SDG Updates | (EP.2) Futures Literacy: ทบทวนการมีอยู่ของ “มหาวิทยาลัย” ในอนาคต ทั้งในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่าน และ ผู้ถูกเปลี่ยนผ่าน

สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มใหม่ที่จะเกิดขึ้นทั้ง Digital disruption การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ความกังวลว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนมนุษย์หรือไม่ อาชีพที่เคยรู้จักเริ่มหายไป วิชาที่เรียนในมหาวิทยาลัยที่อาจตามยุคสมัยไม่ทันแล้ว ใบปริญญามีความหมายอะไรเมื่อการเตรียมพร้อมเพื่อหลายอาชีพไม่มีอยู่ในหลักสูตรด้วยซ้ำ รวมไปถึงว่า ในโลกที่วิกฤตสังคมและสิ่งแวดล้อมรุนแรงเช่นนี้ จะผลิตบัณฑิตที่มีความสนใจกว้างไปกว่าความสำเร็จของตนได้อย่างไร — เหล่านี้คงเป็นคำถามที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยคงต้องขบคิดถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในอนาคตในฐานะที่เป็นคลังความรู้ของสังคมและมีศักยภาพที่จะชี้นำสังคมไปในทิศทางที่ถูกที่ควร ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นจะต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของสังคมและผู้เรียนไปด้วย

SDG Updates ฉบับนี้อยากพาผู้อ่านทุกคน ลองดูความเป็นไปได้ (plausible) หลากหลายของอนาคต “สถาบันอุดมศึกษา” ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความกดดันจากการปฏิรูปสังคมและเศรษฐกิจ โดนแรงกระเพื่อมจากคลื่นของวิกฤตหลายต่อหลายระลอก จนถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามอีกครั้งถึงที่ทางของ “มหาวิทยาลัย” ในสังคมโลกว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป ทั้งในฐานะผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต (ที่หวังว่าจะยั่งยืนและเป็นธรรมกว่า) และในฐานะผู้ถูกเปลี่ยนผ่านจากความผันผวนเกินคาดเดาด้วยเอง

เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ขนาดเต็มที่นี่: www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/05/FL-EP2.png


01 – ในอนาคตที่ไม่แน่นอนอาจไม่มี “มหาวิทยาลัย” แบบที่เราเคยรู้จัก

อนาคตที่มีแต่ความไม่แน่นอน ความรู้นอกห้องเรียน การพลิกโฉมหน้าการศึกษาด้วยเทคโนโลยี เหล่านี้ต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้รากฐานของการมีอยู่ของมหาวิทยาลัยสั่นสะเทือน นี่อาจเป็นใจความหลักของ ดร.Adrian W. J. Kuah ผู้อำนวยการ Futures Office ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ที่ฉุกให้ผู้ร่วมเวทีเสวนาและผู้ชมผู้ฟังได้ตั้งคำถามเชิงมโนทัศน์เพื่อทะลายกรอบคิดเดิมว่า “จะเป็นอย่างไรถ้า ‘มหาวิทยาลัย’ ในอนาคคตจะไม่ใช่อะไรที่เราเคยนึกถึงอีกต่อไป?” ไม่ใช่ภาพผู้เรียนวัยหนุ่มสาวในห้องเรียนขนาดใหญ่ มีผู้สอนกำลังบรรยายอยู่หน้าชั้นที่เคยเห็นกันมาเนิ่นนาน แต่ ..

  • มหาวิทยาลัยในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ (space) ทางกายภาพอีกต่อไป เพราะห้องเรียนเป็นที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ต 
  • ผู้เรียนผู้สอนไม่ถูกกำหนดด้วยกรอบของเวลา (time) ของคลาสเรียนหรือปีการศึกษาเพราะเรียนเมื่อใดก็ย่อมได้ และความรู้นั้นก็จะอยู่และเข้าถึงได้ตลอดกาลบนโลกออนไลน์ 
  • เมื่อถึงห้วงเวลาในอนาคตนั้น ที่ทุกคนเข้าถึงความรู้นับไม่ถ้วนของโลกใบนี้ได้จากปลายนิ้ว อำนาจ (power) ของมหาวิทยาลัยที่เคยมีในการเลือกให้สิทธิพิเศษต่อชุดความรู้หนึ่งว่าเหมาะควรถ่ายทอดจะยังคงอยู่หรือไม่? หากหายไปแล้วสถานะของมหาวิทยาลัยผู้เป็นศูนย์กลางของความรู้ของสังคมจะเปลี่ยนไปเช่นไร?
  • และในขณะที่ มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นสถาบันทางสังคมเช่นกัน มหาวิทยาลัยในอนาคตจะทำหน้าที่สะท้อน หรือ สร้างความเป็นจริง (reality) ของสังคมขึ้นมาใหม่กันแน่?
  • หรือจะไม่เป็นเพียงโรงงานสร้างบุคลากรสู่การแข่งขันในโลกเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเหมือนเช่นเคย แต่ในเชิงความคิดและจิตวิญญาณ (mind and soul) จะเป็นพื้นที่ของการค้นหาและพัฒนาตัวตนของคนวัยหนุ่มสาวทั้งหลายให้กลายเป็นคนเต็มคนด้วย

02 – วิกฤตอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย: จินตนาการใหม่ถึงบทบาทของ “มหาวิทยาลัย 4.0” ในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัลทำให้ทั้งคุณวุฒิ (qualifications) และการเรียนการสอน (pedagogy) ที่ได้จากมหาวิทยาลัยด้วยแนวทางแบบดั้งเดิม กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไป และด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ มหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนตนเองจนถึงรากฐาน (transform) เพื่อให้ยังคงเป็นสถาบันที่มีคุณค่าและยังสอดคล้องจำเป็นกับโลกในอนาคต

| บทบาทที่มหาวิทยาลัย 4.0 จะเป็นได้ในโลกแบบ VUCA

V-Volatility ความผันผวน — U-Uncertainty ความไม่แน่นอน
C-Complexity ความซับซ้อน — A-Ambiguity ความคลุมเครือ

เพื่อสร้างบุคลากรที่สามารถเตรียมพร้อมและจัดการกับความท้าทายทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึง มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ให้ความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ หนึ่งยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไท  รองอธิการบดีด้านการวางและกำหนดยุทธศาสตร์ นวัตกรรมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ “การบ่มเพาะผู้นำในอนาคตที่ใส่ใจในประเด็นทางสังคมและปรารถนาที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง” ในหนทางนั้น การศึกษาเพื่อการให้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skills) อาทิ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration competency) และ ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking competency) ไปจนถึงชุดความคิดของการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) เป็นสิ่งสำคัญที่ถูกเพิ่มเข้ามาในหลักสูตรการศึกษา 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.Thanongsack Duangdala รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว (NUOL) ชี้ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยควรเตรียมบัณฑิตให้พร้อมกับ “อาชีพใหม่ที่ยังไม่มีอยู่ในปัจจุบัน” และความเปลี่ยนแปลงในตลาดการจ้างงานที่มีแนวโน้มต้องการบัณฑิตที่มีองค์ความรู้แบบสหวิทยาการ (interdisciplinary) มากกว่ามีความถนัดเพียงแค่ด้านเดียว ในขณะที่การเรียนการสอนฝั่งวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้น รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์การสอนว่า นักเรียนแพทย์นั้นมีความสนใจที่จะพัฒนาความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทางและเป็นนวัตกรรมมากกว่าสาขาวิชาที่เป็นองค์รวม

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่มหาวิทยาลัยตื่นตัวเพื่อปรับหลักสูตรให้สอดคล้องตามทันความต้องการของโลกเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ดร.Adrian ย้ำเตือนมหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ให้ความรู้ว่าต้องไม่ตีความคำว่า “สอดคล้อง” (relevant) นี้ เป็น “สอดคล้องอย่างเร่งด่วน” (immediate relevant) เพราะอาจทำให้มองข้ามความรู้และทักษะที่อาจยังไม่จำเป็นหรือเห็นประโยชน์ในปัจจุบัน แต่จะสอดคล้องและจำเป็นกับความต้องการในโลกอนาคตที่ไกลออกไป

การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ทำให้โลกปัจจุบันกลายเป็นโลกแบบ VUCA ที่เห็นภาพชัดที่สุด วิกฤตนี้ได้พาห้องเรียนในปัจจุบันย้ายไปสู่โลกออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ถึงกระนั้น ผศ. ดร.Thanongsack ยังยืนยันว่ามหาวิทยาลัยควรคงบทบาทเป็น “พื้นที่ของการแบ่งปันความรู้ (knowledge sharing)” ที่ให้ข้อมูล ความรู้ ทักษะที่จำเป็นทั้งกับผู้เรียนหน้าใหม่และผู้เรียนที่กลับมาพัฒนาทักษะเดิม (upskill) เติมทักษะใหม่ (reskill) เพื่อตามให้ทันและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลก

เช่นเดียวกันกับเมื่อมองในมิติบทบาทที่มหาวิทยาลัยพึงเป็น ศาสตราจารย์ ดร.Yasuyuki Kono รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเกียวโต ชี้ให้เห็นว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยคือพื้นที่ของเตรียมตัวของคนวัยหนุ่มสาว เป็น “สะพานจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่” คำถามอาจเป็น “พวกเขาควรเติบโตในช่วงนี้อย่างไร?” เพื่อให้อยู่รอดในโลกที่ผันผวน คำตอบอาจไม่ใช่การให้ผู้เรียนตักตวงความรู้ผ่านโปรแกรมการสอนที่อัดแน่น แต่คือการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมใน “การสร้างความรู้” (knowledge creation) เพื่อให้ผู้เรียนสามารถมีศักยภาพที่จะสร้างองค์ความรู้ของตนเองและทำงานเพื่อคนอื่นได้

| เมื่อความรู้หาได้จากอินเทอร์เน็ต บทบาทของผู้เรียนและผู้สอนก็เปลี่ยนไป

รศ. นพ.สุนทร ชี้เทรนด์ของนักศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยมากเช่นในอดีต แต่เลือกให้ความสำคัญมากกว่ากับใบรับรองทักษะความรู้ที่จำเพาะเจาะจงจากองค์กรระดับโลก เพราะสามารถการันตีแก่ผู้ว่าจ้างได้ว่าผู้สำเร็จการเรียน/การฝึกนั้นมีทักษะนั้นจริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินเดือนและโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานในอนาคตได้จริง ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงควรให้การเรียนการสอนที่เชื่อมั่นได้ว่าสามารถสร้างบุคลากรที่มีความรอบรู้นั้นจริง ในวิธีหนึ่งคือต้องเปลี่ยนแนวทางจาก “การสอนเป็นการโค้ช” (teaching to coaching) ซึ่งจากประสบการณ์การสอนวิชาแพทย์ สามารถช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจที่ดีขึ้น ลงมือปฏิบัติได้จริง และได้ความรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้สอนที่ไม่สามารถหาได้จากอินเทอร์เน็ต

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นภาคบังคับที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ศาสตราจารย์ ดร.Yong Zulina Binti Zubairi รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสากล มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวจากการสอนออนไลน์ในช่วงสองปีของโควิด-19 ว่าแหล่งข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น “พัฒนาขึ้นอย่างทวีคูนทั้งจำนวนและคุณภาพ” จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความสามารถของการเป็นครูของตน แนวทางการเรียนการสอนที่เป็นบทเรียนจากเวลานี้จึงไม่ใช่การถ่ายทอดเพียงฝั่งเดียวจากผู้สอน แต่คือ “การร่วมคิดร่วมสร้าง” (co-creation) ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน เพื่อประสิทธิภาพของการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ดีและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด โดยผู้สอนเองก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากผู้เรียนไปด้วย

| มหาวิทยาลัย 4.0: มหาวิทยาลัยเพื่อผู้อื่น

“มหาวิทยาลัยยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ หล่อเลี้ยงผู้นำในอนาคตของสังคมของเรา นอกจากนี้ ที่สำคัญกว่านั้น มหาวิทยาลัยเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงและเป็นตัวกลางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต” รศ. ดร.ณัฐชา กล่าวถึงบริบทของมหาวิทยาลัย 4.0 ที่ต้องทำหน้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับโลกผ่านการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความหมายเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างตรงจุดและรวดเร็ว เช่นเดียวกับ รศ. นพ.สุนทร ที่ได้แบ่งปันวิสัยทัศน์ของม.อ. ว่า มหาวิทยาลัยจะต้องมีบทบาทในการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ รวมถึงนวัตกรรมเพื่อมนุษยชาติ ไม่เพียงแต่ในปัจจุบันแต่ในอนาคตด้วย บนฐานที่มีความเข้าใจในความต้องการและอัตลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นในพื้นที่ 


03 – ทิ้งท้าย: บทเรียนจากวิกฤตที่ผ่านมา และย้ำเตือนสิ่งที่พื้นที่การศึกษาควรเป็นในอนาคต

ศ. ดร.Yong Zulina แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตโควิด-19 ว่าทำให้มหาวิทยาลัยทั่วโลกต้องมองย้อนกลับมาที่กลยุทธ์ วิสัยทัศน์ ของตนที่เคยกำหนดว่ายังสอดคล้องกับอนาคตที่มีความผันผวนมากนี้อยู่หรือไม่ ทั้งการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย โปรแกรมการเรียนการสอน พันธกิจต่อสังคม การจัดลำดับความสำคัญด้านงานวิจัย และการสร้างความร่วมมือ ซึ่งคีย์สำคัญของการอยู่รอดของมหาวิทยาลัยนั้นไม่ต่างจากสถาบันทางสังคมอื่น คืออยู่ที่ “ปรับตัวอย่างไร” และต้องล้มแล้วลุกให้ไว (resilience)

ในขณะที่ทุกคนถกเถียงถึงบทบาทและอนาคตที่เป็นไปได้ของมหาวิทยาลัย ศ. ดร.Thanongsack กล่าวว่า ยังมีหลายคนที่เห็นว่า “มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ของชนชั้นสูงเท่านั้น” เยาวชนหลายคนยังยากจนเกินกว่าที่จะได้เรียนถึงระดับอุดมศึกษา และยิ่งเมื่อกระบวนการการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) เข้ามีบทบาทสำคัญในภาคการศึกษา ก็ไม่ใช่ทุกประเทศจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมมากพอที่จะย้ายการเรียนการสอนขึ้นไปบนนั้นได้เต็มที่

เมื่อมหาวิทยาลัยได้รับความคาดหวังจากสังคมว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อเปลี่ยนผ่านไปหาอนาคตที่ดีกว่า มหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างคนรุ่นต่อไปที่มีความต้องการการเปลี่ยนแปลงและเข้าใจความซับซ้อนและเกี่ยวพันของประเด็นต่าง ๆ ระดับโลก และคงจะมีเพียงมหาวิทยาลัยที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นทั่วโลกเท่านั้นที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นได้จริง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ได้สรุปสิ่งสำคัญจากบทสนทนาของผู้ร่วมเสวนาทุกท่านถึงสิ่งที่มหาวิทยาลัย 4.0 ควรทำ นั่นคือ การทำงานร่วมกัน (collaboration) และทำงานข้ามขอบเขตความสนใจหรือปัญหาในพรมแดนประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าจะยังมีอนาคตสำหรับสถาบันทางสังคมที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยอยู่

เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา Panel ที่สอง  University 4.0 – Transition Agents for the Futures – เนตรธิดาร์ บุนนาค
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง


SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่สองในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565

รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
Director’s Note: 10: มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Vocab | 12 – Education for Sustainable Development – การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573

แหล่งที่มา: Panel Session 2: University 4.0 – Transition Agents for the Futures (Chulalongkorn University)

Last Updated on พฤษภาคม 4, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น