ. สุริชัย หวันแก้ว และ Geraldine Ansart เห็นตรงกันว่า องค์การระหว่างประเทศซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนหลักจะต้องปลดล็อกความเป็นระบบราชการของตน ให้สามารถเคลื่อนไหวนโยบายสาธารณะในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น
| หลุดจากกรงขังของการศึกษาในมหาวิทยาลัย สู่ “Knowledge Diplomacy” และ “ESD”
การมีปัญญาสำคัญต่อการปลดเปลื้องจินตนาการ แต่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นตลาดขององค์ความรู้กลับติดกับอยู่ใต้ธรรมาภิบาลและอำนาจบังคับที่ไม่สามารถบ่มเพาะทักษะให้ผู้เรียนผลักตัวเองออกจากกรอบความคิดแบบเดิมได้ ในการส่งเสริม Futures Literacy ให้เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยจึงมีภาระความรับผิดชอบที่จะต้องทบทวน ก้าวข้ามกำแพงที่กักขังตัวเอง และเชื่อมต่อเข้ากับห่วงโซ่ของความเป็นสากล
ในแง่นี้ ตลาดวิชาก็ควรหลุดไปจากกรอบการจัดอันดับ (rankings) รูปแบบของการศึกษาไม่ควรถูกบังคับให้จำกัดอยู่แต่ในรั้วมหาวิทยาลัย การศึกษาจะต้องไม่สนองรับกับอำนาจนำหรืออำนาจเก่าอย่างที่เป็นอยู่ และองค์ความรู้จะต้องไม่ถูกผูกขาดโดยแวดวงนักวิชาการแต่เพียงเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรู้เป็นของทุกคนซึ่งมีภูมิหลังที่แตกต่างหลากหลาย และการส่งเสริมให้ทุกคนเชื่อมต่อและร่วมมือกันเพื่อ Global Commons ในระยะยาว ศ.ดร. Yuto Kitamura จึงเสนอว่า เราทุกคนจะต้องเป็น “นักการทูต” ของการแบ่งปันความรู้และปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น (Knowledge Diplomacy)
มากไปกว่านั้น กุญแจดอกสำคัญในการปลดล็อกความท้าทาย อาทิ ความไม่เท่าเทียม และปัญหากระดุมสองเม็ดที่พัลวันโดยไม่อาจแก้ไขด้วยวิธีการเดียวได้นั้น ศ.ดร. Yuto Kitamura เสนออีกว่า เราจะต้องสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development: ESD) โดยมีหัวใจคือการสนับสนุนให้ผู้เรียนสำรวจปัญหาและรากเหง้าของปัญหา พยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและบริบทที่ซับซ้อน ลงมือเรียนรู้โดยพบปะกับผู้คนในชุมชนจริง พัฒนาทักษะเพื่อเสาะแสวงวิธีการแก้ปัญหาได้หลากหลายวิธี หรือที่เรียกวิธีการเรียนรู้เช่นนี้ว่า “Whole Community Approach”
03 – ทิ้งท้าย: หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
การศึกษาความท้าทายและฉากทัศน์ของอนาคตที่เป็นไปได้หลายรูปแบบ (futures) ช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน (transition) ตลอดจนการนำหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแกนยึดของการดำเนินการ เหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการที่กำลังพัฒนาแต่ยังไม่จบสิ้น (a work in progress) ดังนั้น ทุกคนถือว่ามีบทบาทความรับผิดชอบ เราต้องตระหนักว่าผู้คนตัวเล็กตัวน้อย กลุ่มคนรากหญ้าและชุมชนท้องถิ่น ภาคส่วนที่มิใช่รัฐ ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้และภูมิปัญญาของตน และเป็นเจ้าของข้อมูลสำคัญต่อการพัฒนานโยบายและวิธีการที่ถูกต้อง (right policies and interventions)
เพื่อที่จะเชื่อมเสียงเรียกและการดำเนินการในท้องถิ่นสู่การปรึกษาหารือในระดับการเมืองและร่วมพัฒนานโยบายของรัฐ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกในชุมชนระหว่างประเทศเพื่อให้พร้อมรับกับอนาคตที่มีร่วมกันได้ ส่วนที่สำคัญคือการก่อร่าง “ความฉลาดของกลุ่ม” (collective intelligence) ที่จะทำให้เห็นวิธีคิดและทางเลือกอันหลากหลายก่อนการตัดสินใจ และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยความร่วมมือ (collaboration) และหุ้นส่วนความร่วมมือ (partnership)
เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา Panel ที่ 1 และ Closing Panel – ถิรพร สิงห์ลอ
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นแรกในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565
รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
– SDG Updates | เมื่อความเสี่ยงหลักของทศวรรษคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – สรุปประเด็นสำคัญในรายงาน Global Risks Report 2022
– SDG Insights | Transformative Partnership และทุนทางสังคม กับอนาคตของสังคมไทยในโลกยุค (หลัง) โควิด-19
– SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา:
– Panel session 1: Futures Literacy: Preparing for Emergence and Transforming Governance (Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U.)
– Closing Plenary session: Futures Literacy—Connecting Communities, Transforming Governance (Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U.)
Last Updated on เมษายน 27, 2022