รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต

  • The Council for Decarbonising Transport in Asia เผยแพร่รายงาน The Path to Zero: A Vision for Decarbonised Transport in Asia 

  • จุดประสงค์ของรายงานฉบับนี้เพื่อเผยแพร่แนวคิดและสนับสนุนการวางนโยบายเพื่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในภาคการขนส่งภูมิภาคเอเชียภายในปี 2050

  • เหตุผลสำคัญที่ต้องเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ในเวลานี้ คือ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

. . .


SDG Recommends ฉบับนี้ ขอเชิญชวนอ่านรายงาน The Path to Zero: A Vision for Decarbonised Transport in Asia จัดทำโดย The Council for Decarbonising Transport in Asia โดยรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญยิ่งยวดและแนวคิดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (decarbonisation) ในภาคการขนส่งในภูมิภาคเอเชียให้เหลือศูนย์ (zero carbon) ภายในปี ค.ศ. 2050 ตลอดจนสนับสนุนผู้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เห็นผล

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือเหตุผลสำคัญที่รายงานชี้ให้เห็นถึงว่าทำไมเราต้องลงมือทำเรื่องนี้ในเวลานี้ (Why now is the moment for action) เพราะได้สร้างผลเสียทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง จากนั้นรายงานยังได้ชวนผู้อ่านสร้างเป้าหมายการขับเคลื่อน โดยร่วมจินตนาการถึงอนาคตในปี 2050 (Imagining the future – where we want to end up) หากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์นั้นสามารถทำได้จริงในเอเชีย และมีการทำงานแบบบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องรู้แน่ชัดว่าสถานการณ์ของภาคขนส่งของเอเชียในปัจจุบันคืออะไร (Where we are today) ซึ่งรายงานได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างหลากหลายของภาคการขนส่งของแต่ละประเทศในภูมิภาค ไปจนถึง สถานการณ์โควิด-19 ที่ถึงแม้ว่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกสำคัญในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากไม่มีการลงมือปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์จากภาคการขนส่ง สถานการณ์ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม ดังนั้น รายงานจึงชี้ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานสะอาด (energy transition) ในภาคขนส่งเป็นเรื่องสำคัญ (What is needed to get to zero-carbon transport) นอกจากนี้ เทคโนโลยีและเครื่องมือเพื่อดำเนินการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีอยู่มากมาย ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการ “ลด-เปลี่ยน-พัฒนา (Avoid-Shift-Improve: ASI) ที่ส่งเสริมตัวเลือกในการเดินทางและพัฒนาระบบขนส่งที่ยั่งยืนอย่างสมดุลเท่านั้นจึงจะทำให้ประสบผลสำเร็จ

การวางกรอบแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์เพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินการเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ความมุ่งมั่นดังกล่าวเกิดผล โดยรายงานได้ชี้ให้เห็นถึงจุดบอดหกประการ (What is holding back action) ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ยังขาดหายไปสำหรับการดำเนินงานในประเด็นนี้ ควบคู่ไปกับการนำเสนอหลักสำคัญหกประการเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงหกประการที่จะทำให้การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในภาคการขนส่งของภูมิภาคเอเชียบรรลุผล ได้แก่

1. พัฒนายุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ภาคการขนส่งระดับชาติแบบบูรณาการเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
2. สร้างแนวทางที่เป็นระบบซึ่งช่วยในการออกแบบและดำเนินการปฏิรูปอย่างเห็นผล
3. ปฏิรูปการเงินภาคการขนส่งเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบขนส่ง
4. พัฒนาและสื่อสารโดยใช้ข้อมูลจากท้องถิ่นเพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการตัดสินใจ
5. กำหนดให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการการปฏิรูปภาคการขนส่ง
6. สร้างความร่วมมือภายในภูมิภาคเอเชียเพื่อเพิ่มโอกาสในการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง:
– ยุโรปออกแผน ‘Destination 2050’ ให้การบินยุโรปปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593
– EU เตรียมเสนอข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบพลังงานในอาคารให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงภายใน 10 ปีนี้
SDG Updates | สำรวจความท้าทายและนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของจีน (EP.9)
SDG Insights | ต่อจิ๊กซอว์การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมของไทย ไปกับภาคประชาสังคม (EP. 11) SDG Updates | บทสรุปและข้อเสนอแนะ: เปลี่ยนผ่านอย่างไรให้เป็นธรรม? (EP. 18)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ และการเตือนภัยล่วงหน้า

แหล่งที่มา:
The Path to Zero: A Vision for Decarbonised Transport in Asia (the Council for Decarbonising Transport in Asia)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on เมษายน 29, 2022

Author

  • Phongnarin Sukcham

    Knowledge Communication | ผู้ชอบสำรวจการ "ข้าม" วัฒนธรรมของตนเองและสังคม แต่ไม่มองข้ามความอยุติธรรมที่ฉุดรั้งการพัฒนา

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น