เมื่อวันที่ 13-14 เมษายน พ.ศ. 2565 ผู้แทนกว่า 600 คนจากรัฐบาล 70 ประเทศ และ 150 องค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ทั้งจากภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วมประชุม “Our Ocean Conference 2022” ที่จัดขึ้น ณ สาธารณรัฐปาเลา ภายใต้แนวคิด “มหาสมุทรของเรา ประชาชนของเรา ความมั่งคั่งของเรา”
โดยมีความตกลงร่วมกันที่จะขับเคลื่อน 410 ข้อผูกพัน เพื่อการพัฒนามหาสมุทรที่ยั่งยืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1.635 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ครอบคลุมประเด็นที่สำคัญหลายประเด็น ภายใต้การเน้นย้ำความสำคัญเรื่องคุณภาพมหาสมุทร (ocean health) ของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing State: SIDS) และชุมชนซึ่งพึ่งพาทรัพยากรจากมหาสมุทรสำหรับการดำรงชีวิตเป็นหลัก
ทั้งนี้ การประชุมแบ่งการอภิปรายเป็น 6 ส่วน ใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่ยั่งยืน (sustainable blue economy) โดยเพ่งความสำคัญไปที่การพื้นฟูอย่างยั่งยืนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สู่เศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน เป็นธรรม และทนทานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ด้วย 89 ข้อผูกพัน มูลค่า 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การเผชิญหน้าและจัดการกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เชื่อมโยงกับมหาสมุทร (ocean-climate crisis) โดยมุ่งไปที่การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (adaptation) และการสร้างพื้นที่สำหรับร่วมถกคิดและหาแนวทางฟื้นสภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้เน้นย้ำด้วยว่าแนวทางสำคัญของการดูแลมหาสมุทรต้องวางอยู่บนแนวทางแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุมถึงการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการขนส่งทางทะเล การแก้ปัญหาทางทะเลที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Marine Nature-based Solutions) และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่ง ขับเคลื่อนด้วย 89 ข้อผูกพัน มูลค่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การจัดการมลพิษทางทะเล (marine pollution) ด้วยการพยายามหากระบวนการเพื่อยุติมลพิษทางทะเล ตั้งแต่มลพิษที่เกิดจากชายฝั่ง มลพิษจากพลาสติก และปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชัน(Eutrophication) พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความจำเป็นในการจัดการพื้นที่เก็บน้ำริมชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนด้วย 71 ข้อผูกพัน มูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การขับเคลื่อนพัฒนาพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (marine protected area) เพื่อชุมชน ระบบนิเวศ และตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเชื่อมโยงความท้าทาย ผลประโยชน์ และโอกาสเข้ากับความสำเร็จในการอนุรักษ์มหาสมุทร พร้อมทั้งเรียกร้องไปสู่การพัฒนาเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลระดับภูมิภาคเพื่อดูแลอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมให้มีภูมิต้านทานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate resilience) ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืนและสนับสนุนการดำรงชีวิตของชุมชนชายฝั่ง ขับเคลื่อนด้วย 58 ข้อผูกพัน มูลค่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การจัดการประมงอย่างยั่งยืน (sustainable management fisheries) โดยเน้นให้เกิดความยั่งยืน เป็นธรรม ยืดหยุ่น ทนทานพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง และให้กำไรที่ยั่งยืนแก่การทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายเล็กของชุมชนท้องถิ่น ด้วย 60 ข้อผูกพัน ที่มีมูลค่า 668 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
- การจัดการความปลอดภัยและมั่นคงทางทะเล (maritime security) ด้วยการใช้เทคโนโลยี การเงินและเครื่องมือทางกฎหมายให้เกิดประโยชน์แก่การบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการการทำประมงผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, Unregulated Fishing: IUU) ภัยความมั่นคง การแสวงหาประโยชน์จากมนุษย์ และกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ขับเคลื่อนด้วย 42 ข้อผูกพัน มูลค่า 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
กล่าวได้ว่าทั้งหกประเด็นข้างต้นเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาคุณภาพมหาสมุทรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกซึ่งกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ความร่วมมือในหลายข้อผูกพันจึงเป็นความหวังที่จะช่วยแก้ปัญหาทางทะเลได้ยั่งยืน อาทิ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่จะช่วยลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งสุ่มเสี่ยงในการทำลายระบบนิเวศมหาสมุทร หรือการจัดการการทำประมงผิดกฎหมายที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุมก็จะช่วยให้การประมงมีระเบียบ ลดการค้าแรงงานมนุษย์และใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมทางทะเลได้ด้วย
สำหรับประเทศไทย แม้มิได้เข้าร่วมประชุมดังกล่าวแต่ก็เป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาคุณภาพทางทะเลเช่นกัน โดยในปี 2562 ดัชนีคุณภาพมหาสมุทร (Ocean Health Index: OHI) ให้คะแนนรวมแก่ไทยที่ 66 จาก 100 คะแนน ทำให้ตกอยู่ในอันดับที่ 130 จาก 221 ประเทศ ขณะที่ข้อมูลจาก Greenpeace Thailand ก็เผยปัญหาวิกฤติทะเลไทย เมื่อปี 2558 ไว้หลายประเด็น อาทิ ปัญหาการจับสัตว์ทะเลที่ได้ปริมาณลดลง 10 เท่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ปัญหาระบบนิเวศท้องทะเลแปรปรวนและกำลังถูกทำลาย และปัญหาแรงงานกว่า 33% ที่ทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลถูกละเมิดสิทธิ์และถูกทารุณในลักษณะการใช้แรงงานทาส
ในอนาคตจึงน่าสนใจว่าหากไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการประชุมข้างต้นด้วยก็คงเป็นประโยชน์แก่การจัดการจัดการวิกฤติทางทะเลของไทยไม่น้อย เพราะนอกจากจะได้รับการช่วยเหลือและแบ่งปันข้อมูล กระบวนการ หรือเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทะเลอย่างยั่งยืนจากประเทศอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นโอกาสส่งเสริมให้ไทยเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับนานาประเทศอีกด้วย
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ทศวรรษแห่งสมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับ 4 โซลูชันจากโครงการ Flagship ที่ออกสำรวจใต้ท้องทะเลลึก
– SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่
– SDG Recommends | เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเรากับทะเลและมหาสมุทรมากขึ้นผ่าน Ocean Literacy
– เสียงส่วนใหญ่ใน IUCN World Conservation Congress เห็นชอบห้ามทำเหมืองแร่ใต้ทะเลลึกชั่วคราว
– จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง
– 4 ประเทศลาตินอเมริกา ประกาศ “แนวระเบียงพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแปซิฟิกเขตร้อนตะวันออก” มากกว่า 500,000 ตร.กม.
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น
– (14.7) ภายในปี 2573 เพิ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดจากการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนในเรื่องการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว
– (14.a) เพิ่มความรู้ทางวิทยาศาสตร์ พัฒนาขีดความสามารถในการวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล เพื่อจะพัฒนาคุณภาพมหาสมุทรและเพิ่มพูนให้ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.7) ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา :
Our Ocean Conference Closes with USD 16.35 Billion in Pledges(IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย