Site icon SDG Move

SDG Updates | (EP.4) Futures Literacy: เปิดฉากทัศน์แห่งอนาคตของลุ่มน้ำอุษาคเนย์ – แนวโน้มของความจริงและสิ่งที่วาดฝัน

ลุ่มน้ำภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เพียงเป็นพื้นที่ที่สะท้อนความหลากหลายในด้านคำนิยาม ค่านิยม และวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากจนทำให้หลายประเทศมีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ความพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญก้าวหน้านี้เองที่ยังก่อให้เกิดความท้าทาย (challenges) นานัปประการต่อลุ่มน้ำในภูมิภาคอุษาคเนย์ เห็นได้จาก อาทิ ผลกระทบที่เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการชลประทาน อันนำมาซึ่งข้อถกเถียงถึงค่านิยมและแนวทางการใช้ประโยชน์ลุ่มน้ำในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ประเด็นดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญเมื่อพูดถึงความเป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

SDG Updates ชุด Futures Literacy (EP.4) กับ Futures Literacy: เปิดฉากทัศน์แห่งอนาคตของลุ่มน้ำอุษาคเนย์ – แนวโน้มของความจริงและสิ่งที่วาดฝัน วันนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านสำรวจอนาคตของลุ่มน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งแนวโน้มที่เป็นไปได้และฉากทัศน์ที่เราควรเลือกให้เป็น ซึ่งแน่นอนว่ามีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสมอภาค (SDG 10 ลดความเหลื่อมล้ำ) การผลิตและการบริโภค (SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และความร่วมมือ (SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ทั้งนี้ รวมถึงว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากแนวโน้มและฉากทัศน์ของลุ่มน้ำอุษาคเนย์ใน SDG Updates ฉบับนี้ เป็นกรอบความคิดเบื้องต้นประกอบการคาดการณ์อนาคตของแหล่งน้ำและลุ่มน้ำของภูมิภาคอื่นได้ด้วยเช่นกัน

เข้าถึงภาพประกอบ Visual Note ขนาดเต็มที่นี่: https://www.sdgmove.com/wp-content/uploads/2022/05/FL-EP4-edited.png


A Bridge Over Troubled Water: Anticipating and Reimagining the Future of Rivers in Southeast Asia

สำหรับการอภิปรายหัวข้อนี้ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

หนึ่งในผู้อภิปรายหลัก ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้จัดการเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ซึ่งได้แบ่งปันความรู้และมุมมองในฐานะผู้มีประสบการณ์ในงานวิจัยเกี่ยวกับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับบริบทความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ผศ.ชล บุนนาค กล่าวถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำในประเทศไทย 3 ประการ ได้แก่ 

โดยทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนโยบายภาครัฐด้านการพัฒนาเศรษฐกิจล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภัยแล้ง เพราะเมื่อรัฐบริหารจัดการน้ำโดยมีฐานคิดตั้งอยู่บนการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ย่อมทำให้ปริมาณการใช้น้ำเพื่อการค้าพุ่งสูงขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และการอุปโภคบริโภคของประชาชน อีกทั้งยังก่อให้เกิดความขัดแย้งจากการใช้น้ำร่วมกันระหว่างภาคส่วนเหล่านี้ ในขณะเดียวกัน แม้การชลประทานของประเทศจะมีลักษณะกระจายอำนาจเป็นพื้นฐาน แต่ภาครัฐในปัจจุบันกลับมีแนวโน้มรวมศูนย์อำนาจในการบริหารจัดการน้ำมากขึ้น ทำให้ในอนาคตอันใกล้ ลุ่มน้ำท้องถิ่นของไทยอาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคส่วนที่ได้ผลประโยชน์และเสียผลประโยชน์จากแนวทางนี้

แนวโน้มที่เป็นไปได้: เศรษฐกิจ ทรัพยากร หรือทั้งคู่?

ขณะเดียวกัน ผู้อภิปรายหลักท่านอื่นยังได้ร่วมแบ่งปันความรู้ซึ่งเกิดจากประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้อง เพียรพร ดีเทศน์ (ผู้อำนวยการรณรงค์และสื่อสารประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ) ได้พยากรณ์ว่า ในรัฐอำนาจนิยมที่ภาคประชาสังคมถูกจำกัดบทบาท ลุ่มน้ำและทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มถูกทำลายมากขึ้นจากนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่กระนั้นความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ภายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ในทางหนึ่ง เป็นการป้องกันไม่ให้ภาครัฐละเลยความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและเสียงสะท้อนของประชาชนในท้องถิ่นที่พึ่งพิงแหล่งน้ำมากจนเกินไป

Saw John Bright (ผู้จัดการโครงการบริหารจัดการน้ำ เครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง) ได้กล่าวเสริมถึงความสำคัญของแนวคิดด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพความต้องการของประชาชน และได้แลกเปลี่ยนมุมมองในฐานะผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคมในเมียนมาว่า เนื่องจากในปัจจุบัน (มีนาคม 2565) เมียนมาตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร ดังนั้น นโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมาจึงมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มผู้ถืออำนาจรัฐกับนายทุนผู้สนับสนุน และมองข้ามเสียงสะท้อนความต้องการของคนธรรมดา

รองศาสตราจารย์ ดร.Raymond Yu Wang (รองศาสตราจารย์ประจำศูนย์ Center for Social Sciences, Southern University of Science and Technology) ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในอีกมุมมองหนึ่งว่า อนาคตของลุ่มแม่น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจไม่พัฒนาไปสู่ฉากทัศน์ที่สุดโต่งในทางใดทางหนึ่ง แต่มีแนวโน้มว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกัน ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำส่วนปัจจัยกำหนดว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ การบริหารจัดการน้ำจะตั้งอยู่บนแนวคิดหรือการเลือกให้น้ำหนักระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำมากกว่ากัน ก็คือผู้มีอำนาจในการกำหนดและตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำนั่นเอง

ส่วน Tarek Ketelsen (ผู้อำนวยการ Australian-Mekong Partnership for Environmental Resources and Energy Systems สำนักงานประเทศออสเตรเลีย) ได้อธิบายแนวคิดพื้นฐานที่ส่งผลต่ออนาคตของลุ่มน้ำต่าง ๆ โดยสรุป 2 ประการคือ 1. แนวคิดที่มุ่งให้ความสำคัญต่อระบบนิเวศ ซึ่งมุ่งเน้นความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติกับวิถีชีวิตของผู้คน และหลีกเลี่ยงการรบกวนระบบนิเวศทางธรรมชาติ และ 2. แนวคิดที่มุ่งให้ความสำคัญต่อวิศวกรรมการจัดการ ซึ่งมุ่งเน้นการควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุด

ขณะที่ ดร.Yong Ming Li (นักวิจัยแห่งสถาบัน East West Center) ได้พยากรณ์ถึง อนาคตของลุ่มน้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น 2 แนวโน้มที่เป็นไปได้ ตามระดับการเอื้ออำนวยให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาครัฐ (ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับข้อแลกเปลี่ยนของเพียรพร ดีเทศน์ และรองศาสตราจารย์ ดร.Raymond Yu Wang) ดังนี้

1 – ทางแยก

หากรัฐในภูมิภาคอุษาคเนย์ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการบริหารจัดการน้ำทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ลุ่มน้ำในภูมิภาคฯก็มีแนวโน้มตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ แม้อาจเป็นเรื่องยากที่แต่ละฝ่ายจะได้รับสิ่งที่ตนคาดหวังทั้งหมดก็ตาม ในทางกลับกัน หากรัฐมุ่งรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการน้ำหรือให้ความสำคัญกับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางฝ่าย (อาทิ กลุ่มทุน) มากกว่าฝ่ายอื่น การใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำมีแนวโน้มตอบสนองเพียงความต้องการของฝ่ายที่ได้รับความสำคัญจากรัฐเท่านั้น โดยที่ฝ่ายอื่น ๆ ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียด้วยเช่นกันจะถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ดังเช่นกรณีของเมียนมา ที่หลังจากเกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐประหารมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนสามารถเข้าถึงการใช้น้ำผ่านการอนุมัติจัดสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยมิได้ให้ความสำคัญกับประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นที่ถือเป็นกลุ่มเปราะบางจากผลกระทบของการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว เป็นต้น

2 – สมานฉันท์

อย่างไรก็ตาม อีกแนวโน้มหนึ่งที่เป็นไปได้คือ อนาคตของลุ่มน้ำเหล่านี้อาจเป็น “การอยู่ร่วมกัน” หรือการพัฒนาไปร่วมกันระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาทและผลประโยชน์ของหลากหลายภาคส่วน การที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งจะผูกขาดการใช้ประโยชน์จากน้ำจึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น พัฒนาการทางเศรษฐกิจย่อมอยู่คู่ความพยายามอนุรักษ์ลุ่มน้ำในภูมิภาคนี้เสมอ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ณ​ ช่วงเวลาขณะนั้น อำนาจการบริหารจัดการน้ำตกอยู่ในมือของคนกลุ่มใดและพวกเขามีแนวคิดอย่างไรในการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ฉากทัศน์ใดที่ควรจะเป็นในอนาคตและเราจะไปถึงฉากทัศน์นั้นได้อย่างไร

ในระหว่างการอภิปราย ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาคือ ฉากทัศน์แบบไหนที่ควรเป็นในอนาคตและพวกเราจะสามารถไปถึงฉากทัศน์เหล่านั้นได้อย่างไร ในส่วนนี้ ผศ.ชล บุนนาค แลกเปลี่ยนมุมมองว่าสำหรับประเทศไทย ผลประโยชน์ของภาคการเกษตรที่ผลผลิตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก และผลประโยชน์ของภาคส่วนอื่นที่มิได้ใช้น้ำเพื่อการค้า เป็นสองภาคส่วนหลักที่ถูกมองข้ามเมื่อกล่าวถึงผู้ที่ได้รับผลประโยชน์และเสียผลประโยชน์ แม้ฉากทัศน์ดังกล่าวอาจจะถูกชะลอได้ชั่วคราวด้วยต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนของโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) รวมถึงการกระจายอำนาจบริหารจัดการน้ำสู่ท้องถิ่น (Decentralized Water Governance) แต่หากต้องการซื้อเวลามากกว่านั้น ผศ.ชล บุนนาค เสนอต่อไปว่า ให้นำแนวคิด “Post Growth Future” อันเป็นแนวคิดการพัฒนาที่ให้ความสำคัญต่อบริบทท้องถิ่นและส่งเสริมบทบาทของชุมชน มาประยุกต์ใช้ผ่านการออกแบบแนวทางการลดปริมาณการใช้น้ำในระยะยาว และผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ไม่มุ่งเพียงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยมองข้ามสภาพพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สามารถพัฒนาแนวทางและเครื่องมือสำหรับการลดผลกระทบจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อลุ่มน้ำในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นนี้ เพียรพร ดีเทศน์ ได้เสนอให้นำแนวคิดการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมและสิทธิของธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ผ่านการออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่ประชาชน

ส่วน รองศาสตราจารย์ ดร.Raymond Yu Wang ได้หยิบยกความสำคัญของการปกป้องกลุ่มเปราะบาง (เช่น ชนกลุ่มน้อยและกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล) ให้มีโอกาสได้สะท้อนความต้องการของตนและได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเท่าเทียมกับกลุ่มอื่นผ่านการนำหลักการทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทจริงโดยไม่ยึดติดกับตัวอักษรเกินความจำเป็น

Saw John Bright และ ดร.Yong Ming Li ได้เสนอให้การบริหารจัดการน้ำตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพเสียงของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นซึ่งแต่ละกลุ่มล้วนมีความต้องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติในลักษณะที่แตกต่างกัน อีกทั้งเคารพสิทธิของธรรมชาติและคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่จะต้องครอบคลุมความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม และมีจุดหมายที่การจัดสรรให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์จากลุ่มน้ำอย่างเท่าเทียม

และสุดท้าย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.Carl Middleton (ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ผู้ดำเนินรายการ ได้ปิดท้ายด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของความสมดุลระหว่างการพัฒนาสู่อนาคต (ซึ่งหมายรวมทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐานของประชากร และความยั่งยืนทางพลังงาน) กับความยั่งยืนของลุ่มน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเมื่อประมวลข้อแลกเปลี่ยนของผู้อภิปรายหลักทุกท่านและผู้ดำเนินรายการแล้ว อาจสรุปได้ว่าการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนอกเหนือจากภาครัฐมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการร่างกฎหมาย และ/หรือ การออกแบบนโยบายการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน รัฐต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มบุคคลผู้ถืออำนาจรัฐจึงต้องรับฟังเสียงของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และเคารพในทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการร่างไปจนถึงกระบวนการบังคับใช้นโยบายหรือกฎหมาย นอกจากนี้ แนวคิดที่มองว่าทรัพยากรธรรมชาติซึ่งรวมถึงลุ่มน้ำมีสิทธิของตนไม่ต่างจากมนุษย์ บทบาทของภาครัฐในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนกลุ่มเปราะบาง (ที่อาจเข้าถึงประโยชน์จากการใช้น้ำได้จำกัด) ตลอดจนความพยายามสร้างจุดสมดุลระหว่างอนาคตกับความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำก็เป็นกรอบความคิดที่สำคัญต่อฉากทัศน์ที่พวกเราอยากเห็นในอนาคตด้วยเช่นกัน


อนาคตของลุ่มน้ำในภูมิภาคอุษาคเนย์แม้ยังไม่อาจคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เพราะฉากทัศน์ต่าง ๆ ที่ได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายตั้งอยู่บนพื้นฐานความหลากหลายทั้งในด้านประสบการณ์การทำงานและแนวคิดของผู้อภิปรายหลัก อย่างไรก็ตาม เราอาจได้ข้อสรุปกว้าง ๆ ร่วมกันอย่างหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับต้น ๆ เสมอ เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนทุกกลุ่มในสังคมจะก้าวหน้าไปพร้อมกันโดยไม่ทิ้งให้ใครตกขบวน

เรียบเรียงใหม่จากการสัมมนา – ธนภัทร โกสุมาภินันท์
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
บรรณาธิการ – ถิรพร สิงห์ลอ


SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความชิ้นที่สี่ในซีรีส์องค์ความรู้ชุด “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” (Futures Literacy) ในฐานะหนึ่งเครื่องมือสำคัญแห่งยุคสมัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเปลี่ยนผ่านปัจจุบันจากฐานราก ร่วมขับเคลื่อนหลักการและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ตลอดจนการเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตที่มีความผันผวนและซับซ้อนได้อย่างยั่งยืน (Resilience) โดยซีรีส์ดังกล่าวเป็นบทสังเคราะห์จากงานสัมมนานานาชาติ “Futures Literacy in a Post-Covid-19 Asia: Solidarity and Transformative Learning” จัดโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The Thai National Commission for UNESCO) เมื่อวันที่ 3 – 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา และจะดำเนินการเผยแพร่บทความผ่านช่องทางของ SDG Move ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565

รับฟังเสวนาย้อนหลังได้ที่ Facebook: Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U. และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของ Chula Futures Literacy Week ได้ที่เว็บไซต์ www.inter.chula.ac.th/futuresliteracy/

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
SDG Updates | (EP.1) Futures Literacy: กรอบธรรมาภิบาลใหม่กับการปลดเปลื้องจินตนาการของผู้คนสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันมากกว่าเดิม
SDG Updates | เขื่อนแม่น้ำโขง : อุตสาหกรรมเครื่องปั่นไฟบนความล่มสลายของสายน้ำ (EP.10)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
– (6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Panel session 6: A Bridge Over Troubled Water: Anticipating and Reimagining the Future of Rivers in Southeast Asia (Office of International Affairs and Global Network, Chulalongkorn U.)

Author

  • Manager of Knowledge Communication | มนุษย์เดินดินผู้ใฝ่ฝันถึงสังคมที่เสมอภาคและเป็นธรรม บนพื้นฐานของการเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล

Exit mobile version