สถานการณ์อุทกภัยใหญ่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรียนรู้ปัญหา เพื่อฟื้นฟูเยียวยา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

บทนำ

‘น้ำ’ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญมากในโลก น้ำไม่ได้เป็นแค่ทรัพยากรสำคัญที่ใช้หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในการผลิตทรัพยากรสำคัญของโลก อาทิ พืชพันธุ์สำหรับอาหาร ตลอดจนพลังงานต่าง ๆ ที่ใช้น้ำเป็นส่วนสำคัญในการผลิต

สภาพภูมิอากาศตามฤดูกาลทำให้เราทราบได้ว่าช่วงไหนของปีจะมีน้ำมากหรือน้อย ในตลอดหนึ่งปีบนโลกเรา จะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ฝนตกชุก และช่วงเวลาหนึ่งที่ฝนตกน้อย หรือไม่ตกเลย หากสภาพภูมิอากาศบนโลกดำเนินไปตามปกติตามฤดูกาลอย่างที่ควรเป็น ก็ทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีปริมาณน้ำเท่าไร ช่วงไหนควรสำรองน้ำไว้ ช่วงไหนควรระบายน้ำออกไป แต่หากสภาพภูมิอากาศเกิดความแปรปรวน อาทิ เกิดฝนตกชุกมากเกินไป หรือแห้งแล้งเกินไปเพราะฝนไม่ตกติดต่อกันหลายเดือน ก็จะทำให้เราไม่สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำได้ถูกต้องเหมาะสม ในกรณีนี้ หากกล่าวถึงน้ำที่มากเกินไปในฉับพลัน จนเกิดเป็นอุทกภัย แน่นอนว่าผลของมันนั้นสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ยิ่งปริมาณน้ำมาก ความเสียหายยิ่งก่อตัวมากตาม

เมื่อกล่าวถึงความเสียหายของอุทกภัย SDG Updates ฉบับนี้นำเสนอสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากข่าวอุทกภัยใหญ่รอบโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจากสองประเทศ  คือ ความเสียหายของอุทกภัยในชุมชนเมืองใหญ่ริมทะเล และความเสียหายของอุทกภัยในชุมชนเมืองเล็กบนพื้นที่ราบสูง รวมถึงสถานการณ์จากเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อต้องเผชิญปัญหาอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะผลของสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะจมลงใต้ทะเลในอนาคตอันใกล้นี้

. . . . . . .

เรื่องราวของสามชุมชนเมือง จากสามพื้นที่ จากสาเหตุเดียวกัน . . . ‘Climate Change’

อุทกภัยในชุมชนเมืองใหญ่ริมทะเล

เมืองเดอร์บัน จังหวัดควาซูลู-นาทัล ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้ เป็นเมืองเอกริมทะเลของจังหวัด เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ช่วงต้นเดือนเมษายน ปี 2565 ซึ่งสร้างความเสียหายหนักรอบด้านเป็นวงกว้างเนื่องจากฝนที่ตกอย่างหนัก อุทกภัยครั้งนี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและมีผู้สูญหายนับหลายร้อยราย สำนักข่าวบีบีซียังได้รายงานว่า เขตการปกครองท้องถิ่นของจังหวัดควาซูลู-นาทัลได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่หลายพันล้านแรนด์ (สกุลเงินของประเทศแอฟริกาใต้) เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้ถูกทำลายอย่างหนัก กล่าวได้ว่าเป็นมหาอุทกภัยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

ภาพผลจากอุทกภัยใหญ่ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้

ที่มาของภาพ: Durban floods: South Africa floods kill more than 300 (BBC)

นอกจากนี้ อุทกภัยครั้งนี้ยังสร้างผลกระทบทางจิตใจ หลายครอบครัวต้องกลายเป็นครอบครัวไร้บ้าน อีกทั้งผู้ประสบภัยบางกลุ่มต่างก็ออกมาประท้วงรัฐบาลเนื่องจากการช่วยเหลือในด้านที่อยู่อาศัยที่ล่าช้า กลายเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่ตามมา ถึงแม้ว่า Cyril Ramaphosa ประธานาธิบดีแห่งประเทศแอฟริกาใต้ได้กล่าวว่าเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลลัพธ์มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากข้อมูลของสำนักข่าวบีบีซีได้รายงานว่า ปริมาณน้ำฝนของอุทกภัยครั้งนี้มีปริมาณน้ำฝนกว่า 75% ของประเทศทั้งปีโดยปกติ 

ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยบางส่วนต่างมองว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่แค่สาเหตุจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่เพราะระบบสาธารณูปโภคท้องถิ่นที่คุณภาพไม่ดี ตลอดจนการดำเนินงานที่ล่าช้าจากภาครัฐก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ แย่ลงไปอีก

. . . . . . .

อุทกภัยในชุมชนเมืองเล็กบนพื้นที่ราบสูง

ประเทศโคลอมเบีย เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรในทวีปอเมริกาใต้ บริเวณตอนกลางของประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบสูง และมีเทือกเขาแอนดีส ซึ่งเป็นเทือกเขาสำคัญพาดผ่านประเทศ ยาวลงไปจรดปลายทวีป ด้วยภูมิประเทศที่เป็นที่ราบสูงและตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรนี้ ทำให้ประเทศโคลอมเบียมีฝนตกชุกในช่วงฤดูฝน และเกิดปัญหาดินถล่ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของประเทศโคลอมเบียที่มักมากับอุทกภัยเสมอ 

ดังเช่นเขตอาเบรียกี จังหวัดอันติโอเกีย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ได้เกิดฝนตกหนักตามมาด้วยน้ำท่วมหลากและปัญหาดินถล่มบนพื้นที่ราบสูง บริเวณพื้นที่แถบนี้มีการตั้งแคมป์เพื่อขุดหาแร่ รวมถึงผู้คนท้องถิ่นมักตั้งชุมชนถิ่นฐานบริเวณใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก สายน้ำทรงพลังก็ได้กลายเป็นทางน้ำสำคัญที่พัดพาบ้านเรือนที่ก่อสร้างมาจากวัสดุที่ไม่คงทนแข็งแรงไปพร้อมกับดินและน้ำอย่างง่ายดาย นอกจากนี้ จากข้อมูลโดย Crisis 24 รายงานว่า ดินถล่มยังได้ไปปิดกั้นเส้นทางคมนาคมสายหลัก ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการลำเลียงความช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัย ทำให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงอย่างล่าช้า ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียตามมาอีกมากมาย ปัญหาอุทกภัยและดินถล่มจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศมายาวนานจนถึงปัจจุบันและเพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอีกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพผลจากอุทกภัยใหญ่ จังหวัดอันติโอเกีย ประเทศโคลอมเบีย

ที่มาของภาพ: Flooding in northwest Colombia kills at least 10, others missing (Aljazeera)

. . . . . . .

น้ำท่วม น้ำหนุน… เมื่อทุกที่รอบด้าน มีแต่น้ำ

กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย เป็นเมืองที่ทำให้พวกเราเห็นภาพผลกระทบของน้ำที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ชัดที่สุดเมืองหนึ่งของโลก นอกจากจาการ์ตาจะเป็นเมืองหลวงของประเทศแล้ว ยังเป็นเมืองสำคัญของเกาะชวาซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่าสิบล้านคน เนื่องจากมีประชากรมาก การก่อสร้างบ้านเรือน ตลอดจนอาคารสำนักงานต่าง ๆ จึงขยายตัวเพิ่มขึ้นมากตาม ความต้องการบริโภคน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากจนเกินไป ทำให้เมืองทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของโดย The Conversation รายงานว่า พื้นที่ของกรุงจาการ์ตาทางตอนเหนือทรุดลงไปถึง 4.9 เซนติเมตรต่อปี และคาดว่าพื้นที่กว่า 25% ของเมืองจะจมใต้น้ำทะเลภายในปี พ.ศ. 2593

สุเหร่าที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ระดับต่ำของเมืองกำลังจะจมหายไป 

ที่มาของภาพ: The impossible fight to save Jakarta, the sinking megacity (Wired)

นอกเหนือจากปัญหาเมืองที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วแล้ว จาการ์ตาก็ยังประสบปัญหาอุทกภัยซึ่งมีที่มาจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง เนื่องจากจาการ์ตาเป็นเมืองที่มีประชากรจำนวนมากและหนาแน่น จึงทำให้การอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงขึ้นมากตาม และเมื่อมีการอุปโภคบริโภคมาก จำนวนขยะจึงมีปริมาณมหาศาลเป็นเหมือนเงาตามตัว ปัญหาขยะที่ไม่ได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสมจนไปอุดตันตามท่อ อีกทั้งยังพบได้ตามคลอง และแม่น้ำนี้เองก่อให้เกิดน้ำขังเพื่อรอการระบาย เมื่อมีน้ำรอการระบายจากหลายชุมชน ก็ได้กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เมืองซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยง

ทั้งปัญหาน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอกาศประกอบกับพื้นที่เมืองที่มีระดับต่ำ และปัญหาน้ำท่วมในเมือง เมื่อสองปัญหารวมกันแล้วกลายเป็นปัญหาระดับใหญ่เกินกว่าจะแก้ไข ส่งผลให้เกิดตัดสินใจสำคัญ คือ การย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย จากเกาะชวา ไปที่พื้นที่บริเวณจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก บนเกาะบอร์เนียว เมืองหลวงใหม่แห่งนี้มีชื่อว่า Nusantara จากข้อมูลโดย DW ระบุว่าการก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ได้เริ่มขึ้นในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ทว่าสถานการณ์โควิด-19 เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินโครงการ จึงทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักไปก่อน อย่างไรก็ตาม ทางการมีแผนที่จะสร้างถนน ท่าเรือ ตลอดจนสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นอันดับแรก โดยมีแผนที่จะก่อสร้างช่วง พ.ศ. 2565 ถึง 2567 ทั้งนี้ Joko Widodo ประธานาธิบดีแห่งประเทศอินโดนีเซียได้กล่าวถึงความหวังที่เมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะเป็นเมืองใหญ่ที่มีความเจริญทันสมัย มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางแห่งชาวมุสลิมในโลก อีกทั้งจะเป็นศูนย์กลางขนาดใหญ่ทางด้านเภสัชอุตสาหกรรม สุขภาพและเทคโนโลยีที่มีการปล่อยคาร์บอนในระดับต่ำ 

นับว่าเป็นการละทิ้งสิ่งเก่าเพื่อเริ่มต้นสิ่งใหม่ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า การย้ายถิ่นฐานจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนได้จริง

. . . . . . .

บทสรุป

การจัดการปัญหาอุทกภัยด้วยการสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวอย่างยั่งยืน

จากข่าวข้างต้น เราได้เรียนรู้ว่าอุทกภัยสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนสุขภาพจิตจากความเครียดที่มาจากการสูญเสีย หรือความช่วยเหลือที่ล่าช้าจากทางการ ต้นตอสำคัญหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะทำให้ความสูญเสียต่อจากนี้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากข้อแนะนำในข้อเสนอเชิงนโยบาย Reaching Sustainable Development Goal: The Need for Building Resilence โดย Flood Resilence Alliance จะช่วยให้เรามองเห็นว่าเราจะสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilience) กับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวนนี้เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

การสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัว ผ่านกลไกความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance: ODA) ในการสร้างการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย/ภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction: DRR) และมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate adaptation) ให้กับประเทศต่าง ๆ ในขณะเดียวกันรัฐบาลแต่ละประเทศก็วางแผนและสนับสนุนการพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในประเทศเช่นกัน 

การผนวกการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย/ภัยพิบัติเข้าสู่นโยบายของรัฐ ตลอดจนการนำไปปฏิบัติ รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีด้านอากาศ รวมถึงเทคโนโลยีการเตือนภัย โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับชุมชนเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สังคม และเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากให้ทำงานอย่างบูรณาการ 

การสร้างแผนการฟื้นฟูอย่างมีภูมิคุ้มกัน (resilient recovery) โดยคำนึงถึงชุมชนตลอดจนสังคมว่าจะสามารถฟื้นฟูเยียวยาเพื่อเสริมพลังให้กลับมาแข็งแกร่งได้อย่างไร โดยจะไม่เกิดความเสียหายหรือการสูญเสียเพราะความเปราะบางแบบเดิมที่เคยเกิดขึ้น 

การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในเวลาเกิดภัยพิบัติ ทุกคนต่างเอาตัวรอดและช่วยเหลือคนที่เรารัก แต่ทุกชีวิตนั้นมีค่า รวมถึงกลุ่มคนที่เปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งควรอยู่ในลำดับต้นสำหรับการได้รับความช่วยเหลือในแผนการลดความเสี่ยงภัยพิบัติของรัฐ 

การสนับสนุนเสียงจากชุมชนและสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากในประเทศและต่างประเทศสู่ชุมชน สิ่งที่ชุมชนต้องการคืออำนาจในการตัดสินใจและเงินทุนสำหรับเสริมพลังเพื่อสร้างการพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ซึ่งแผนพัฒนาระดับชาติ ตลอดจนรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNRs) ควรเพิ่มแผนเฉพาะเพื่อนำการปรับตัวและการสนับสนุนเงินทุนสำหรับลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสู่ระดับท้องถิ่น 

การสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการดำเนินงานอย่างยั่งยืน เพราะทุกภาคีเครือข่ายคือกำลังสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน โดยใช้ความสามารถ ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย รวมถึงการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานหลากหลายระดับเพื่อสร้างการพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างทั่วถึงรอบด้าน การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัตินั้นไม่ได้มุ่งเน้นแค่สาธารณูปโภคพื้นฐาน แต่ควรขยายไปถึงสังคมและสุขภาพของผู้คนด้วยซึ่งจะเป็นการช่วยลดความเสียหายและความสูญเสียจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน 

. . . . . . .

– – ฝากทิ้งท้าย – – –

เรื่องราวอุทกภัยจากหลากหลายสถานที่ หลากหลายภูมิประเทศที่ได้นำเสนอมา เห็นได้ชัดว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นล้วนจากมาจากผลกระทบสำคัญของวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และการจัดการปัญหาอุทกภัยด้วยการสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องอาศัยการวางแผนจากภาครัฐอย่างบูรณาการ ต้องการเงินลงทุน ตลอดจนความร่วมมือและการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทุกระดับ จะช่วยให้การแก้ไขปัญหานั้นประสบความสำเร็จ

นอกเหนือจากแผนงานและมาตรการมากมาย ปัจจัยสำคัญอื่น  คือ การสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงและการเตรียมพร้อมป้องกันภัยพิบัติของทุกคนในสังคมและการลงมือทำอย่างจริงจังจากผู้มีอำนาจ ที่จะเปลี่ยนจากคำแนะนำบนกระดาษ หรือบนหน้าจอให้สัมฤทธิ์ผล ด้วยความเข้าใจในปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบด้านอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ‘ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต’ (Futures Literacy) เป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เราทุกคนเรียนรู้เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เพื่อศึกษาให้เข้าใจปัจจุบัน ความเสี่ยง และเรื่องของอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ผู้อ่านสามารถติดตามซีรีส์ Futures Literacy ได้ตลอดทั้งเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 ที่ SDG Move TH 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Insights | จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อโลกต้องเผชิญอุทกภัยในวันที่ COVID-19 ยังรุมเร้า
SDG Insights | การเมืองและน้ำท่วม : ย้อนดูการรับมืออุทกภัยกับการเมืองและการปกครองท้องถิ่นไทย
SDG Insights | เราจะอยู่อย่างไรใน ‘ภาวะน้ำท่วม’ และ ‘โควิด-19’ : การปรับตัวและการเรียนรู้
2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– 11.5 ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.3) ต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความแห้งแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.16) ความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนา โดยมีความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย
– (17.17) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

แหล่งที่มา 
Durban floods: South Africa floods kill more than 300 (BBC)
Durban flood survivors: South Africans homeless, hurt and heartbroken (BBC)
Southern Africa storms fuelled by climate change – study (BBC)
Durban floods: Is it a consequence of climate change? (BBC)
Flooding in northwest Colombia kills at least 10, others missing (Aljazeera)
Colombia: Flooding and landslides cause disruptions in Cocorna Municipality, Antioquia Department, as of March 2 (Crisis24)
The impossible fight to save Jakarta, the sinking megacity (Wired UK)
Indonesia’s capital Jakarta is sinking. Here’s how to stop this (The Conversation)
Indonesia a step closer to moving capital city as Jakarta sinks (DW)- Reaching Sustainable Development Goal: The Need for Building Resilence (Flood Resilience Alliance)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 1, 2022

Author

  • Phongnarin Sukcham

    Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น