จุฬาฯ และ มช. ติดอันดับ Top 100 ของโลกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัย THE Impact Rankings 2022

  • THE Impact Rankings ประจำปี 2022 มีจำนวนมหาวิทยาลัย 1,406 แห่งใน 106 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการจัดอันดับ

  • ‘จุฬาฯ’ ได้อันดับที่ 16 ของโลก ตามมาด้วย มช. ที่อันดับ 70 ของโลก 

  • มหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมการจัดอันดับในปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีที่แล้ว

. . .

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2022 The Times Higher Education (THE) ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือ THE Impact Rankings ประจำปี 2022 พบว่าจากจำนวนมหาวิทยาลัย 1,406 แห่งใน 106 ประเทศทั่วโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถทำคะแนนอยู่ที่100 อันดับแรกของโลก และเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของประเทศไทยตามลำดับ

. . .

โดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อันดับที่ 16 ของโลก ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดที่มหาวิทยาลัยจากประเทศไทยจากการจัดอันดับของ THE Impact Rankings ใน 4 ปีที่ผ่านมา โดยขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 23 ในปี 2021 นอกจากนั้น จุฬาฯ ยังรั้งอันดับ 4 ในภูมิภาคเอเชีย รองจากประเทศมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในขณะที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อันดับที่ 70 ของโลก ดีขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ในกลุ่มอันดับที่ 101-200 ของโลก

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถทำคะแนนอยู่ในกลุ่ม 200 อันดับสูงสุด ร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทย ดังนี้ คือ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดมาจากกลุ่มอันดับที่ 601-800 ในปีที่แล้ว

สำหรับปี 2022 นี้ 5 มหาวิทยาลัยที่สามารถทำอันดับสูงสุดของโลกจากการจัดอันดับ THE Impact Rankings 2022 ได้แก่

อันดับที่ 1 Western Sydney University จากประเทศออสเตรเลีย
อันดับที่ 2 Arizona State University (Tempe) จากประเทศสหรัฐอเมริกา
อันดับที่ 3 Western University จากประเทศแคนาดา 
อันดับที่ 4 King Abdulaziz University จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ร่วมกับ Universiti Sains Malaysia จากประเทศมาเลเซีย

. . .

ในระดับเป้าหมาย (Goal) มหาวิทยาลัยจากประเทศไทย สามารถทำอันดับที่ดีได้อย่างน่าประทับใจ โดยสามารถอยู่ใน 50 อันดับสูงสุดในแต่ละเป้าหมาย ดังนี้

เป้าหมายที่ 1 (SDG1) ขจัดความยากจน
อันดับที่ 22 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
อันดับที่ 26 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
อันดับที 43 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)

เป้าหมายที่ 2 (SDG2) ขจัดความหิวโหย
อันดับที่ 21 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อันดับที่ 28 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 
อันดับที่ 40 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เป้าหมายที่ 3 (SDG3) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
อันดับที่ 16 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล

เป้าหมายที่ 4 (SDG4) การศึกษาที่มีคุณภาพ
อันดับที่ 42 มหาวิทยาลัยมหิดล

เป้าหมายที่ 5 (SDG5) ความเท่าเทียมทางเพศ
อันดับที่ 1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
อันดับที่ 23 มหาวิทยาลัยขอนแก่น 
อันดับที่ 28 มหาวิทยาลัยมหิดล 
อันดับที่ 48 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป้าหมายที่ 9 (SDG 9) โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม 
อันดับที่ 26 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เป้าหมายที่ 13 (SDG13) การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อันดับที่ 50 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

เป้าหมายที่ 14 (SDG14) ทรัพยากรทางทะเล
อันดับที่ 26 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
อันดับที่ 42 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เป้าหมายที่ 15 (SDG 15) ระบบนิเวศบนบก
อันดับที่ 16 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เป้าหมายที่ 17 (SDG 17) ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
อันดับที่ 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Times Higher Education (THE) องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรแรกที่มีการวัดความสำเร็จของมหาวิทยาลัยทั่วโลกในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ผ่านการประเมินตัวชี้วัดโดยแบ่งเป็น 4 ขอบเขตหลัก คือ ได้แก่ 1) งานวิจัย (Research) 2) นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย (Stewardship) 3) การเชื่อมโยงกับสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก (Outreach) และ 4) การเรียนการสอน (Teaching)

ทั้งนี้ THE ได้มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การวัดผลสำหรับปี 2022 โดยเพิ่มและเปลี่ยนตัวชี้วัดบางตัวในบางเป้าหมายไปจากปีที่แล้ว อาทิ 

  • เป้าหมายที่ 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) โดยจะมีการให้คะแนนแก่สถาบันการศึกษาที่ได้เปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวกับความยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงกิจกรรมบริการการศึกษาสู่ชุมชน (outreach activities)  
  • เป้าหมายที่ 7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) ในส่วนของการส่งเสริมการเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเผยเพร่และประชาสัมพันธ์ไม่เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้นแต่ต่อสาธารณชนด้วย
  • เป้าหมายที่ 10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) โดยการสนับสนุนผู้อพยพและผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ตัวชี้วัดยังไปถึงอัตราการรับสมัครและาการรับเข้าศึกษาของกลุ่มผู้เรียนที่เป็นคนชายขอบและด้อยโอกาส อันได้แก่ ผู้ลี้ภัยที่พึ่งตั้งหลักแหล่งใหม่ ตลอดจนกลุ่มนักศึกษาที่มีหลากหลายชาติพันธุ์ กลุ่มนักศึกษาที่มีรายได้ต่ำ กลุ่มนักศึกษานอกระบบสถานศึกษาหรือนักศึกษาที่มีอายุมาก (non-traditional students) กลุ่มนักศึกษาหญิง กลุ่มนักศึกษาที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาที่เป็นผู้พิการ
  • เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) จะมีตัวชี้วัดในด้านการเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน โดยถูกเลือกปฏิบัติในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสถานะผู้อพยพ 
  • เป้าหมายที่ 11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) โดยจะมีการประเมินการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (intangible cultural heritage) ตัวอย่างหนึ่งคือ มรดกของชุมชนพลัดถิ่น (the heritage of displaced communities) 

โดยผลคะแนนรวมของแต่ละมหาวิทยาลัย มาจากการคำนวณคะแนนของเป้าหมายที่ 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) และอีก 3 เป้าหมายที่มหาวิทยาลัยได้คะแนนสูงสุด ทั้งนี้เพื่อให้คะแนนสะท้อนด้านที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ โดย SDG 17 คิดเป็น 22% ของคะแนนรวม สำหรับ SDGs อื่น ๆ จะคิดเป็นเป้าหมายละ 26% หรือตามสูตรคำนวณดังนี้: (SDG17)(0.22) + (SDGx)(0.26) + (SDGy)(0.26) + (SDGz)(0.26)

การจัดอันดับ Impact Rankings ของ Times Higher Education (THE) ส่งผลให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลกตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเห็นได้จากการที่มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมการจัดอันดับมากขึ้นทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทสำคัญในการให้การศึกษา ทั้งผลิตลักสูตรการศึกษา รวมถึงสร้างงานวิจัย และการบริการทางวิชาการสู่สังคม โดยใช้เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือสำคัญ

สำหรับในปี 2022 นี้มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด 51 แห่ง จากประเทศไทยส่งข้อมูลและได้รับการจัดอันดับ Impact Rankings ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 26 แห่งเมื่อปี 2021 และจาก 19 แห่งในปี 2020 โดยมีสถาบันอุดมศึกษาทุกประเภทจากทั่วประเทศ ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐขนาดใหญ่ มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชมงคลจากจังหวัดต่าง ๆ เข้าร่วมการจัดอันดับในปีนี้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก จำนวนมหาวิทยาลัยและการรั้งอันดับเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศไทยมีความตื่นตัวและเข้มแข็งในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคการศึกษาและมีบทบาทในการทำงานเพื่อสังคมอย่างเป็นที่ประจักษ์

● อ่านเพิ่มเติม
จุฬาฯ และ มจธ. ติดอันดับ Top 100 ของโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัย THE Impact Rankings 2021
มหาวิทยาลัยจาก ไทย และ ปากีสถาน ส่งผลงาน SDGs เพื่อจัดอันดับ THE Impact Rankings 2022 เพิ่มเท่าตัว

ที่มา: The Times Higher Education Impact Rankings 2022

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on เมษายน 28, 2022

Author

  • Phongnarin Sukcham

    Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น