SDG Insights | ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นเส้นทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: บทวิเคราะห์และข้อเสนอเชิงนโยบาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค
คณะเศรษฐศาสตร​์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

| บทนำ

ประเทศไทยได้นำเสนอปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) เป็นแนวทางในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ต่อโลก ผ่านการรณรงค์และการทำงานตามแนวทาง SEP for SDGs ซึ่งการนำเสนอดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีในการร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย เพราะถือเป็นการนำแนวคิดที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานไว้และรัฐบาลไทยให้การรับรองว่าเป็นแนวคิดของประเทศไทยไปมีบทบาทสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ

คำถามหนึ่งที่เกิดจากยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความสอดคล้องและส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากเพียงใด ?

คำถามเชิงวิชาการนี้อยู่บนฐานคิดที่ว่า การที่ประเทศไทยเสนอให้ SEP เป็นแนวทางในการบรรลุ SDGs นั่นแปลว่า เรากำลังมองว่า SEP เป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยบรรลุเป้าหมาย อย่างไรก็ดี ไม่มีเครื่องมือใดในโลกที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกประการแบบยาสารพัดนึกได้ โดยเฉพาะเครื่องมือที่เกิดขึ้นมาก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาหนึ่ง ๆ อย่าง SEP ย่อมมีรากความคิดแบบหนึ่งและถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาในบริบทหนึ่ง และอาจจะแก้ปัญหาอื่นได้มีประสิทธิภาพต่ำ หรือไม่สามารถแก้ไขได้ก็เป็นได้ การสำรวจให้เห็นศักยภาพและข้อจำกัดของเครื่องมือหนึ่ง ๆ ช่วยให้เราสามารถใช้เครื่องมือนั้นได้เต็มศักยภาพ และทราบว่าประเด็นใดต้องใช้แนวคิดอื่นเข้ามาใช้ร่วมด้วยเพื่อปิดจุดอ่อนของเครื่องมือแรก และสุดท้ายในไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้

เนื้อหาของข้อเขียนนี้มี 4 ส่วนหลัก ประกอบด้วย

  • หัวข้อที่ 1 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หัวข้อนี้จะฉายภาพโดยสรุปเกี่ยวกับเป้าหมาย SDGs เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไป ประเด็นที่อยู่ภายใต้ SDGs และหลักการที่เป็นพื้นฐานของชุดเป้าหมายดังกล่าว
  • หัวข้อที่ 2 ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะอธิบายหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยสังเขป รวมถึงหลักการที่เกี่ยวข้องและมักถูกรวมเข้ามาว่าเป็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • หัวข้อที่ 3 เป็นบทวิเคราะห์ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มีมิติที่เหมือนกัน ส่งเสริมกัน และแตกต่างกันในประเด็นอย่างไรบ้าง
  • หัวข้อที่ 4 นำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเน้นให้เป็นข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ดำเนินการต่อได้จริง

01 – เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) หรือวาระการพัฒนา 2030 (The 2030 Agenda) (United Nations 2015) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญที่สุดขององค์การสหประชาชาติในปัจจุบัน ซึ่งประเทศสมาชิกทุกประเทศ จำนวน 193 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ให้การรับรองเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ชุดเป้าหมายดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินการทั้งหมด 15 ปี โดยเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 (ค.ศ. 2016) และสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

เป้าหมายชุดนี้ผ่านกระบวนการการมีสวนร่วมอย่างกว้างขวาง ผ่านกระบวนการเจรจาหลายขั้นตอน ซึ่งประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (Dodds, Donoghue, and Leiva Roesch 2016) และมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาสังคมและผู้เกี่ยวข้องทั่วโลกกว่า 8.5 ล้านคน ซึ่งในประเทศไทย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการ Social Watch เป็นผู้ดำเนินการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับกลุ่มเปราะบางกลุ่มต่าง ๆ และจัดทำเป็นเอกสารอนาคตที่เราต้องการ (Future We Want) ของไทย ดังนั้น หากจะกล่าวว่า เป้าหมายชุดนี้เป็นเป้าหมายของทุกประเทศในโลก หาใช่เป้าหมายที่ประเทศตะวันตกบังคับให้ทุกประเทศทำตาม ก็คงไม่ผิดเท่าใด แต่อีกนัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า เป้าหมาย SDGs เป็นผลผลิตทางการเมืองระหว่างประเทศ นั่นแปลว่า เนื้อหาของ SDGs ก็ต้องมีการยอมประนีประนอมบางส่วนเพื่อให้ทุกประเทศยอมรับได้เช่นกัน

บริบทที่ดำเนินอยู่เบื้องหลังการก่อร่างของเป้าหมาย SDGs นั้นคือสถานการณ์ของโลกที่ผันผวนและซับซ้อน ที่ส่งผลถึงคนทั่วโลกอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกี่ยวข้องมีความรุนแรงขึ้น วิกฤติการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008 ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้งในหลายประเทศ ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาการจัดการทรัพยากรข้ามพรมแดน ความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจโลก และปัญหาอื่น ๆ ที่มีความเรื้อรังและไม่ได้แก้ไขได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้เป้าหมาย SDGs มิใช่เป้าหมายเฉพาะมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเป้าหมายที่มีความครอบคลุมในทุกประเด็นทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เพราะประเด็นเหล่านี้เชื่อมโยงกันและไม่สามารถแก้ไขเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งได้

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (goals) ครอบคลุมมิติสำคัญ 5 มิติ ประกอบด้วย มิติความมั่นคงของมนุษย์ (people) ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (prosperity) ความยั่งยืนของโลก (planet) ความสงบสุขสันติของสังคม (peace) และความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา (partnership) ดังที่แสดงในภาพด้านล่าง มีเป้าหมายย่อย (targets) ภายใต้เป้าหมายข้างต้น 169 ข้อ ซึ่งส่วนนี้เป็นรายละเอียดและเนื้อหาสาระของเป้าหมาย SDGs และมีตัวชี้วัด 247 ตัวชี้วัดที่ใช้ในการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของเป้าหมายย่อย (สามารถดูรายละเอียดของเป้าหมายต่าง ๆ ได้ที่ sdgport-th.org)

เป้าหมายทั้งหมดของ SDGs นั้นเป็นภาพอนาคตที่คนทั้งโลกอยากเห็น อยากอยู่อาศัย และอยากทิ้งไว้ให้ลูกหลาน หากโลกบรรลุ SDGs ได้จริง โลกนั้นจะเป็นโลกที่มนุษย์ทุกคนบนโลกมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มีสิทธิในการได้รับความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต อยู่ในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ดีและสังคมที่สงบสุขและเป็นธรรม สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีกลไกคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนทุกคน มีโอกาสในการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตนให้คุณค่าได้ ในขณะเดียวกัน การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจจะต้องไม่ไปไกลเกินกว่าขอบเขตของผืนพิภพ (planetary boundary) (Rockström et al. 2009) เพื่อให้ระบบโลกยังคงอยู่และเป็นระบบสนับสนุนเกื้อกูลทุกชีวิตไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ โลกจะต้องสามารถบรรลุไปสู่การมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรและช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในขณะเดียวกันก็มีการกระจายรายได้ที่ดี

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า SDGs นั้นมีรากฐานอยู่บนหลักการสากลที่สำคัญอย่างน้อย 5 ประการ (Sustainable Development Solutions Network 2015; United Nations 2015) คือ

  1. หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (basic human rights): ที่เคารพสิทธิในการเลือก สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐานและโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ตามหลักการของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) (Dodds, Donoghue, and Leiva Roesch 2016)
  2. หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development): ที่คำนึงถึง ความเป็นธรรมแบบข้ามรุ่นคน (intergenerational equity) ในขณะเดียวกันก็คำนึงถึงความสมดุลของการพัฒนาในมิติสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม (Three pillars of sustainable development) ด้วย
  3. หลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (inclusive development): ที่เน้นการพัฒนาที่คำนึงถึงกลุ่มคนเปราะบางและคนกลุ่มต่าง ๆ ที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลังในการพัฒนา ให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนา เข้าถึงบริการสาธารณะและโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมการเมือง มีสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนและได้รับการคุ้มครองจากการแย่งเอาไป พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนให้สามารถตั้งรับปรับตัวได้ (Gupta and Vegelin 2016)
  4. หลักการพัฒนาแบบบูรณาการ (integrated development): ที่เน้นว่าเป้าหมายและเป้าหมายย่อยของ SDGs ไม่สามารถพิจารณาแยกขาดจากกันได้เพราะมีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยมีทั้งความเชื่อมโยงที่ส่งเสริมกันและขัดแย้งกัน การพัฒนาอย่างบูรณาการต้องพิจารณาความเชื่อมโยงนี้และหาวิธีการจัดการกับเป้าหมายที่ขัดกันภายใต้หลักการที่เกี่ยวข้องและเป้าหมายปลายทางของ SDGs (International Council for Science 2017; Sachs et al. 2019)
  5. หลักการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงในระดับฐานราก (transformative development): การขับเคลื่อนเพื่อการบรรลุ SDGs นั้นไม่สามารถดำเนินการด้วยวิธีการเดิม ๆ ได้ จำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่าการดำเนินการในปัจจุบันมีความบูรณาการมากเพียงพอหรือไม่ ทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างครอบคลุมและมีส่วนร่วมหรือไม่ มีการคำนึงถึงบริบทและความต้องการของท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ มีการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการหรือไม่อย่างไร มีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงยุทธศาสตร์การบรรลุเป้าหมายอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ (Dodds, Donoghue, and Leiva Roesch 2016; Sustainable Development Solutions Network 2015)

นอกจากนี้ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเป้าหมาย SDGs ก็คือมันเป็นเป้าหมายปลายทางที่ทุกประเทศตกลงร่วมกันว่าจะบรรลุให้ได้ เป็นผลลัพธ์ของการพัฒนา (development outcome) ส่วนแนวทางการบรรลุเป้าหมายนั้นมีการระบุเอาไว้อยู่บ้าง โดยปรากฏในเป้าหมายที่ 17 และเป้าหมายย่อยเชิงกระบวนการบรรลุเป้าหมาย (Means of Implementation targets) ในแต่ละเป้าหมาย (เป้าหมายย่อยที่มีเลขรหัสเป็น <เป้าหมาย><จุด><ตัวอักษรภาษาอังกฤษ> เช่น 1.a เป็นต้น) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเน้นไปที่แนวนโยบายที่ควรมีการดำเนินการ และกลไกที่จำเป็นต่อการช่วยให้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดสามารถดำเนินการและบรรลุ SDGs ได้ เช่น กลไกการระดมทุนเพื่อการพัฒนา (finance for development) ความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ การค้าและการลงทุน ความร่วมมือทางด้านสถิติ เป็นต้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า SDGs เน้นไปที่เป้าหมายของการพัฒนา แต่เปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ สามารถตัดสินใจดำเนินการพัฒนาได้ตามศักยภาพและข้อจำกัดของตน


02 – ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP)

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) เป็นแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย เพื่อให้เป็น “…ปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภวัตน์ ความพอเพียง…” (“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ม.ป.ป.)

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นแบบแผนอย่างที่เป็นที่รู้จักกันในวันนี้ ถูกร่างขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยและพระมหากรุณาธิคุณปรับปรุงแก้ไข ใน พ.ศ. 2542 โดย องค์ประกอบของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นไปตามภาพที่ปรากฏด้านล่างนี้ (“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ม.ป.ป.) กล่าวคือ

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีเป้าหมายปลายทางคือการทำให้การดำรงอยู่และปฏิบัติตนและดำเนินการในทุกระดับตั้งแต่ ครอบครัว ชุมชน และรัฐ อยู่บนทางสายกลาง และเป็นไปอย่างสมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงออกแบบมาเพื่อให้วิถีชีวิตและการดำเนินการต่าง ๆ ในทุกระดับสามารถตั้งรับปรับตัว (resilient) ต่อความเปลี่ยนแปลงในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และไม่ชัดเจน (VUCA World) ได้นั่นเอง

การดำรงอยู่ที่เป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะมีลักษณะที่ พึ่งตนเองได้ (self-reliance) รู้รับปรับตัวได้ (resilience) และมีภูมิคุ้มกัน (immunity) (Avery and Bergsteiner 2016)

  • พึ่งตนเองได้ (self-reliance) หมายถึง ไม่พึ่งพาคนอื่นจนมากเกินไป มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองระดับหนึ่ง
  • รู้รับปรับตัวได้ (resilience) หมายถึง มีความสามารถในการลุกกลับขึ้นยืนหลังจากเผชิญกับช็อก
  • มีภูมิคุ้มกัน (immunity) หมายถึง มีการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยคุกคามและความเสี่ยงต่าง ๆ

เพื่อให้การดำรงอยู่และการปฏิบัติตนนำไปสู่เป้าหมายปลายทางข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องคิดและตัดสินใจในการดำเนินการใด ๆ อยู่บนหลักของความพอเพียง อันหมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และความมีภูมิคุ้มกัน

  • ความพอประมาณ หมายถึง การดำเนินการใด ๆ ก็ตามเป็นไปอย่างพอดี คือ เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมาย ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  • ความมีเหตุผล หมายถึง การดำเนินการใด ๆ ควรอยู่บนพื้นฐานของการพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ อย่างรอบด้านแล้วจึงเลือกทางเลือกที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อตนเองและผู้อื่น
  • ความมีภูมิคุ้มกัน หมายถึง การดำเนินการใด ๆ ควรอยู่บนวิธีคิดที่ว่า โลกนี้มีความผันผวนไม่แน่นอน จึงควรมีการวิเคราะห์ความเสี่ยงอย่างรอบด้านและมีมาตรการเตรียมรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้น รวมถึงมีแผนสำรองหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น

การที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถคิดและตัดสินใจบนหลักการดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยเงื่อนไขที่สำคัญสองประการคือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม

  • เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ผู้ที่ใช้หลักความพอเพียงจะต้องอาศัยความรู้ที่รอบด้านที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดำเนินการอยู่ นำความรู้ทางวิชาการมาใช้ในการวางแผนดำเนินการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ มองเห็นความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพในขณะเดียวกันก็สามารถระมัดระวังความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ด้วย
  • เงื่อนไขคุณธรรม หมายถึง ผู้ที่ใช้หลักความพอเพียง จะต้องมีทั้งหลักคุณธรรมที่กำกับให้ตนไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อผู้อื่น เช่น ความซื่อสัตย์ ความสุจริต และหลักคุณธรรมที่เป็นหลักในการดำเนินชีวิตที่ทำให้ก้าวหน้า เช่น มีความอดทน เพียรพยายาม มีสติปัญญา และความรอบคอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังมิได้มีแต่นัยยะต่อการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของบุคคลต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีนัยยะในเชิงระบบด้วย (Avery and Bergsteiner 2016) กล่าวคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงข้างต้นนั้น จัดเป็นวิธีคิดที่พอเพียง (sufficiency mindset) ซึ่งผู้ที่มีวิธีคิดจะมีความพอเพียงได้อย่างเต็มที่นั้น จำเป็นจะต้องมีระบบเศรษฐกิจพอเพียง (system of sufficiency economy) ช่วยหนุนเสริมด้วย นั่นก็คือ “ชุดของคุณค่า หลักการ ระบบและสถาบันที่ให้กรอบและเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม ที่ส่งเสริมและรับประกันว่าความพอเพียงนั้นสามารถเข้าถึงได้ทุกคน” ซึ่งเมื่อมีทั้งวิธีคิดและระบบที่สอดคล้องกันก็จะนำพาให้สังคมเข้าสู่สภาวะพอเพียง คือ สภาวะที่ปัจเจกชน ครอบครัว องค์กร และประเทศสามารถดำรงอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก และหากมีเงื่อนไขที่เหมาะสมก็สามารถความฟุ่มเฟือยได้บ้างโดยยังมีความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมอยู่

ในบริบทของการพัฒนา ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังมักมีความหมายครอบคลุม “ศาสตร์พระราชา” อีกด้วย โดยตัวอย่างที่สำคัญก็คือ โครงการพัฒนาของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency) ที่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน ก็ได้ใช้หลักการของศาสตร์พระราชาที่ว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาเป็นกรอบในการออกแบบ 9 ขั้นตอนสำหรับการดำเนินการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงด้วย (Ministry of Foreign Affairs, Kingdom of Thailand 2018) ตามภาพด้านล่าง


03 – บทวิเคราะห์

ในการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) กับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ในหัวข้อนี้ จะทำการวิเคราะห์โดยการพิจารณาประเด็นที่ SEP และ SDGs นั้นตรงกัน ประเด็นที่หนุนเสริมกัน และประเด็นที่แตกต่างกัน ก่อนที่จะกล่าวถึงนัยยะที่มีต่อการขับเคลื่อน SDGs

SDGs และ SEP มีประเด็นที่มีความสอดคล้องตรงกันอย่างน้อย 6 ประการ

ประการแรก SEP และ SDGs มีเป้าหมายที่ตรงกัน ก็คือต้องการบรรลุสู่ความสมดุลของมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม แต่อาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในรายละเอียด โดย SEP มีจุดเน้นเรื่องมิติวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นมาในขณะที่มิติวัฒนธรรมใน SDGs อาจแฝงอยู่ในเป้าหมายที่ 11 มิได้เป็นหนึ่งในมิติสำคัญ รายละเอียดอีกประการที่สำคัญคือ SDGs ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดในรูปแบบของเป้าหมายและเป้าหมายย่อย ในขณะที่ SEP ไม่ได้ให้รายละเอียดเหล่านั้นอย่างชัดเจน

ประการที่สอง SEP ให้ความสำคัญกับบทบาทของเงื่อนไขความรู้และคุณธรรม ในขณะที่ SDGs ก็ให้ความสำคัญกับบทบาทของความรู้ และการจัดการกับผลกระทบทางลบต่อเป้าหมายและเป้าหมายย่อยอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายหนึ่ง ๆ

ในส่วนของความรู้นั้น SEP เน้นให้มีความรู้รอบเพื่อให้เข้าใจเหตุปัจจัย ผลกระทบและความเสี่ยงต่อตนเองและคนอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วน SDGs นั้นมีทั้งในส่วนที่ให้มีความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนเพื่อให้เข้าใจการปฏิสัมพันธ์ของ complex system เพื่อให้เข้าใจรากของปัญหา ในขณะเดียวกันก็เสนอให้ใช้ความรู้ทุกประเภทไม่จำกัดแต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการหาทางแก้ไขปัญหาความยั่งยืน

ในด้านคุณธรรมของ SEP มีส่วนที่เน้นการลดผลกระทบทางลบต่อคนอื่นอันอาจเกิดจากพฤติกรรมของผู้กระทบ ในขณะที่ SDGs นั้นแม้ไม่ได้กล่าวถึงคำว่า “คุณธรรม” แต่ให้ความสำคัญกับการลดหรือขจัดผลกระทบทางลบที่จะเกิดแก่เป้าหมายและเป้าหมายย่อยอื่น ในทางหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองแนวคิดให้ความสำคัญกับการไม่สร้างผลกระทบทางลบให้แก่ผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง สิ่งที่แตกต่างในรายละเอียดคือ คุณธรรมของ SEP ยังรวมไปถึงคุณธรรมในตัวปัจเจกที่จะทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ บรรลุผลตามต้องการ ในขณะที่ SDGs ไม่มีรายละเอียดในระดับบุคคล

หากพิจารณาต่อไปอีกก้าวหนึ่ง อาจตีความได้ว่า องค์ความรู้เรื่อง interlinkage ระหว่างประเด็นสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จะมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นรากฐานของทั้ง SEP และ SDGs ด้วย โดยการเข้าใจ Interlinkage ต้องมีความรู้รอบด้าน และการที่มีความเข้าใจนี้จะช่วยให้เราวางแผนรับมือความไม่แน่นอนได้รอบคอบในขณะเดียวกันก็สามารถไปหนุนเสริมเงื่อนไขคุณธรรม ให้การดำเนินการตามหลักคุณธรรมมีความรู้สนับสนุน

ประการที่สาม ทั้ง SEP และ SDGs ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สำหรับ SDGs นั้น ส่วนนี้คือสิ่งที่ชัดเจนผ่านแนวคิดการพัฒนาที่ครอบคลุม (inclusive development) และรายละเอียดในเป้าหมายและเป้าหมายย่อยต่าง ๆ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 2 ที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารรายเล็ก เป้าหมายที่ 5 ที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและเด็กหญิง และเป้าหมายที่ 10 ที่มุ่งเสริมพลังและสร้างความเท่าเทียมในทุกมิติให้กับคนด้อยโอกาสและเปราะบางทุกกลุ่ม

ส่วน SEP นั้น แม้มิได้มีองค์ประกอบในตัวแนวคิดที่บ่งชี้เรื่องของการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังก็ตาม แต่ที่มาของ SEP นั้นเริ่มมาจากการที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ต้องการหาวิธีการในการทำให้เกษตรกรและคนในชนบทพออยู่พอกินได้เป็นเบื้องต้น ซึ่งคนเหล่านี้เองคือกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยนโยบายของรัฐบาล ก่อนจะขยายไปยังคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม กระทั่งการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงแรกก็เน้นไปที่ภาคเกษตรกรรมจนนำมาซึ่ง เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory of Agriculture) ซึ่งถูกนำไปประยุกต์ใช้โดยเกษตรกรในชนบทอย่างแพร่หลาย

ประการที่สี่ ทั้ง SEP และ SDGs ต่างมีส่วนที่เน้นเกี่ยวกับความสามารถในการตั้งรับปรับตัว (resilience) ต่อช็อกทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดย SEP นั้นเสนอหลักคิดและเงื่อนไขที่จะทำให้คนแต่ละคนหรือองค์กรแต่ละองค์กรสามารถดำรงอยู่และดำเนินการในแบบที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง พิจารณาได้จากหนึ่งในหลักคิดมีเรื่องของการสร้างภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะ ในขณะที่ SDGs เน้นไปที่การทำให้แน่ใจว่า ในสังคมนั้นมีกลไกการคุ้มครองทางสังคม (social protection mechanism) ที่ทำหน้าช่วยดูดซับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับคนในสังคมให้เบาบางลง ซึ่งกลไกการคุ้มครองทางสังคมนี้ปรากฏอยู่ในหลายเป้าหมาย ทั้งเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (เป้าหมายย่อย 1.3) เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (เป้าหมายย่อย 3.8) และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (เป้าหมายย่อย 10.4)

ประเด็นนี้เองเป็นประเด็นที่สะท้อนได้ค่อนข้างชัดว่า SEP และ SDGs มีส่วนเสริมกันในด้านนี้คือ SDGs สามารถช่วยทำให้ภาพปลายทางอันเป็นเป้าหมายของทั้ง SEP และ SDGs มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น SEP ให้หลักในการตัดสินใจและปฏิบัติในระดับบุคคลโดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งรับปรับตัว ในขณะที่ SDGs ให้ภาพเชิงระบบ

ประการที่ห้า ทั้ง SEP และ SDGs ให้ความสำคัญกับการศึกษาและการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน (sustainable consumption) SDGs มีเป้าหมายย่อยที่กล่าวถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะคือ เป้าหมายย่อย 12.8 ที่เน้นเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) โดยเฉพาะในส่วนของการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการบริโภคอย่างพอดีให้มีของเหลือน้อยที่สุด การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วน SEP นั้น แม้จะไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจนในองค์ประกอบของหลักปรัชญา แต่การตีความเรื่องความพอประมาณ ก็มักจะถูกตีความไปในเชิงของการบริโภคที่ยั่งยืนเช่นกัน หมายถึงการบริโภคที่พอดี ไม่มากเกินไปจนเกิดของเหลือหรือของเสีย ไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากของเสียให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประการที่หก หากเราตีความ SEP อย่างกว้างให้ครอบคลุมศาสตร์พระราชา ที่ดำเนินการพัฒนาโดยอาศัยหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะมีความสอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs มากยิ่งขึ้น เพราะหนึ่งในหลักของการนำ SDGs ไปขับเคลื่อนคือการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ โดยเริ่มจากท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมและใช้ SDGs เป็นกรอบในการทำความเข้าใจปัญหาร่วมกัน และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมให้คนในท้องถิ่นมาร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งการประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชานั้นสามารถประยุกต์ใช้กับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ในหลายประเด็นสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ภายใต้ SDGs

อย่างไรก็ดี SEP และ SDGs มีจุดที่แตกต่างกันเช่นกัน มีอย่างน้อย 4 ประการ

ประการที่หนึ่ง SDGs และ SEP ตั้งอยู่บนหลักการที่แตกต่างกัน SDGs มีความชัดเจนว่าตั้งอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ SEP นั้นแม้จะไม่ได้มีการระบุอย่างชัดแจ้ง แต่มีความเป็นไปได้ว่า SEP ตั้งอยู่บนหลักจริยธรรมแบบพุทธอันสอดคล้องกับหลักศาสนาอื่น ๆ ด้วย ดูได้จากคำที่ใช้ในการอธิบายเงื่อนไขคุณธรรม

ความแตกต่างนี้นำมาซึ่งวิธีคิดที่แตกต่างกัน เช่น หากมองในมุมของ SDGs ที่อยู่บนฐานของหลักสิทธิมนุษยชนนั้น การเลือก การแสดงความคิดเห็น การเข้าถึงบริการสาธารณะ เข้าถึงโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การได้รับความช่วยเหลือคุ้มครอง ต่างเป็นสิทธิ (rights) ที่รัฐจะต้องจัดให้แก่คนทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ในขณะที่ SEP ซึ่งตั้งอยู่บนฐานจริยธรรมแบบพุทธจะมองเรื่องข้างต้นในแบบที่แตกต่างไป เช่น การเลือกหรือการแสดงความคิดเห็นที่อยู่บนหลักจริยธรรมทางศาสนาจะต้องพิจารณาถึงตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมและความเหมาะสมต่าง ๆ หากไม่เหมาะสมกับตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมแล้ว การห้ามแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ทำได้ หรือ การเข้าถึงการบริการสาธารณะ โอกาสในการดำรงชีวิต การช่วยเหลือคุ้มครองจากรัฐ จะถูกมองว่าเป็นการ “ช่วยเหลือ” หรือ “สงเคราะห์” ซึ่งเป็นไปตามคุณธรรมด้านความเมตตา กรุณา ซึ่งหากไม่ต้องช่วยเหลือแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ของรัฐ

ประการที่สอง เมื่อฐานคิดข้างต้นแตกต่างกัน รัฐที่ใช้รับเอา SEP มาขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบกับรัฐที่รับเอา SDGs มาขับเคลื่อนอย่างเต็มรูปแบบจะมีมาตรการที่แตกต่างกันในประเด็นเรื่องของกลไกการคุ้มครองทางสังคม รัฐที่รับเอา SEP มาขับเคลื่อนจะเน้นไปที่การสงเคราะห์ช่วยเหลือและเน้นไปที่คนยากจนและกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่รู้แน่ว่าขาดศักยภาพในการดูแลตนเอง ในขณะที่คนที่ไม่ใช่คนยากจนสามารถพึ่งตนเองได้แล้ว

ส่วนรัฐที่รับเอา SDGs มาขับเคลื่อนจะมองว่ากลไกการคุ้มครองทางสังคมเป็นสิทธิทุกคนควรได้รับเป็นพื้นฐาน เพราะคนทุกคนมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงในชีวิตได้ทั้งสิ้น และคนแต่ละคนมีทรัพยากรในการรองรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน คนที่ชนชั้นกลางหรือสูงขึ้นไปก็มีโอกาสที่จะต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเช่นกัน รัฐจึงมีหน้าที่ในการเป็นกลไกที่ช่วยดูดซับความเสี่ยงบางส่วนเพื่อให้ทุกคนไม่ต้องได้รับผลกระทบรุนแรงเกินไปนัก และฟื้นคืนกลับไปสู่ชีวิตปกติได้เร็วขึ้น

ประการที่สาม ประเด็นภายใต้ SDGs นั้นกว้างขวางกว่าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ SEP มากและครอบคลุมหลายระดับ นอกเหนือจากประเด็นใน SDGs ที่มีความครอบคลุมสอดคล้องกับ SEP แล้ว SDGs ยังครอบคลุมประเด็นอื่นด้วย โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างกฎกติกาต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (เป้าหมายย่อย 10.3) และประเด็นทางด้านสิทธิและความเท่าเทียมอื่น ๆ (เช่น เป้าหมายที่ 5 และเป้าหมายที่ 16 เป็นต้น) ในขณะที่ SEP ไม่ได้มีประเด็นเหล่านี้ปรากฏอย่างชัดแจ้งในองค์ประกอบและเนื้อหา ซึ่งในทางหนึ่งก็สามารถอธิบายได้ว่า SEP ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้น หากแต่มุ่งให้เกิดความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อช็อกในทุกระดับ นอกจากนี้ ในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น SDGs ยังมิได้เน้นเพียงประเด็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่กระทบคุณภาพชีวิตโดยตรงเท่านั้น แต่ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมในระดับโลก และประเด็นมลพิษและสิ่งแวดล้อมแบบข้ามพรมแดนอีกด้วย ในขณะที่ SEP ไม่ได้ระบุประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจนนัก

ประการที่สี่ การนำ SEP ไปขับเคลื่อนในปัจจุบันมักเน้นไปในทางการสร้างจิตสำนึกเป็นหลัก ผนวกกับการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง แต่ SDGs มิได้กล่าวถึงการสร้างจิตสำนึก แต่เน้นที่การใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งกลไกทางการเงิน การปรับโครงสร้างแรงจูงใจ กฎหมายและข้อบังคับ การให้การศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ และการใช้มาตรการเชิงพฤติกรรม


04 – นัยยะต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และข้อเสนอเชิงนโยบาย

จากการวิเคราะห์ข้างต้น สิ่งที่เราควรเข้าใจร่วมกันก็คือ SDGs เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาที่มีประเด็นกว้างขวางมาก ครอบคลุมถึง 169 ประเด็นเป็นอย่างน้อยตามจำนวนเป้าหมายย่อย และ SEP จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวให้ทุกภาคส่วนพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมได้ โดยให้แนวทางในการดำรงอยู่และตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ ในทุก ๆ ระดับ นอกจากนี้ SEP ที่ถูกประยุกต์มาเป็นศาสตร์พระราชาที่เน้นหลักการ “เข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา” ยังสามารถใช้เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาความท้าทายภายใต้ SDGs และประยุกต์กับการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เราต้องตระหนักว่า การใช้เพียงแนวทางจาก SEP ในการขับเคลื่อน SDGs นั้นยังไม่เพียงพอในหลายแง่มุม และต้องการการหนุนเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้การขับเคลื่อน SDGs บรรลุได้จริง

ประการแรก หลายประเด็นใน SDGs เป็นประเด็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกัน การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ใน SEP ทั้งด้วยเหตุที่ SEP ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น และไม่ได้อยู่บนฐานคิดเดียวกัน ดังนั้น การใช้ SEP เพียงอย่างเดียวหรือกระทั่งเป็นหลักในการขับเคลื่อน SDGs อาจทำให้รัฐละเลยหรือให้ความสำคัญแก่ประเด็นสิทธิมนุษยชนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ดังนั้นการใช้ SEP เพื่อการขับเคลื่อน SDGs นั้น ยังคงต้องยึดหลักการของ SDGs เป็นสำคัญ แล้วนำเอาแนวทางและหลักการต่าง ๆ ของ SEP ไปประยุกต์เพื่อขับเคลื่อน หาใช่การใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักใหญ่ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ มิเช่นนั้น การขับเคลื่อน SDGs ของประเทศไทยจะไม่มีวันบรรลุได้เลย

ประการที่สอง จริงอยู่ที่ SEP เน้นแนวทางที่บุคคลในทุกระดับสามารถรับไปใช้เพื่อให้เกิดความพอเพียงได้ แต่เพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ทุกคนพอเพียง เพราะแต่ละบุคคลมีทรัพยากรสำหรับรองรับความเสี่ยงไม่เท่ากัน การจะส่งเสริมให้เกิดความพอเพียงได้จริง และตอบโจทย์เรื่องการตั้งรับปรับตัวในทุกระดับของ SDGs จะต้องมีการทำงานเชิงระบบควบคู่กันไปด้วย ทั้งระบบการคุ้มครองทางสังคม ระบบการเตือนภัยและการอพยพ มาตรการที่ส่งเสริมการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ  เป็นต้น โดยระบบเหล่านี้ควรทำหน้าที่ดูดซับความเสี่ยงบางส่วนของประชาชนและทำให้ประชาชนมีศักยภาพในการตั้งรับปรับตัวสูงขึ้นผ่านข้อมูลที่มีคุณภาพและทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นจากการหนุนเสริมของรัฐ เราไม่สามารถผลักภาระของความพอเพียงและการตั้งรับปรับตัวไปให้ประชาชนคนธรรมดาได้ นอกจากนี้ยังควรมีการประยุกต์ใช้มาตรการที่หลากหลายเพื่อการขับเคลื่อน SDGs ด้วย

ประการที่สาม หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นหลักการที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งและสามารถนำไปประยุกต์กับการแก้ไขปัญหาได้หลากหลาย อย่างไรก็ดี หลักการข้างต้นเป็นหลักการในการดำเนินโครงการ แต่เราจะต้องไม่ลืมว่า ในการจะดำเนินโครงการได้จะต้องมีปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ก็คือ รัฐบาลอาจส่งเสริมการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับระบบสนับสนุนการขับเคลื่อนด้วย ทั้ง กลไกการเงินเพื่อการพัฒนา ระบบติดตามประเมินผลและทบทวน เวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามภาคส่วน การจัดระบบนโยบายและกฎกติกาให้สอดคล้องและส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

ในแง่ของนัยยะที่มีต่อการทำงานของกลไกทีมีอยู่แล้วนั้น คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ควรพิจารณาบทวิเคราะห์ข้างต้น และดำเนินการตามข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์สำหรับคณะอนุกรรมการฯ ดังนี้

  1. คณะอนุกรรมการฯ ควรเน้นเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนในกลุ่มเปราะบาง โดยคณะอนุกรรมการฯ ควรทำหน้าที่ทบทวน เสนอแนะ และติดตามให้กลไกการคุ้มครองทางสังคมในสังคมไทยมีความครบถ้วน ครอบคลุม และเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เพื่อแน่ใจว่าทุกคนจะมีชีวิตอย่างพอเพียงได้ ซึ่งหมายถึงสามารถตั้งรับปรับตัวอย่างสมดุลกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งการทำงานในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ SEP สอดคล้องกับ SDGs อย่างชัดเจน
  2. คณะอนุกรรมการฯ ควรกำหนดให้มีการจัดทำตัวชี้วัด SDGs ที่จำเพาะกับกลุ่มเปราะบางแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะให้เกิดขึ้น เพื่อใช้ในการติดตามสถานะความยั่งยืนของชีวิตของคนในกลุ่มเหล่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่า คณะอนุกรรมการฯ นี้จะต้องไปมีส่วนในการผลักดันเรื่องของการปฏิรูประบบสถิติ ให้สามารถจำแนกแยกแยะ (disaggregate) ข้อมูลให้เห็นภาพของคนแต่ละกลุ่มได้ ทั้งจำแนกตามอายุ ตามเพศ ตามกลุ่มชาติพันธุ์ ตามสถานะการอพยพ ฯลฯ
  3. คณะอนุกรรมการฯ ควรส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อน SDGs ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดทำแนวทางการขับเคลื่อน แล้วจัดให้มีกลไกการสนับสนุนการขับเคลื่อนที่รอบด้าน ทั้งระบบข้อมูล กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน การติดตามและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยโครงการนี้ควรดำเนินการอย่างกว้างขวางในทุกพื้นที่ และเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมขับเคลื่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs แล้วยังเป็นการขับเคลื่อน SEP ไปพร้อม ๆ กันด้วย
  4. คณะอนุกรรมการฯ ควรจัดให้มีการประเมินผลกระทบของโครงการทั้งหมดที่ดำเนินการโดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบตามกรอบ SDGs การประเมินผลกระทบโครงการที่ดำเนินการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบ อย่างกว้างขวางและครบถ้วน และสังเคราะห์ให้เห็นว่าโครงการเหล่านั้นมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อน SDGs อย่างไร จะช่วยเป็นเครื่องยืนยันที่มีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถสร้างผลกระทบต่อ SDGs เพียงใดและอย่างไร ซึ่งภาครัฐสามารถใช้เป็นข้อมูลในการนำเสนอผลการดำเนินการในระดับโลกได้อีกด้วย

| บทสรุป

บทความนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงระดับของความสอดคล้องกันระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) และทำการสังเคราะห์นัยยะและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากการวิเคราะห์ข้างต้นชี้ให้เห็นว่า SEP สามารถเป็นหนึ่งในแนวทางเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ โดยเฉพาะในส่วนของการเป็นหลักปฏิบัติให้บุคคลและองค์กรดำรงอยู่และดำเนินชีวิตให้สมดุลและตั้งรับปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ และยังสามารถนำหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ดี SEP ไม่สามารถเป็นหลักการหลักในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ได้เนื่องจากฐานคิดของ SEP และ SDGs แตกต่างกัน โดย SDGs มีฐานคิดอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน ส่วน SEP อยู่บนฐานคิดของจริยธรรมแบบพุทธ ดังนั้นการขับเคลื่อน SDGs จำเป็นต้องอยู่บนหลักการของ SDGs ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญ แล้วจึงใช้ SEP เป็นหลักการและแนวทางเข้ามาเสริมให้บุคคลสามารถปฏิบัติตนได้อย่างพอเพียงและมีภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ แนวทางสำหรับบุคคลและองค์กรของ SEP ต้องถูกส่งเสริมควบคู่ไปกับการที่ภาครัฐจัดให้มีระบบสนับสนุนและกลไกการคุ้มครองทางสังคมเพื่อให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงความพอเพียงได้ การสนับสนุนการใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในการพัฒนาก็เช่นกัน จะต้องมีระบบสนับสนุนและกลไกที่ทำให้คนทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อน SDGs ตามหลักการดังกล่าวได้เช่นกัน เช่น กลไกการเงินเพื่อการพัฒนา ระบบการติดตามประเมินผลกระทบทุกภาคส่วน

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควรมีทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ เน้นไปที่นโยบายการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนในกลุ่มเปราะบาง และเพื่อให้สามารถผลักดันนโยบายนี้ได้มีประสิทธิภาพ คณะอนุกรรมการฯ ควรกำหนดให้มีการจัดทำตัวชี้วัด SDGs ที่จำเพาะกับกลุ่มเปราะบางแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ควรส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมาร่วมขับเคลื่อน SDGs ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนแล้วจัดให้มีกลไกการสนับสนุนการขับเคลื่อนที่รอบด้าน และจัดให้มีการประเมินผลกระทบของโครงการทั้งหมดที่ดำเนินการโดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นระบบตามกรอบ SDGs


● อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)


อ้างอิง

Avery, Gayle C., and Harald Bergsteiner, eds. 2016. Sufficiency Thinking. St Leonards, NSW, Australia: Allen & Unwin.

Dodds, Felix, David Donoghue, and Jimena Leiva Roesch. 2016. Negotiating the Sustainable Development Goals. London, England: Routledge.

Gupta, Joyeeta, and Courtney Vegelin. 2016. “Sustainable Development Goals and Inclusive Development.” International Environmental Agreements: Politics, Law and Economics 16 (3): 433–48.

International Council for Science. 2017. “A Guide to SDG Interactions: From Science to Implementation.” https://council.science/wp-content/uploads/2017/05/SDGs-Guide-to-Interactions.pdf.

Ministry of Foreign Affairs, Kingdom of Thailand. 2018. “Sufficiency Economy Philosophy: Thailand’s Path towards Sustainable Development Goals.” https://data.opendevelopmentmekong.net/dataset/sufficiency-economy-philosophy-thailands-path-towards-the-sustainable-development-goals/resource/adacab88-fcf3-4cf0-8751-7363ba26afee?type=library_record.

Rockström, Johan, Will Steffen, Kevin Noone, Åsa Persson, F. Stuart Chapin, Eric Lambin, Timothy M. Lenton, et al. 2009. “Exploring the Safe Operating Space for Humanity.” Ecology and Society 14 (2). http://www.jstor.org/stable/26268316.

Sachs, Jeffrey D., Guido Schmidt-Traub, Mariana Mazzucato, Dirk Messner, Nebojsa Nakicenovic, and Johan Rockström. 2019. “Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals.” Nature Sustainability 2 (9): 805–14.

Sustainable Development Solutions Network. 2015. “Getting Started with the SDGs.” 2015. https://sustainabledevelopment.un.org/index.php?page=view&type=400&nr=2217&menu=1515.

United Nations. 2015. “Transforming Our World: The 2030 Agenda for Sustainable Development.” General Assembley 70 Session.

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.” n.d. มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ. Accessed April 23, 2022. https://www.pidthong.org/philosophy.php.

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 1, 2022

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น