ตั้งแต่ที่มีการประกาศว่าในปีนี้ คนกรุงจะมีโอกาสออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นครั้งที่ 11 การหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17” ของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้ง 31 คนก็เป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งการออกเดินสายไปยังพื้นที่ชุมชนและเขต-แขวง จนถึงการปรากฏตัวตามหน้าสำนักข่าวออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นอีกแพลตฟอร์มสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้เห็นวิสัยทัศน์ผ่านหน้าจอ และสามารถเข้าถึงแนวนโยบายในการพัฒนาเมืองหลวงของไทยได้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยจุดเด่นและศักยภาพที่รอให้เกิดการผลักดันอย่างตรงจุด รวมถึงสารพันปัญหาและความท้าทายหลายประการที่รอการพัฒนาให้รุดหน้าดีขึ้นหรือกระทั่งทัดเทียมเมืองใหญ่หลายเมืองในเอเชียและในโลก การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่มีวิสัยทัศน์และนโยบายซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง จึงมีนัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นจากระดับท้องถิ่นเช่นกัน
SDG Policy Focus บทความใหม่แกะกล่องที่จะติดตามนโยบายของไทยในหลากหลายแง่มุม ขอใช้ห้วงเวลา 12 วันสุดท้ายก่อนวันเปิดหีบเลือกตั้งที่ 22 พ.ค. 2565 นำเสนอภาพรวมความเชื่อมโยงนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสะท้อนว่าผู้สมัครแต่ละท่านให้ความสำคัญกับการพัฒนาในมิติใดบ้าง เน้นย้ำกับ SDGs เป้าหมายใดมากที่สุด โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับ SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) ตลอดจน 10 นโยบายแรกที่ผู้ลงสมัครฯ หยิบยกให้เป็น “สิ่งที่จะต้องทำ” เหมือนกันหากได้เข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อให้ภาพความเชื่อมโยงนี้เป็นอีกหนึ่งแหล่งข้อมูลโดยสังเขปประกอบการตัดสินใจ ก่อนที่คุณจะเลือกใครเข้ามาเปลี่ยนแปลงเมืองให้เป็น “กรุงเทพฯ… ชีวิตดีดีที่ลงตัว”
ความเชื่อมโยงของนโยบายผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 31 คน กับ SDGs 17 เป้าหมาย
นโยบายของใครเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่ากัน? จากการรวบรวมข้อมูลนโยบายผ่านช่องทางออนไลน์ทางเว็บไซต์ BKK Election 2022 ซึ่งเป็นแหล่งที่รวบรวมนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 31 คนอย่างครบถ้วนมากที่สุดแหล่งหนึ่ง รวมถึงเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ของผู้สมัครบางท่านที่สามารถเข้าถึงได้ อาทิ เบอร์ 1 และ เบอร์ 8 เราได้นำเนื้อหาและ “คำสำคัญ” มาเชื่อมโยงกับ SDGs เป้าหมายที่ 1 – 17 โดยที่กำหนดให้ SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ระหว่างหลากหลายภาคส่วนและความร่วมมือ เป็น “ค่าเริ่มต้น” (default) ที่ไม่ว่าผู้สมัครท่านใดก็จำเป็นต้องพึ่งพาและสัมพันธ์กับเป้าหมายดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปรากฎเป็นภาพสรุปออกมา ดังนี้
เข้าถึงภาพประกอบได้ที่ https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/05/policy-focus-bkk-election-22-01.png
เข้าถึงนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งฯ ทั้ง 31 คนได้ ที่นี่
หมายเหตุ: จำนวนนโยบายของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 31 คน
เบอร์ 1 (12) เบอร์ 2 (10) เบอร์ 3 (6) เบอร์ 4 (5) เบอร์ 5 (7)
เบอร์ 6 (8) เบอร์ 7 (9) เบอร์ 8 (9) เบอร์ 9 (-) เบอร์ 10 (4)
เบอร์ 11 (3) เบอร์ 12 (7) เบอร์ 13 (8) เบอร์ 14 (-) เบอร์ 15 (9)
เบอร์ 16 (3) เบอร์ 17 (7) เบอร์ 18 (10) เบอร์ 19 (-) เบอร์ 20 (6)
เบอร์ 21 (-) เบอร์ 22 (2) เบอร์ 23 (9) เบอร์ 24 (8) เบอร์ 25 (9)
เบอร์ 26 (-) เบอร์ 27 (7) เบอร์ 28 (5) เบอร์ 29 (4) เบอร์ 30 (10) เบอร์ 31 (10)
จากภาพสรุปดังกล่าว จะเห็นว่าในบรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 31 คน ซึ่งชูจำนวนนโยบายที่มากน้อยลดหลั่นกันนั้น มีนโยบายที่เชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs แตกต่างกันไป นโยบายบางข้อเน้นหนักกับ SDG เพียง 1 เป้าหมาย นโยบายบางข้อเน้นการบูรณาการที่เกี่ยวโยงกับ SDG ได้ข้ามเป้าหมาย การที่นโยบายหนึ่ง ๆ สัมพันธ์กับ SDG 8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) แต่ไม่สัมพันธ์กับ SDG1 (ขจัดความยากจน) นั่นอาจเป็นเพราะนโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นการสร้างงาน อาทิ สนับสนุนอาชีพเกิดใหม่จากการเปลี่ยนขยะเป็นสินค้า หรือการจ้างงานจากการขุดลอกคูคลอง ทว่ายังไม่เพียงพอที่จะอนุมานได้ว่าเป็นการมุ่งเน้นการขจัดความยากจนของคนกลุ่มใดเป็นพิเศษ และสะท้อนว่าส่วนใหญ่แล้วยังไม่เชื่อมโยงถึง SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) ด้วย
มากไปกว่านั้น พบว่ามีครึ่งต่อครึ่งของจำนวนผู้สมัครฯ ทั้งหมดที่มีนโยบายเกี่ยวข้องกับอาหารใน SDG2 ขจัดความหิวโหย ทั้งที่ชูนโยบายอาหารกลางวันในโรงเรียน ธนาคารอาหาร (Food Bank) และความปลอดภัยทางอาหาร เป็นต้น ทว่าเป้าหมาย SDGs เป้าหมายหนึ่งที่มีผู้สมัครฯ มากถึง 20 คนจาก 31 คนไม่ได้กล่าวถึง เป็นเรื่อง SDG5 (ความเท่าเทียมระหว่างเพศ) อาทิ การตระหนักถึงหรือการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองให้กับกลุ่ม LGBTQ
นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าจากนโยบายของผู้สมัครฯ ทั้งหมด มีเพียงเบอร์ 30 เท่านั้นที่เชื่อมโยงกับ SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) ขณะที่นโยบายของผู้สมัครฯ ทั้ง 31 คนยังไม่เชื่อมโยงกับ SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) แม้เรื่องทะเลและมหาสมุทรเป็นประเด็นที่ดูเหมือนจะไกลตัวจากกรุงเทพฯ แต่หากตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้ว สำหรับ SDG14.1 มีที่ระบุว่า “ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568” ซึ่งหนึ่งในตัวการผลิตขยะทะเลจากกิจกรรมบนแผ่นดินก็คือ “ขยะพลาสติก” ที่มาจากการใช้ชีวิตของคนเมืองด้วยเช่นกัน
ส่วน SDG16 (ความสงบสุข ยุติธรรม สถาบันเข้มแข็ง) ที่ไม่เชื่อมโยงกับนโยบายของผู้สมัครฯ บางท่านนั้น เนื่องจากอาจไม่พบ “คำสำคัญ” หรือเนื้อหาในนโยบายที่สะท้อนถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การลดอาชญากรรม หรือการสื่อถึงการบริหารงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่บางนโยบายมีเพียง “คำสำคัญ” ที่จับคู่กับ SDGs ได้ แต่ยังมีรายละเอียดของนโยบายไม่เพียงพอต่อการฟันธงว่าได้ให้คุณค่ากับการพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ SDGs อย่างแท้จริง อาทิ “การตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เชื่อมโยงกับ SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) แต่นโยบายของผู้สมัครฯ บางท่าน ยังไม่มีรายละเอียดที่ระบุถึงการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และ SDG13 นี้เองเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ผู้ชิงตำแหน่งแทบทุกท่าน ไม่ได้กล่าวถึง
เมื่อสรุปจากภาพรวมทั้งหมดนี้ จะเห็นว่า 3 ผู้สมัครฯ ที่มีนโยบายติดท็อปความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs 17 เป้าหมาย ได้แก่ เบอร์ 8, 1 และ 18 โดยมีจำนวนความเชื่อมโยงมากที่สุดที่ 15, 13 และ 12 เป้าหมายตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้สมัครฯ เบอร์ 9, 14, 21 และ 26 นั้น มีข้อมูลนโยบายไม่เพียงพอที่จะนำมาเชื่อมโยงกับ SDGs เมื่อสืบค้นจากช่องทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่เบอร์ 19 อยู่ระหว่างอุทธรณ์คุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง
10 นโยบายแรกที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยกให้เป็น “สิ่งที่จะต้องทำ” เหมือนกันหากได้เข้าสู่ตำแหน่ง
จากนโยบายทั้งหมดที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอ พบว่ามีนโยบายที่หยิบยกว่าจะทำเหมือนกัน ซึ่งส่วนมากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) เรียงตามลำดับจาก “มากไปน้อย” 10 อันดับแรก ดังนี้
เข้าถึงภาพประกอบได้ที่ https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/05/policy-focus-bkk-election-22-02.png
การจัดการปัญหาน้ำท่วม ปัญหาที่ยังแก้ไม่จบกลายเป็นนโยบายคลาสสิคอันดับหนึ่งของคนกรุงเทพฯ และเป็นหนึ่งนโยบายสำคัญที่ประชาชนต้องติดตามต่อไปว่าจากที่ผู้สมัครฯ เบอร์ 1, 4, 6, 8, 10, 15, 17 และ 18 ได้นำเสนอนั้น มีรายละเอียดของการจะลงมือทำจริงอย่างไรต่อไปบ้าง
นอกจากนี้ จากการรวบรวมข้อมูลนโยบายครั้งนี้พบว่า เรื่องการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ การสนับสนุนให้มีระบบนิเวศเพื่อรถยนต์ไฟฟ้า EV และการหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานโดยผู้สมัครฯ เบอร์ 5, 7, 8, 10, 16, 18, 28 และ 30 นั้น เป็นเทรนด์นิยมที่ผู้แข่งขันมองเห็นตรงกันนำหน้านโยบายที่เกี่ยวกับความครอบคลุมของระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยของการสัญจรในเมือง ที่เป็นอีกหนึ่งนโยบายคลาสสิคของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการจัดการปัญหาน้ำท่วม โดยที่มีเบอร์ 1, 2, 3, 5, 6, 8 และ 10 ได้นำเสนอเอาไว้
ส่วนนโยบายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- การจัดการทางเท้า หาบเร่ แผงลอย และการยกระดับพื้นที่ Street Food โดยเบอร์2, 5, 7, 11, 23, 25, 28
- การจัดการมลพิษทางน้ำ (น้ำขัง น้ำเสีย) และอากาศ (ฝุ่นควัน PM2.5) โดยเบอร์2, 3, 5, 8, 10, 18
- การพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะและพื้นที่ทำกิจกรรม โดยเบอร์1, 3, 6, 8, 30ตลอดจน
- การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลในเมือง โดยเบอร์1, 10, 17, 30
ล้วนเป็นประเด็นที่สะท้อนบริบทปัญหาและความต้องการของคนกรุงเทพฯ อันดับต้น ๆ ได้เป็นอย่างดี
กระนั้น นโยบายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยที่มีราคาซื้อหาได้ในเมือง กลับเป็นนโยบายที่ผู้สมัครฯ น้อยคนนักที่จะพูดถึง โดยจากข้อมูลที่พบมีเพียงเบอร์ 1, 8, 18, และ 22 เท่านั้นที่มีนโยบาย ขณะเดียวกัน นโยบายที่เกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัยและภัยพิบัติ (เบอร์ 8, 12, 18) และการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เบอร์ 4 และ 8) เป็นสองนโยบายสุดท้ายจาก 10 อันดับแรกที่ผู้สมัครฯ ยกให้เป็น “สิ่งที่จะต้องทำ” เหมือนกันหากได้เข้าสู่ตำแหน่ง
● อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: แผนพัฒนา กทม. มีไว้ทำไม EP.2 (The Active Thai PBS)
6 ตัวเต็งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กับเป้าหมาย SDGs หลักที่โดดเด่น และจุดขายว่าด้วยเรื่องเมือง #SDG11
จากจำนวนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมด 31 คน จะเห็นว่ามีตัวเต็ง 6 คนที่ครองพื้นที่สื่อ โดยหลังจากที่เชื่อมโยงนโยบายของ 6 ตัวเต็งนี้เข้ากับ SDGs 17 เป้าหมายแล้ว พบว่านโยบายของแต่ละผู้สมัครฯ สะท้อนถึง SDGs 3 เป้าหมายหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น SDG1 (ขจัดความยากจน) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) SDG8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) และ SDG16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง) นอกจากนั้น หากมองลึกลงไปในรายละเอียดของเป้าหมาย SDGs ที่พูดถึงเมืองและชุมชนที่ยั่งยืนโดยเฉพาะ จะเห็นว่าจากจำนวนเป้าหมายย่อย (targets) ทั้งหมด 10 เป้าหมายย่อย นโยบายของ 6 ตัวเต็งมีส่วนที่ให้น้ำหนักเหมือนและแตกต่างกันไป ดังรูป
เข้าถึงภาพประกอบได้ที่ https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/05/policy-focus-bkk-election-22-03.png
10 เป้าหมายย่อย SDG11
– 11.1 สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียง ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573
– 11.2 ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
– 11.3 ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– 11.4 เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
– 11.5 ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
– 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– 11.7 จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ภายในปี 2573
– 11.a สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
– 11.b ภายในปี 2563 เพิ่มจำนวนเมืองและกระบวนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เลือกใช้และดำเนินการตามนโยบายและแผนที่บูรณาการ เพื่อนำไปสู่ความครอบคลุม ความมีประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีภูมิต้านทานต่อภัยพิบัติ และให้พัฒนาและดำเนินการตามการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติแบบองค์รวมในทุกระดับ ให้เป็นไปตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 – 2573
– 11.c สนับสนุนประเทศพัฒนาน้อยที่สุด รวมถึงผ่านทางความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการ ในการสร้างอาคารที่ยั่งยืนและ ทนทานโดยใช้วัสดุท้องถิ่น
Localizing SDGs: ทำไมการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. (และผู้ว่าฯ จังหวัดอื่น) ถึงสำคัญ?
การเลือกตั้งผู้แทนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซึ่งใช้สิทธิเลือกเข้ามา เป็นหนึ่งภาพแทนสำคัญที่สะท้อน “การเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเชิงนโยบายโดยประชาชน” (SDG16.7) ไม่ว่าจะเป็นในระดับการตัดสินใจใด การเลือกตั้งในตำแหน่งใด กระทั่งตำแหน่งผู้นำในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติก็ตาม สำหรับการบริหารกรุงเทพมหานคร ที่เป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการซึ่งจะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ถือเป็นหนึ่งก้าวสำคัญยิ่งในการปรับชี้ทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรและงบประมาณของเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของไทย
ไม่เพียงแต่ชาวกรุงเทพฯ ที่สามารถฝันถึงการเลือกตั้งผู้แทนดังกล่าวได้ จากความคึกคักในกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ก่อเกิดแคมเปญทางออนไลน์ที่ร่วมกันเรียกร้องให้เปลี่ยนจาก “การแต่งตั้งผู้ว่าฯ จังหวัด” สู่ “การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ” ด้วยเช่นกัน แม้อาจจะประสบกับอุปสรรคข้อแรกคือกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยและข้อสองคือการถกแถลงถึงอำนาจในทางการปกครอง แต่การออกมาเรียกร้องนี้ ทำให้เห็นมิติความพยายาม “กระจายอำนาจ” ในบริบทของไทย ให้เป็นการบริหารในระดับท้องถิ่นจากระดับท้องถิ่น โดยมีผู้นำซึ่งเป็นผู้แทนที่ยึดโยงจากผู้อยู่อาศัยในเมือง/จังหวัดนั้น
สำหรับ SDGs แล้ว การรับ SDGs มาดำเนินการไม่ได้จำกัดเฉพาะการทำให้ SDGs เป็นกระแสหลักของรัฐโดยที่นำมาผนวกในนโยบายและแผนระดับชาติก่อนจะแปลงไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น (Mainstreaming SDGs) ในทางกลับกัน ยังรวมไปถึงการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชน หรือที่เรียกว่า “Localizing SDGs” ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของการนำ “บริบทเชิงพื้นที่” ผนวกเข้ามาในยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาท้องถิ่นด้วย กล่าวคือ Localizing SDGs นี้เองที่เป็นการฟังเสียงสะท้อนปัญหาและความต้องการของคนในท้องถิ่นและพื้นที่ เป็นกระบวนการทำงานแบบ “ล่างสู่บน” ที่จะทำให้การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ตั้งแต่ในระดับพื้นที่เป็นจริงได้มากขึ้น
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
ข้อจำกัด รายละเอียดเนื้อหาของนโยบายที่นำมาประกอบการจัดทำบทความชิ้นนี้มาจากข้อมูลเปิดจากช่องทางออนไลน์ รวบรวมข้อมูลถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2565
แหล่งที่มา
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 31 คน (BKK Election 2022)
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 2
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 3
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 7
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 6
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 8
– ข้อมูลนโยบายของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 11