ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของกลุ่มคนยากจนในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนบริการสาธารณสุขรองรับได้ไม่เพียงพอ เกิดเป็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการ (อุปสงค์) และบริการสาธารณสุข (อุปทาน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเข้ารับบริการขั้นพื้นฐานในระดับปฐมภูมิ (primary healthcare) เช่น การตรวจคัดกรองโรค การฉีดวัคซีน และการรักษาโรคพื้นฐาน จึงต้องมีการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องเข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานเพื่อเร่งรัดในการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้
SDG Insights ฉบับนี้พูดคุยกับ นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ในเรื่องระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่จะเป็นหัวใจสำคัญของการลดปัญหาการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพของกลุ่มคนยากจนได้
01 – ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิคืออะไร และมีความเชื่อมโยงระบบสุขภาพในระดับประเทศอย่างไร
นพ.อานนท์ เล่าว่า ในภาพใหญ่ของระบบสุขภาพ มีการบริการอยู่ 3 ระดับ คือ ระดับปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ โดยการให้บริการระดับปฐมภูมิ คือ บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานใกล้บ้านที่ทุกคนสามารถเข้าไปรับบริการได้ โดยไม่เพียงแต่แค่การรักษาพื้นฐาน แต่ยังครอบคลุมไปถึงการส่งเสริม ป้องกัน การคัดกรองโรคและฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งหลักของบริการสุขภาพปฐมภูมิ มีแนวคิดหลักสำคัญ ที่เรียกว่า
4C Primary care อันประกอบด้วย
- First contact care – หน่วยบริการแรกที่คนนึกถึงใกล้บ้าน
- Co-ordinated care – การประสานและการส่งต่อบริการสุขภาพ
- Comprehensive – การให้บริการแบบครบวงจรในโรคพื้นฐาน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและฟื้นฟูโรค การคัดกรองโรค และการส่งต่อการรักษา
- Continuity care – การให้บริการรักษาต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต
สำหรับประเทศไทยได้วางรากฐานเรื่องระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงบริการปฐมภูมิ ระดับทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิไว้อย่างเข้มแข็ง จะเห็นได้จากการมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในทุกตำบล หรือในหมู่บ้านไกล ๆ มีนโยบายกระทรวงสาธารณสุขให้มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชน สำหรับในระดับอำเภอ มีโรงพยาบาลชุมชน และในระดับจังหวัดมีโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่สามารถดูแลโรคเฉพาะทางได้ สำหรับในระดับภูมิภาค มีโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ดูแลโรคหรือการผ่าตัดที่ซับซ้อนได้ แต่ภาพเหล่านี้เป็นภาพของระบบบริการที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด ซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ของกรุงเทพมหานครที่บริบทเฉพาะตัว
02 – การให้บริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ
จากปัญหาการระบาดของโรคโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ประชาชนในกรุงเทพฯ จำนวนมากต้องการบริการตรวจคัดกรอง และรับการรักษาโควิด 19 ทำให้เกิดภาพความต้องการบริการสุขภาพในกรุงเทพฯ ที่ล้นและไม่สามารถให้บริการกับคนไข้ได้ ทั้งหมดนั้น นพ.อานนท์ เห็นว่าระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ยังมีช่องว่างของการดำเนินงานค่อนข้างมากและยังการขาดการบริหารจัดการที่ดี ด้วยเหตุที่ระบบสาธารณสุขในพื้นที่นี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ 2 หน่วยงาน คือ (1) กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาล มีหน้าที่ดูแลด้านสาธารณสุขของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 กระทรวงสาธารณสุขรับบทบาทหลักในการจัดการโรค และ (2) กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่จัดบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ตนเอง ปัญหาที่พบคือ ทั้งสองหน่วยงานต่างมีระบบการบริหารจัดการที่แยกกัน บางครั้งเกิดเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน ในด้านผู้ให้บริการสาธารณสุข พบว่ามีสถานบริการที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้การจัดการและการประสานงานข้ามแต่ละหน่วยงานเป็นไปได้ยากลำบาก
ในด้านบริการปฐมภูมิ ส่วนที่เป็นอุปทานการบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครมีไม่เพียงพอ มีศูนย์บริการสาธารณสุข หรือหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่หน่วยบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ จะดำเนินการด้วยภาคเอกชน อาทิ ร้านขายยา คลินิกแพทย์ คลินิกทันตกรรม มีคลินิกเพียงบางส่วนที่ให้บริการประชาชนภายใต้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคมได้ และมีจำนวนรวมของหน่วยบริการปฐมภูมิใน 3 กองทุนสุขภาพหลักในกรุงเทพฯ ไม่เกิน 300 แห่ง ขณะเดียวกันมีสัดส่วนคนกรุงเทพฯ เพียง 25% ที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยบริการปฐมภูมิ ส่งผลให้งบประมาณและทรัพยากรด้านสาธารณสุขจากภาครัฐที่จัดสรรงบสำหรับผู้ป่วยนอกแก่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ อาจจะพอต่อการบริหารจัดการในสถานการณ์ปกติ แต่เมื่ออยู่ภายใต้สถานการณ์วิกฤติโรคระบาด งบประมาณและทรัพยากรจึงมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการรับมือคนไข้ที่จำเป็นต้องเข้ารับบริการ ซึ่งหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้ได้ตามสิทธิการรักษาของคนกรุงเทพฯ แต่ระบบการจัดการของหน่วยบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ดีพอ
“สิทธิการรักษา” ที่เชื่อมโยงกับการรับบริการสุขภาพปฐมภูมิ
ประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ มีประมาณ 8 ล้านคน เกือบครึ่งใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ตามด้วย สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีความแตกต่างในการเข้ารับบริการสุขภาพ ดังนี้
- สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เป็นสิทธิการรักษาหลักของคนกรุงเทพฯ แต่มีเพียงร้อยละ 60 ของผู้มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าในกรุงเทพฯ ลงทะเบียนและรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 ต้องเลือกไปลงทะเบียนและรับบริการกับโรงพยาบาล เนื่องจากหน่วยบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ มีไม่เพียงพอ
- สิทธิประกันสังคม เป็นอีกสิทธิการรักษาหลักของคนกรุงเทพฯ การลงทะเบียนและการเข้ารับบริการส่วนใหญ่จะไปที่โรงพยาบาล โดยเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ แม้ว่าจะมีคลินิกที่รับรักษาผู้ป่วยประกันสังคมในกรุงเทพฯ แต่เป็นส่วนน้อยที่ผู้มีสิทธิประกันสังคมเข้ารับบริการ
- สิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถเลือกรับบริการได้จากโรงพยาบาลของรัฐที่ไหนก็ได้ ซึ่งหากเป็นในกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิส่วนใหญ่จะเลือกรับบริการที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่เป็นหลัก
03 – ภาพความเหลื่อมล้ำของคนจนในกรุงเทพฯ ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19
นพ.อานนท์ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพในกรุงเทพฯ มีมานานแล้ว ตามทฤษฎีที่ว่าคนที่จนกว่า (มีรายได้น้อยกว่า) มักมีปัญหาสุขภาพและเจ็บป่วยมากกว่า และทำให้มีความต้องการบริการสาธารณสุขมากกว่า แต่ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการที่ผ่านมา กลับพบว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดมีอัตราการเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มรายได้อื่น ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานได้ เช่น ต้องเดินทางไปรับการรักษาที่หน่วยบริการที่ตั้งอยู่ไกลจากที่พัก ขาดทุนทรัพย์ หรือไม่มีเวลา เนื่องจากการเข้ารับบริการต้องลางานและทำให้ขาดรายได้
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนมากขึ้น โดยนพ.อานนท์ เล่าว่าตนเองได้เป็นหนึ่งในทีมแพทย์อาสาให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยผ่านช่องทางออนไลน์ ทำให้ได้เห็นปรากฏการณ์ว่ามีคนไข้บางส่วนที่ได้เข้ารักษาใน hospitel เร็วมาก ขณะที่บางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงบริการหรือเข้าถึงได้ช้ามากแม้ว่าจะเป็นคนไข้อายุมากและเจ็บป่วยหนักรุนแรง โดยคนที่มีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพ มักเป็นคนที่พอมีทุนทรัพย์ที่สามารถเลือกรับบริการและจ่ายเงินด้วยตนเอง (out of pocket payment) ให้กับโรงพยาบาลเอกชน ทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว หรือกลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าที่มีความสามารถด้านไอที จึงสามารถติดต่อหายา ติดต่อหาเตียงในช่องทางต่าง ๆ ได้ทันการณ์ ในขณะเดียวกัน กลับมีกลุ่มคนยากจนและกลุ่มคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสาร หรือไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือที่จะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในช่วงสถานการณ์วิกฤติได้ ประกอบกับความเข้มแข็งที่ไม่ได้มีมากนักของหน่วยบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ เองและเป็นการทำงานเชิงรับ ทำให้คนเปราะบางหรือคนยากจนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว
ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 พบว่า กลไกการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีในกรุงเทพฯ ค่อนข้างล้มเหลว ไม่มีหน่วยบริการใกล้บ้านที่คนไข้ไว้วางใจได้ คนไข้มุ่งเป้าไปรับบริการที่โรงพยาบาล ในขณะที่โรงพยาบาลเองก็ปฏิเสธให้บริการเนื่องจากขีดจำกัดในการรับผู้ป่วย ซ้ำร้ายคนไข้บางคนไม่รู้ว่าตนเองต้องไปรับบริการที่ใด หรือแม้การโทรติดต่อ call center เพื่อให้ข้อมูลและลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาต้องพบกับจำนวนเคสผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ส่งผลให้ระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการสายที่โทรเข้ามาขอความช่วยเหลือได้ล่าช้า เกิดปรากฏการณ์ผู้ป่วยต้องตระเวนหาโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาด้วยตนเอง
04 – นอกจากคนไทยแล้ว แรงงานต่างด้าวเองก็ยังมีอุปสรรคในการรับบริการปฐมภูมิ
นพ.อานนท์ กล่าวว่า “โควิดมาเปิดแผล เรื่องบริการสุขภาพในกลุ่มเปราะบางที่ยังอ่อนแอ” สำหรับแรงงานต่างด้าวและคนไร้รัฐนั้น สิทธิการรักษาของคนกลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับสิทธิที่มีและได้ลงทะเบียนไว้ แบ่งออกเป็น
- แรงงานในระบบที่มีบัตรประกันสังคม จะมีสิทธิประกันสังคมสำหรับใช้ในการเข้ารับบริการ
- แรงนอกระบบ หรือไม่ได้ทำงาน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบัตรประกันสุขภาพให้คนกลุ่มนี้ โดยจะเปิดรับขึ้นทะเบียนเป็นรอบ หากบางคนที่ต่ออายุบัตรประกันต่อเนื่องจะสามารถใช้บริการตามโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สิทธิการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ
- ผู้ที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพ หรือบางทีไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน จะไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้
ประเด็นการเข้าถึงสิทธิด้านสาธารณสุขของคนกลุ่มนี้เป็นปัญหามานานแล้ว ภาครัฐเองมีแนวคิดเรื่องการดูแลประชากรกลุ่มนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ต่อเนื่องและไม่เป็นระบบ แม้ว่ากลุ่มแรงงานต่างด้าวจะเข้ามาช่วยประเทศไทยในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ตาม สังเกตได้จาก พรบ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่าจะต้องดูแลคนไทย หรือดูแลคนทุกคนในแผ่นดินไทยโดยไม่จำกัดสัญชาติ แต่ในทางปฏิบัติ ปัจจุบัน สปสช. ดูแลได้เฉพาะแค่คนไทยเท่านั้น ทำให้คนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นคนไร้รัฐ คนไทยไร้สัญชาติ หรือคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาก็อาจไม่ได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไป ซึ่งในช่วงวิกฤตินี้ค่อนข้างเป็นปัญหาอย่างมาก แม้กระทั่งคนไทยเองยังไม่เข้าถึงบริการสุขภาพ ทำให้คนต่างชาติจึงเจอปัญหานี้แบบทวีคูณ รวมถึงในแง่อุปสรรคเรื่องภาษาที่ต้องใช้สื่อสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและจำเป็นต่อการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เมื่อต้องการใช้บริการ
ปัญหาต่อมาและเป็นปัญหาหลัก คือท่าทีของภาครัฐที่ไม่ชัดเจนว่าจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างไร กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่โดยตรงก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลคนกลุ่มนี้ทั้งหมด แม้จะบอกโรงพยาบาลว่าให้รับดูแล แต่หากมองในมุมของโรงพยาบาลเองแค่คนไข้หน้างานก็มีจำนวนมากแล้ว และหากมีรายชื่อคนไข้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็ไม่มีความแน่ชัดว่าจะเบิกค่ารักษาได้มากน้อยเพียงใด ส่วนนี้ทำให้โรงพยาบาลไม่มีแรงจูงใจให้รับคนกลุ่มนี้มารักษา ดังนั้นจะเห็นว่า แม้นโยบายจะมีแต่ว่าการนำไปปฏิบัติจริงยังมีปัญหาเพราะทิศทางที่ไม่ได้ชัดเจน
05 – ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายอะไร เพื่อที่จะลดปัญหาการเข้าถึงบริการในช่วงโรคระบาดโควิด 19
นพ.อานนท์ เห็นว่า กรณีที่คนไข้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ภาครัฐเองก็พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการกระจายการบริการสาธารณสุขออกมานอกโรงพยาบาล ระดมหน่วยบริการภาคเอกชนเข้ามาให้บริการ และให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทำให้สามารถดำเนินงานให้บริการสาธารณสุขในช่วงฉุกเฉินนี้ได้ดีมากขึ้น โดยภาคประชาสังคมที่เข้ามาช่วยตรวจคัดกรองเชิงรุก เช่น “ชมรมแพทย์ชนบท” ที่เข้ามาช่วยในช่วงที่คนกรุงเทพไม่สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรค “กลุ่มเส้นด้าย” ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดที่ตกค้างที่บ้าน หรือบางกลุ่มอาสาสมัครที่เกาะติดพื้นที่ เช่น กลุ่ม “Thai CoCare” ที่ดำเนินงานตรวจเชิงรุกร่วมกับกลุ่ม “คลองเตยดีจัง” “มูลนิธิอิสรชน” หรือ “มูลนิธิศุภนิมิตร” ที่ทำการตรวจ ATK เชิงรุกทุกอาทิตย์มาเป็นระยะเวลาได้เกือบปีแล้ว ทำให้กลุ่มคนจนเมือง คนต่างด้าว คนไร้บ้านที่ไม่เข้าถึงบริการหลักสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยเงินบริจาคจากประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ มีส่วนน้อยที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคจาก สปสช. แต่หากมองในภาพรวมยังถือว่าอยู่ในสเกลที่เล็กมาก และไม่ได้กระจายไปทำได้ในทุกชุมชน
06 – ภาพการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นในระบบบริการปฐมภูมิ
สิ่งที่ต้องการอยากจะเห็น คือ ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข มีการจัดสรรและกระจายทั่วถึง และทำให้ระบบบริการปฐมภูมิเป็นหน้าด่านที่ดี
ด้วยหลักการดังนี้
- “มีที่พึ่งให้กับคนกรุงเทพฯ ในยามเจ็บป่วย” ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วสามารถเข้าไปที่สถานบริการแล้วจะได้รับบริการทันที หรือหากไม่ได้รับบริการเพราะเกินศักยภาพจะต้องได้รับการส่งต่อไปรักษาที่อื่นอย่างแน่นอน ภาพเช่นนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อ ประเทศไทยมีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง เมื่อคนเจ็บป่วย รู้ว่าต้องปรึกษาที่ใด และภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณไปให้หน่วยบริการขนาดเล็ก ๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้น โดยดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินงานให้มากขึ้น และเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิภาครัฐในพื้นที่ที่ภาคเอกชนไม่พร้อมลงทุน และพัฒนาให้เป็นหนึ่งในแผนการรับมือโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ารากฐานระบบสาธารณสุขของประเทศไทยดี เมื่อเกิดวิกฤติเราจะสามารถปรับตัวและรับมือกับมันได้ดีกว่านี้
- “จัดการอุปสงค์และอุปทานด้านสุขภาพให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน” ควรมีบริการปฐมภูมิให้ทั่วถึง ตรงกับความต้องการของประชาชน สะดวกและสามารถรับบริการได้ใกล้บ้าน มีคุณภาพและได้รับความไว้วางใจ และต้องทำให้ประชาชนรู้ว่าตนสามารถไปรับการรักษาได้ รู้สิทธิในการรักษาตน เมื่อเจ็บป่วยอยากที่จะไปรับการรักษา และไว้วางใจที่อยากจะไปรับการรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิ
- “ภาครัฐ สร้างกลไกและสนับสนุนงบให้ชุมชนจัดการปัญหาสุขภาพได้ด้วยตนเอง” ควรมีกลไกเพื่อดึงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมดำเนินการด้วยกัน ตัวอย่างเช่น กลุ่ม Swing ที่ทำงานเรื่อง HIV ซึ่งดำเนินงาน อาทิ การคัดกรองผู้ติดเชื้อและการแจกยา PrEP หรืออาสาสมัครกลุ่มคลองเตยดีจัง ที่ดำเนินงานการตรวจโควิดเชิงรุก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้เพียงได้รับการสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์การตรวจ ทรัพยากร และองค์ความรู้บางประการก็สามารถดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ชุมชนต่อได้
หากกรุงเทพมหานคร มีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงานและการให้บริการสาธารณสุขได้นั้น ก็จะทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นหรือความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มคนจนลดลงได้ ทั้งนี้จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อทำให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลกัน รวมไปถึงปัจจัยด้านทรัพยากรและทุนทรัพย์ที่มีการจัดสรรและกระจายอย่างทั่วถึงด้วยเช่นกัน
“ทรัพยากรด่านหน้าพร้อม ประชาชนทุกกลุ่มไว้วางใจระบบและเข้าถึงบริการปฐมภูมิอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่”
เรียบเรียงบทสัมภาษณ์ – วริศรา จารุวรรโณ
พิสูจน์อักษร – เนตรธิดาร์ บุนนาค
ภาพประกอบ – วิจย์ณี เสนแดง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Vocab | 07 – Universal Health Coverage – หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
– SDG Updates | ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ – เมื่อโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง กำหนดสถานะสุขภาพและอายุขัยของคุณไว้แล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด
– การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นด้านสุขภาพเช่นกัน เพราะรายได้สูงขึ้นสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีกว่า
ประเด็นดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.4) นำนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนต้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on พฤษภาคม 21, 2022