- สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย ปี พ.ศ. 2564 โดยเก็บข้อมูลทุกเดือนตลอดปี
- จากผลการสำรวจ พบว่า ครัวเรือนไทยมีที่มารายได้จากการทำงานมากที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายในด้านอุปโภคบริโภคมากที่สุด และครัวเรือนไทยจำนวนเกินกว่าครึ่งมีหนี้สิน
- เมื่อเทียบรายได้เฉลี่ยระหว่างกลุ่มที่มีรายได้มากที่สุด (top 20%) และกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด (bottom 20%) พบว่าห่างกันถึงเกือบ 9 เท่า
. . .
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย ปี พ.ศ. 2564 โดยเก็บข้อมูลทุกเดือนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จากรายงานบทสรุปสำหรับผู้บริหารได้รวบรวมข้อมูลสำคัญด้านเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนกลุ่มตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตเทศบาลและนอกเทศบาล ซึ่งผลสำรวจนี้ครอบคลุมรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน หนี้สินเฉลี่ยต่อเดือน ส่วนแบ่งรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนที่สะท้อนการกระจายรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศ ทรัพย์สินของครัวเรือน ลักษณะที่อยู่อาศัย ตลอดจนการได้รับสวัสดิการ/ความช่วยเหลือจากรัฐ และการใช้บริการของภาครัฐ ฯลฯ โดยรายงานสำรวจได้นำเสนอแบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้ หมวดรายได้ หมวดรายจ่าย และหมวดหนี้สิน
.
01: หมวดรายได้
จากผลการสำรวจพบว่าครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยที่มาจากการทำงานมากที่สุดคิดเป็น 66.8% (18,255 บาท) โดยแบ่งเป็นรายได้จากค่าจ้างและเงินเดือน คิดเป็น 42.6% กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจ 15.8% และกำไรสุทธิจากการทำเกษตร 8.4% ทั้งนี้ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนไทยอยู่ที่เดือนละ 27,352 บาท
.
02: หมวดรายจ่าย
รายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทย ปี 2564 หมดไปกับค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคมากที่สุด คิดเป็น 87% (18,802 บาท) จากรายจ่ายทั้งหมดซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 21,616 บาท โดยรายจ่ายสูงสุดอยู่ที่รายการดังนี้ คือ อาหาร/เครื่องดื่ม/ยาสูบ คิดเป็น 35.5% ที่อยู่อาศัย/เครื่องใช้ คิดเป็น 21.4% และยานพาหนะ/การเดินทาง คิดเป็น 16.0% ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคคิดเป็น 13% จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย ภาษี เบี้ยประกันภัย ดอกเบี้ย สลากกินแบ่ง เป็นต้น
.
03: หมวดหนี้สิน
จากผลการสำรวจพบว่าครัวเรือนไทยจำนวนเกินกว่าครึ่ง หรือ 51.5% มีหนี้สิน เฉลี่ยจำนวน 205,679 บาท/ครัวเรือน ทั้งหนี้สินที่ใช้ในครัวเรือน และหนี้สินที่ใช้ในการลงทุนและอื่นๆ โดยหนี้สินใช้ในครัวเรือนมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 75.4% แบ่งเป็นรายการได้ดังนี้ คือ หนี้สินจากการใช้จ่ายในการอุปโภค คิดเป็น 38% หนี้สินจากการซื้อ/เช่าบ้านและ/หรือที่ดิน คิดเป็น 35.9% และใช้ในการศึกษา คิดเป็น 1.5%
.
เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาวิเคราะห์การกระจายรายได้โดยเรียงลำดับตามรายได้ประจำเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนในแต่ละครัวเรือนจากน้อยไปมาก จากนั้นแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศออกเป็นห้ากลุ่มเท่า ๆ กัน หรือที่เรียกว่า กลุ่มควินไทล์ (Quintile) (กลุ่มที่หนึ่ง มีรายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่ห้า มีรายได้สูงสุด) พบว่า ทุกกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจากเมื่อสองปีที่แล้วจาก 9,450 บาทในปี 2562 เป็น 9,817 บาทในปี 2564 หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 367 บาท นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าทุกกลุ่มจะมีรายได้ประจำเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มครัวเรือนในปี 2564 พบว่า กลุ่มที่ห้า (top 20%) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด (27,399 บาท) มีรายได้ประจำเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนมากกว่ากลุ่มที่สี่ (12,109 บาท) ที่มีรายได้สูงรองลงมาประมาณกว่าสองเท่า และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่หนึ่ง (bottom 20%) ซึ่งมีรายได้ต่ำสุด (3,062 บาท) พบว่ามีรายได้สูงกว่าถึงเกือบ 9 เท่า
.
อ่านรายงานบทสรุปสำหรับผู้บริหาร การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2564 ได้ ที่นี่
.
อ่านเพิ่มเติม
– SDG Vocab | 32 – Inequality – ความไม่เท่าเทียม/ความเหลื่อมล้ำ
– SDG Updates | ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
– ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ และการว่างงาน แซงหน้าโควิด-19 เป็น 2 อันดับแรกที่ผู้คน “กังวล” มากที่สุด
ประเด็นดังข่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
ที่มา
– เปิดสถิติครัวเรือนไทย คนจนสุด คนรวยสุด เทียบรายได้ ทรัพย์สิน ห่างกันกี่เท่า (ฐานเศรษฐกิจ)
– บทสรุปผู้บริหาร การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2564 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on พฤษภาคม 1, 2022