รายงานล่าสุด Present and future of work in the Least Developed Countries โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ สภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาพลังงานที่ยังดำเนินต่อไป จวบจนวิกฤติอาหาร เป็นตัวการชะลอความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries – LDCs)
แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะเร่งอัดฉีดแพ็กเกจสนับสนุนทางเศรษฐกิจและมาตรการอื่นอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่อ่อนแอ ทำให้เผชิญกับผลกระทบจากวิกฤติต่าง ๆ หนักกว่าปกติ และจะยิ่งเปราะบางมากกว่าเดิมหากไม่สามารถร่วมขบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกได้
ปัจจุบัน (ข้อมูล 2564) มี 46 ประเทศหรือร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมดในโลกที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีประเทศ LDCs โดยสหประชาชาติมีนิยามระบุว่า หมายถึงบรรดาประเทศที่มีระดับรายได้ต่ำและ “เปราะบาง” ต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยที่ความเปราะบางนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากศักยภาพในการผลิตของประเทศที่อ่อนแอ ซึ่งสัมพันธ์กับศักยภาพและการพัฒนาของทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และขีดความสามารถในการเข้าถึงและใช้งานเทคโนโลยีที่จำกัด ไปจนถึงการที่สถาบันต่าง ๆ อ่อนแอ อาทิ สถาบันที่ดำเนินการด้านระบบการคุ้มครองทางสังคมและการสร้างงาน
46 ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ตามข้อมูลของ UN ปี 2564
● กลุ่มประเทศ LDCs ในแอฟริกาและเฮติ: แองโกลา, เบนิน, บูร์กินาฟาโซ, บุรุนดี, สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ชาด, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, จิบูตี, เอริเทรีย, เอธิโอเปีย, แกมเบีย, กินี, กินี-บิสเซา, เฮติ, เลโซโท, ไลบีเรีย, มาดากัสการ์, มาลาวี, มาลี, มอริเตเนีย, โมซัมบิก, ไนเจอร์, รวันดา, เซเนกัล, เซียร์ราลีโอน, โซมาเลีย, ซูดานใต้, ซูดาน, โตโก, ยูกันดา, สหสาธารณรัฐแทนซาเนียและแซมเบีย
● กลุ่มประเทศ LDCs ในเอเชีย: อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา เนปาล และเยเมน
● กลุ่มประเทศ LDCs ที่เป็นประเทศเกาะ: คอโมโรส คิริบาส เซาตูเมและปรินซิปี หมู่เกาะโซโลมอน ติมอร์-เลสเต และตูวาลู
โดยที่ประเทศ LDCs เหล่านี้ยังมักเป็นประเทศที่เผชิญกับความยากจนขั้นรุนแรง ที่ 90% ของแรงงานเป็นแรงงานนอกระบบ มีการแบ่งขั้วที่ชัดเจนระหว่างธุรกิจที่มีศักยภาพและผลิตภาพแตกต่างกัน รวมถึงยังเป็นประเทศที่มีอัตราการตายของประชาชนที่สูงอีกด้วย
นอกจากความก้าวหน้าและความท้าทายเชิงโครงสร้างของประเทศ LDCs เหล่านี้ รายงานดังกล่าวยังได้ให้ข้อเสนอแนะในการพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม (structural transformation) ไม่ว่าจะเป็นมิติการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น การสร้างงานได้เต็มผลิตภาพและเป็นงานที่มีคุณค่า รวมถึงบทบาทของการคุ้มครองทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอแนะที่เน้น “การฟื้นตัวโดยที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” (human-centered recovery) เช่น การขยายความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance – ODA) การเสริมความแข็งแกร่งด้านสถาบันและนโยบายการจ้างงาน การเสริมความสอดคล้องเชิงนโยบายในการลงมือทำด้านสภาพภูมิอากาศสู่เศรษฐกิจที่สีเขียวมากขึ้น ตลอดจนการเสริมความแข็งแกร่งในมิติของสิทธิและเสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิในที่ทำงาน เป็นต้น
โดยรายงานระบุว่า ตัวอย่างของข้อเสนอแนะเหล่านี้เองที่จะช่วยสนับสนุนให้ความเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐบาลเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนจะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ อันจะก่อให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมขึ้นด้วย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
– (1.a) สร้างหลักประกันว่าจะมีการระดมทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญจากแหล่งต่างๆ รวมถึงการยกระดับความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อที่จะจัดให้มีแนวทางที่เพียงพอและวิธีการที่เป็นไปได้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในการดำเนินงานตามแผนงานและนโยบายเพื่อยุติความยากจนในทุกมิติ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.1) ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านความหลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเป็นหลัก (Labour intensive)
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและพื้นที่เขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สามารถจ่ายได้
– (9.a) อำนวยความสะดวกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงและยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา ผ่านทางการยกระดับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยี และด้านวิชาการให้แก่ประเทศในแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
– (10.b) สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการและการไหลของเงิน ซึ่งรวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ไปยังรัฐที่มีความจำเป็นมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศในแอฟริกา รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล โดยให้เป็นไปตามแผนและแผนงานของประเทศเหล่านั้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของ
ธรรมาภิบาลระดับโลก
แหล่งที่มา:
Progress in Least Developed Countries stalled by multiple crises (ILO)
Last Updated on พฤษภาคม 9, 2022