Site icon SDG Move

งานหนักต้องไม่ฆ่าใคร: บริษัทญี่ปุ่นเริ่มปรับลดวันทำงานจาก 5 วันเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์

หลายบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นได้เริ่มออกข้อบังคับใหม่อนุญาตให้พนักงานทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ ในปีงบประมาณ 2565 นี้ เพื่อปรับสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (work-life balance) และได้มีโอกาสใช้เวลากับครอบครัวและบุคคลผู้เป็นที่รักมากขึ้น พัฒนาเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ อีกทั้งยังทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงานดีขึ้นตามลำดับ และส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีวิถีชีวิตที่มีความเข้มงวด และ “บ้างาน” เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรค คาโรชิ(Karoshi syndrome) หรืออาการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากการทำงานหนักเป็นจำนวนมาก เนื่องมาจากการแบกรับความกดดันในหน้าที่การงาน ผสมกับความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่เริ่มงานเร็วและกลับบ้านช้ากว่าปกติติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ค่านิยมการไม่ใช้วันลาหยุด วันลาป่วย หรือวันลาพักร้อน รวมถึงอยู่ในภาวะตึงเครียดตลอดเวลา ได้สร้างผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน

เมื่อธันวาคม ปี 2558 ข่าวของ มัตสึริ ทาคาฮาชิ พนักงานหญิงบริษัทโฆษณา เดนท์สึ วัย 24 ปี จบชีวิตตนเองหลังจากทำงานหนักต่อเนื่องมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน การเสียชีวิตของมัตสึริในเวลานั้นเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ทำให้สังคมญี่ปุ่นตื่นตัวกับการเสียชีวิตเพราะการทำงานหนัก รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจปี 2558 ว่าประชากรญี่ปุ่นมีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเฉลี่ยสูงถึง 2,000 ต่อปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากความเครียดสะสมจากการทำงาน และมีคดีฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยกรณีที่พนักงานเสียชีวิตจากการทำงานหนักมากถึง 1,456 คดี 

รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้ด้วยการแก้ไขกฎหมายแรงงาน แก้ไขระเบียบให้สามารถประกาศชื่อบริษัทที่มีลูกจ้างเสียชีวิตจากการทำงานหนักต่อสาธารณะได้ และประกาศใช้นโยบายลดเวลาการทำงาน โดยรณรงค์ให้ทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือนเป็นวัน Friday Premium ให้พนักงานกลับบ้านได้ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เพื่อพักผ่อนหรือทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน

ในปีนี้ บริษัท พานาโซนิค โฮลด์ดิ้ง บริษัท ฮิตาชิ บริษัทการเงินมิซูโฮะ และบริษัทแบรนด์เสื้อผ้าอย่าง ยูนิโคล มีแผนเพิ่มวันหยุดให้พนักงาน โดยมีวันทำงานเพียง 4 วันต่อสัปดาห์ เพื่อช่วยปรับสมดุลชีวิตพนักงาน และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการรักษาพนักงานที่มีประสบการณ์ มีคุณภาพให้ทำงานในองค์กรต่อไป ซึ่งจะสามารถลดงบประมาณขององค์กรที่ต้องใช้ในการจ้างงานพนักงานใหม่และฝึกงานได้ โดยบริษัทฮิตาชิที่ได้เริ่มระบบเวลาทำงานใหม่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ให้ข้อมูลว่า พนักงานของบริษัทจะได้รับเงินเดือนในอัตราเดิม ตราบเท่าที่เหล่าพนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพตามที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสงสัยถึงการตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงจำนวนวันทำงานนี้จากทั้งองค์กรและพนักงานในประเทศญี่ปุ่น การสำรวจโดยบริษัทด้านข้อมูล Mynavi Corp. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า 78.5% ของพนักงานที่มีอายุระหว่าง 20-50 ปี ไม่ต้องการวันหยุดสามวันต่อสัปดาห์หากต้องถูกหักค่าจ้าง และ 60.1% จากผู้ตอบแบบสอบถาม 800 คน คิดว่าการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์ไม่สามารถเป็นไปได้จริง ด้วยสาเหตุที่หลากหลาย

การจัดการปัญหาเกี่ยวกับการจ้างงานและวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ รวมถึงนโยบายส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจเพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดภัย ควรเป็นหน้าที่ของทุกบริษัทและองค์กร และเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการปกป้องสิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานทุกคนด้วย

เขียนโดย – ศิวพร วงศ์เกียรติอรุณ
บรรณาธิการ – เนตรธิดาร์ บุนนาค

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ญี่ปุ่น แต่งตั้ง ‘รมต.กระทรวงความเหงา’ จัดการวิกฤตความโดดเดี่ยว เพื่ดลดอัตราการฆ่าตัวตาย
SDG Recommends | 5 บทเรียนให้ผู้จ้างงานออกแบบที่ทำงานเพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคน (และลาออกน้อยลง)
WHO/ILO เตือน คนทำงานเกิน 55 ชม./สัปดาห์ เสี่ยงตายจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจขาดเลือด

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

แหล่งที่มา:
Japanese firms turn to four-day week to improve work-life balance (The Japan Times)
Hitachi allows staff to organize schedules for 4-day workweeks (Nikkei Asia)

Author

Exit mobile version