SDG Updates | การประชุม ‘Stockholm+50’ ครบรอบ 50 ปี จุดกำเนิดความร่วมมือพหุภาคีเพื่อสิ่งแวดล้อมโลก

เมื่อพูดถึงการประชุมระดับโลกที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจจะนึกถึงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การประชุม COP ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงสร้างผลกระทบไปทุกตารางนิ้วและความพยายามเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหานี้ก็ถูกรับเอาเป็นวาระเร่งด่วนระดับโลก จนทำให้การประชุม COP ในทุกปีเป็นที่จับตามอง

ในปี 2565 นี้ มีอีกหนึ่งการประชุมระดับโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมกำลังจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ในชื่อการประชุม “Stockholm+50” เพื่อเป็นการรำลึกถึงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ที่จัดขึ้นครั้งแรกในโลกเมื่อ 50 ปีก่อน SDG Updates ฉบับนี้จะขอทำหน้าที่เป็นผู้นำทาง พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการประชุมความร่วมมือพหุภาคีครั้งสำคัญของประชาคมโลกที่แม้ว่าจะจัดขึ้นไกลถึงอีกซีกโลกหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นโลกใบเดียวกับที่เราทุกคนร่วมกันอาศัยและสร้างอนาคต


“We are, today, in some ways, not so different from 1972. We are sending messages on the links between development, poverty, human well-being and care of the planet. But there is one major difference: we know far more now than we did then.”

“เราในทุกวันนี้ มีบางเรื่องที่ไม่ได้ต่างออกไปจากปีค.ศ. 1972 คือ เรากำลังส่งข้อความว่าการพัฒนา ความยากจน ความเป็นอยู่ของมนุษย์ และการดูแลรักษาโลกใบนี้ล้วนเชื่อมโยงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ เราวันนี้มีความเข้าใจมากกว่าเราในวันวาน”

Inger Andersen ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เลขาธิการการประชุม Stockholm+50

| การประชุม Stockholm +50 คืออะไร

การประชุม Stockholm +50 หรือ “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์” (United Nations Conference on the Human Environment) จัดขึ้นร่วมกับรัฐบาลสวีเดนและเคนยา ที่กำลังจะจัดขึ้น ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2565 นี้ ในวาระครบรอบ 50 ปีของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ครั้งแรกของโลกซึ่งจัดขึ้นที่กรุงสต็อกโฮล์มเช่นกัน เมื่อปี 2515 ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของความร่วมมือระดับพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมโลก และยังเป็นโอกาสที่จะได้นำบทเรียนที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มาร่วมกำหนดเส้นทาง ตอกย้ำความุ่งมั่นอึกครั้งเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมในอีก 50 ปีข้างหน้า โดยมีเวทีการปรึกษาหารือทั้งกับบุคคล ชุมชน องค์กร และรัฐบาลในระดับประเทศ และระดับภูมิภาคเกิดขึ้นก่อนล่วงหน้าเวทีประชุมระดับสูงนี้เป็นเวลาหลายเดือน


| เกิดอะไรขึ้นบ้างในการประชุม Stockholm เมื่อห้าสิบปีที่แล้ว

ในช่วงเวลาก่อนหน้าปี 2515 (ค.ศ. 1972) ภายใต้ผลกระทบของสงครามเย็น (2490 – 2534) ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมิใช่ประเด็นหลักที่ถูกนำขึ้นมาเจรจาในเวทีการเมืองระหว่างประเทศระดับสูงอย่างสหประชาชาตินัก หรือหากถูกหยิบยกขึ้นมาก็จะถูกพิจารณาในบริบทของความกังวลว่าจะมีทรัพยากรบนโลกเพียงพอสำหรับประเทศสมาชิกสหประชาชาติกลุ่มใหญ่ที่ยังคงเป็นประเทศด้อยพัฒนาในขณะนั้น หรือในแง่ของวิธีการจัดการทรัพยากรที่กำลังเสื่อมโทรมลงเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม ไม่ใช่มุมมองของการอนุรักษ์และดูแล

จนเมื่อปี 2511 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 6 เสาหลักของสหประชาชาติ ได้บรรจุประเด็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติรอบตัวมนุษย์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์เองไว้ในวาระการประชุมตามข้อเสนอของรัฐบาลสวีเดน เพราะถือเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะสามารถแก้ไขได้ก็ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศเท่านั้น และได้รับการรับรองโดยสมัชชาสหประชาชาติให้มีการจัดประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (United Nations Conference on the Human Environment) ครั้งแรกของโลก ขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 16 มิถุนายน ปี 2515

ในการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่สต็อกโฮล์มนั้น มีตัวแทนจากรัฐสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติทั้งหมด 113 ประเทศเข้าร่วม ผลสำเร็จของเวทีการเจรจาพูดคุยนานกว่าสิบวันได้ให้กำเนิดปฏิญญาการประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (Declaration of the United Nations Conference on the Human Environment) หรือ “ปฏิญญาสต็อกโฮล์ม” (Stockholm Declaration) ที่กล่าวถึงหลักการอนุรักษ์และส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการ (action plan) ที่มีข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับระหว่างประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ประชาคมโลกได้เห็นความเชื่อมโยงที่แยกกันไม่ขาดระหว่างสิ่งแวดล้อม ความยากจน และการพัฒนาอย่างแจ่มชัด

เพื่อนำทางให้ประเทศต่าง ๆ สร้างความร่วมมือระดับโลกที่จะผสานทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้นั้น อีกผลลัพธ์ที่สำคัญประการหนึ่งของการประชุม Stockholm ปี 2515 คือ การก่อตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ให้มีฐานะเป็นผู้มีอำนาจของสหประชาชาติที่ทำงานสนับสนุนประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และยังกำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี นับจากนั้น เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) อีกด้วย

นอกจากนี้ อีกผลผลิตที่มีคุณูปการ คือ การผลิตรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมระดับโลกเป็นฉบับแรก ภายใต้ชื่อรายงาน “Only One Earth” ซึ่งได้กลายมาเป็น motto หรือ คติของการประชุมฯ ในปี 2515 นั้น เป็นธีมของวันสิ่งแวดล้อมโลกปีแรก และยังคงเป็นความจริงจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างปฏิญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศ และการประชุมสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

  • ปี 2516 (ค.ศ. 1973) – อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)
  • ปี 2525 (ค.ศ. 1982) – อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law Of the Sea: UNCLOS) 
  • ปี 2528 (ค.ศ. 1985) – อนุสัญญาเวียนนาเพื่อพิทักษ์ชั้นโอโซน (Vienna Convention for the Protection of the Ozone Layer)
  • ปี 2530 (ค.ศ. 1987) – พิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (Montreal Protocol on Substances that Deplete the Ozone Layer)
  • ปี 2531 (ค.ศ. 1988) – ตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC)
  • ปี 2535 (ค.ศ. 1992) – การประชุม Earth Summit ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Rio Declaration on Environment and Development) และ วาระ 21 (Agenda 21)
    อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) 
  • ปี 2540 (ค.ศ. 1997) – พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ปี 2543 (ค.ศ. 2000) – เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs)
  • ปี 2555 (ค.ศ. 2012) – การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (RIO+20)
  • ปี 2558 (ค.ศ. 2015) – ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ปี 2558 (ค.ศ. 2015) – เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)

| ทำไม Stockholm+50 ถึงสำคัญ

แม้ว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มุ่งมั่นและเข้มแข็ง อีกทั้งยังประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นความก้าวหน้ามากมาย แต่วิกฤตการณ์ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลกที่มาแบบซ้อนสาม หรือ Triple Planetary Crisis ในปัจจุบันนั้นเป็นเหตุให้เวทีการประชุมระดับสูงเพื่อสร้างความร่วมมือแบบพหุภาคีระหว่างประชาคมโลกเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งขึ้น

“Triple Planetary Crisis” หมายถึง วิกฤติหลักสามประการที่เชื่อมโยงกันซึ่งมนุษย์โลกในปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ — ปัญหาเร่งด่วนที่สุดที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ทุกวันนี้ (2) มลพิษ — มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และ (3) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ — ส่งผลกระทบต่อระบบอาหารและการเข้าถึงน้ำสะอาดที่หมายถึงการอยู่รอด โดยแต่ละวิกฤติต่างมีสาเหตุและสร้างผลกระทบที่แตกต่างกันต่อมนุษย์ และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนหากมนุษยชาติยังต้องการมีอนาคตที่อยู่รอดได้บนโลกใบนี้

การประชุม Stockholm+50 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีวิสัยทัศน์เพื่อสร้าง “a healthy planet for the prosperity of all – our responsibility, our opportunity” จะเป็นพื้นที่ที่ช่วยเปิดโอกาสอีกครั้งในการร่วมกันกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติกับธรรมชาติและสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ภายใต้ “ขอบเขตของพื้นพิภพ” (planetary boundaries) พร้อมไปกับเป็นตัวเร่งการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้ทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action) บรรลุความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การดำเนินการตามกรอบการทำงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกหลังปี 2020 (Post-2020 Biodiversity Framework) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green recovery) หลังโควิด-19 เพื่อความผาสุกที่ยั่งยืนของทั้งคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต

กรอบแนวคิดที่สำคัญในการสร้าง “Healthy Planet” ด้วย 5Rs ของ Stockholm +50

  • Reimagine – จินตนาการใหม่ถึงอนาคต
  • Regeneration – ดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศ ชุมชน และความสามารถในการตั้งรับปรับตัวทางสังคม
  • Recovery – ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูจากโควิด-19 อย่างครอบคลุม
  • Rebalance – ปรับสมดุลการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ และพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น
  • Reinvigorated/Renewed multilateralism – สนับสนุนความร่วมมือแบบพหุภาคีที่ถูกกระตุ้นขึ้นใหม่

| คนไทยจะมีส่วนร่วมกับการประชุม Stockholm +50 อย่างไร

แม้ว่าจะเป็นการประชุมระดับสูง แต่หัวใจหลักของการพัฒนาที่ยังยืนคือการฟังเสียงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึงและครอบคลุม ในประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) เป็นผู้นำในการจัดวงเสวนาเพื่อรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วน เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ ภายใต้บริบทของประเทศไทย โดยเน้นมุมมองและความคาดหวังต่อการจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาได้เดินทางไปยังภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเปิดให้ผู้ที่สนใจความร่วมพูดคุยได้ อีกทั้งยังเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถร่วมทำแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานของประเทศไทยด้านสิ่งแวดล้อม ทางออนไลน์ได้อีกด้วย

ในระดับเยาวชน การจัดตั้ง “วงคุยเยาวชนสู่ Stockholm+50” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 21 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ จะเป็นพื้นที่ให้เยาวชนได้มีส่วนร่วม และแลกเปลี่ยน มุมมอง ความคิดเห็น ความต้องการต่อแนวทางการขับเคลื่อนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยได้อย่างเปิดกว้าง

โดยข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้จะถูกนำมาประกอบการหารือระดับสูง (Leadership dialogues) ระหว่างผู้นำจากแต่ละภาคส่วนในการประชุม Stockholm+50 ในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นข้อเสนอแนะที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมสำหรับการดำเนินการต่อไปในทุกระดับ


“Friends, we have inherited an Earth with problems, this is true. But it is also an Earth rich with opportunities.”

“มิตรทั้งหลาย เป็นความจริงที่เราได้รับมรดกเป็นโลกที่มีปัญหานี้มา แต่ก็ยังคงเป็นโลกที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมาย”

Inger Andersen ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เลขาธิการการประชุม Stockholm+50

ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDGs ทั้ง 5 เป้าหมายในมิติสิ่งแวดล้อม ได้แก่
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก

และ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
THE STOCKHOLM+50 CONFERENCE: WHAT YOU NEED TO KNOW AND WHY IT MATTERS (UN Foundation)
Environmental Moments: A UNEP@50 timeline (UNEP)
From Stockholm to Kyoto: A Brief History of Climate Change (United Nations)
Stockholm+50: Reflecting on global environmentalism (Stockholm50.global)
Stockholm+50 overview (Stockholm50.global)
What is the Triple Planetary Crisis? (UNFCCC)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 23, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น