Site icon SDG Move

เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน ‘MyAva’ ตัวช่วยเรื่อง PCOS ให้ผู้หญิงอินเดียมีสุขภาพชีวิตที่ดีได้จากที่บ้าน

ข่าวการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตรายวันจากสถานการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบสำคัญทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Sarah Knibbs จากองค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UN Women Asia and Pacific) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อผู้หญิงในภูมิภาคดังกล่าวในด้านการเข้าถึงการให้บริการสาธารณสุขระดับท้องถิ่น ซ้อนทับกับปัญหาที่ว่าผู้หญิงมีภาระหน้าที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์ปกติ เนื่องจากต้องดูแลบ้าน ดูแลเด็กซึ่งไม่สามารถไปโรงเรียนหรือสถานดูแลเด็กที่ปิดทำการได้ อาจรวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยและผู้สูงวัยที่บ้าน โดยที่วัฒนธรรมเฉพาะถิ่นอาจไม่เอื้ออำนวยให้ผู้หญิงออกจากบ้านเพื่อเดินทางเข้ารับบริการสาธารณสุข ณ โรงพยาบาลประจำท้องถิ่นอีกด้วย

Evelyn Immanuel วิศวกรชีวการแพทย์ และผู้ป่วยภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome) เล็งเห็นถึงปัญหาข้างต้น จึงพยายามทะลายกำแพงด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้หญิงด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “MyAva” ขึ้น ที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์สองปัญหาสำคัญ คือ การเข้าถึงบริการสุขภาพของผู้หญิง และโดยเฉพาะความต้องการรักษาของผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะ PCOS

แม้ว่าในทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบที่แน่ชัด แต่ภาวะความผิดปกติของ PCOS อาทิ ภาวะไข่ตกไม่สม่ำเสมอ ระดับการทำงานของฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ หรือการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินมีความผิดปกติ เหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ภาวะมีบุตรยาก ไปจนถึงอาการเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน ดังนั้น การเข้าถึงข้อมูลและบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน

แอปพลิเคชัน MyAva พัฒนาบนฐานคิดที่จะเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะดังกล่าวอย่างเป็นองค์รวม โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่พร้อมให้คำปรึกษา ทั้งแพทย์ประมาณ 50 ท่าน นักโภชนาการ 25 ท่าน และผู้ให้คำแนะนำการออกกำลังกาย 12 ท่าน ทั้งนี้ สำหรับแผนในการสมัครมีตั้งแต่ช่วงเวลาสามเดือนจนถึงหนึ่งปี ซึ่งค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 2,500-18,000 รูปีหรือ 33 – 239 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1,119 – 8,109 บาท)

แอปพลิเคชัน MyAva

วีดีโอแนะนำแอปพลิเคชันออนไลน์ MyAva

Knibbs ได้ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยยกระดับการเข้าถึงการดูแลสุขภาพผู้หญิงอินเดีย ไม่เพียงแค่จะช่วยทะลายกำแพงในการสื่อสารเรื่องสุขภาพภายในร่างกายซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่ยังทะลายกำแพงการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และการดูแลตัวเองในสถานการณ์ที่การเดินทางออกจากบ้านเป็นเรื่องที่ยาก

“แอปพลิเคชัน MyAva จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดช่องว่างนี้และเชื่อมโยงผู้หญิงและการเข้าถึงการดูแลสุขภาพให้เข้าถึงกัน” กล่าวโดย Evelyn Immanuel

แอปพลิเคชัน MyAva เป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนสำคัญซึ่งสอดคล้องกับกระแส ‘Femtech’ หรือกระแสด้านเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของผู้หญิงทั่วโลก โดยเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ถูกนำเสนอในบทความของสำนักข่าว Nikkei Asia เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่เล่าถึงสตาร์ทอัพด้านสุขภาพในเอเชียที่ก็กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อช่วยตอบสนองความต้องการของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่เข้าไม่ถึงการบริการสาธารณสุขด้วยสาเหตุต่าง ๆ ที่ก่อตั้งโดยเหล่าผู้หญิงที่มีความรู้ความสามารถจากหลากหลาย สาขาอาชีพ ขับเคลื่อนโดยผู้หญิง และเพื่อผู้หญิง  

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | Telemedicine – การลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข เพื่อไม่ทิ้งคนไข้ไว้ข้างหลัง
SDG Vocab | 15 – Sexual and Reproductive Health – สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์
เทรนด์ ‘Femtech’ กำลังมาแรง เมื่อการใช้เทคโนโลยีรักษาโรคมี ‘สุขภาพของผู้หญิง’ เป็นศูนย์กลาง

ประเด็นดังข่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
– (5.b) เพิ่มพูนการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเพิ่มบทบาทแก่สตรี
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม

แหล่งที่มา
Asia’s femtech revolution: the quest for better women’s health: COVID’s impact on female health (Nikkei Asia) 
Healthtech Special: What Women want? (Forbes India)
ถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

Exit mobile version