ผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย แรงงานไทยดำรงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำต่อวันที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น โดยมีแรงงานมากถึง 99% ของกลุ่มตัวอย่างแรงงานไทย 1,260 ตัวอย่างที่เผชิญกับภาวะหนี้ครัวเรือน เฉลี่ย 217,952.59 บาทหรือเพิ่มขึ้น 5.09% จากช่วงเดือนเมษายนปี 2564 ทำให้ปี 2565 นี้เป็นปีที่ทำสถิติหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในรอบ 14 ปีตั้งแต่ที่มีการสำรวจมา
การสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นการเก็บข้อมูลกรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนจำนวน 1,260 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18 – 24 เมษายน พ.ศ. 2565 โดยมีแรงงาน 52% เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม อีก 48% เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม และในจำนวนกลุ่มตัวอย่างนี้ เป็นแรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (31.4%) ภาคกลาง (22.4%) ภาคเหนือ (15.7%) ภาคใต้ (14.0%) และจังหวัดกรุงเทพฯ – ปริมณฑล (16.5%)
นอกจากผลการสำรวจจะชี้ถึงปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค และราคาน้ำมันแล้ว ยังชี้ถึงสัดส่วนหนี้สินของแรงงานไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2562 (95%) ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต เงินกู้ หนี้ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ไปจนถึงหนี้สำหรับประกอบการทำธุรกิจ เหล่านี้สะท้อน “ภาระค่าใช้จ่าย” ที่ไม่สอดคล้องกับ “รายได้”
ภาพจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย / เว็บไซต์ ryt9.com
โดยยังสะท้อนถึงความสามารถของแรงงานในการ “ชำระหนี้” อีกด้วย จากผลการสำรวจดังกล่าวพบว่ามีแรงงาน 68.5% ที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ และมีเพียง 31.5% เท่านั้นที่ผิดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม การผิดชำระหนี้ได้แสดงถึงความสามารถของแรงงานในการใช้จ่ายในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่เป็นไปได้ว่าจะลดลง ขณะที่ผลการสำรวจยังพบปัญหาการออมของแรงงานไทย โดยมีแรงงานถึง 67.7% ที่ไม่มีเงินออม และส่วนใหญ่ “ไม่มีอาชีพเสริม”
ส่วนค่าครองชีพที่สูงขึ้นประกอบกับโอกาสที่ในปีนี้หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 95% ของ GDP ประเทศนั้น ทำให้แรงงานไทยหันมาพยายามลดภาระค่าใช้จ่ายหรือชะลอการบริโภคลง อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศหดตัวลงด้วย ในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหานี้จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าว
ขณะเดียวกัน ประเด็นที่แรงงานไทย “ห่วงกังวลมากที่สุด” คือ สภาพเศรษฐกิจและราคาสินค้าในอนาคต โดยต้องการให้ภาครัฐเข้ามากระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจ อาทิ ผ่านโครงการ/มาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ซึ่งจะเป็นวิธีช่วยเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด มากไปกว่านั้น แรงงานยังมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพและ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ด้วย
ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทยอยู่ที่ 336 บาทต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยกลุ่มตัวอย่างแรงงานมองว่า ควรปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทต่อวัน อย่างไรก็ดี นายธนวรรธน์ฯ ระบุว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 10 – 20% โดยทันทีจะส่งผลให้นายจ้างโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีต้นทุนที่สูงขึ้นหรือทำให้ขาดสภาพคล่อง จึงมีความเห็นว่าควรปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ 3 – 5% โดยให้เป็นไปตามความสามารถของนายจ้างและให้เป็นไปตามดุลยพินิจของที่ประชุมไตรภาคีระหว่างลูกจ้างและนายจ้างในแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานนั้น จะทำให้แรงงานในฐานะผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อมากขึ้น และกลับมาช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอีกครั้ง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– สสช. รายงานสำรวจรายได้ครัวเรือนไทย ปี 2564 ชี้ เกินกว่าครึ่งมีหนี้สิน รายได้กลุ่มรวยสุดและจนสุด ‘ห่างกัน’ ถึงเกือบ 9 เท่า
– SDG Insights | เพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อ GDP กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
– SDG Insights | แรงงาน…สู่โลกหลังโควิด-19
– อัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2564 ของประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในเอเชียและต่ำกว่าประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว
– การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นด้านสุขภาพเช่นกัน เพราะรายได้สูงขึ้นสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีกว่า
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
– (10.4) นำนโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
แหล่งที่มา:
– ม.หอการค้า สำรวจแรงงานไทย 1.2 พันคน พบ 99% แบกภาระหนี้ (Thai PBS)
– ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจแรงงานไทยเป็นหนี้ถึง 99% ปี 65 ภาระหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 14 ปี (ช่อง 7)
– แรงงานไทยอ่วม! แบกหนี้หลังแอ่น (ไทยรัฐ)
– แรงงานไทย หนี้ครัวเรือนพุ่ง 99% สูงสุดในรอบ 13 ปี เหตุเงินไม่พอจ่ายหนี้ (ประชาชาติ)
– 1 พ.ค. นายกฯ เปิดงานวันแรงงาน สภานายจ้างค้านค่าแรงขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ (ไทยรัฐ)