ทุก ๆ ปีมีประชากรโลกต้องเสียชีวิตก่อนวัยจากโรคไม่ติดต่อและผลกระทบจากมลพิษทางอากาศในสิ่งแวดล้อมมากถึง 7 ล้านคน โดยมีสาเหตุมาจากเฉพาะมลพิษทางอากาศในบรรยากาศทั่วไปภายนอกอาคาร (ambient) มากถึง 4.2 ล้านคน เช่นนั้น ผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่อยู่ในอากาศจึงเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกพยายามปรับแก้
สำหรับประเทศไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ภาครัฐขยับตัวส่งสัญญานดีและตื่นตัวที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมุ่งมั่น โดยมองถึงความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ใหม่ จากที่ผ่านมายึดใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีที่ค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครอน ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2553 ขณะที่ค่ามาตรฐานใหม่ ปรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงลงมาเหลือที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2566 และปรับค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยจะมีผลบังคับใช้ในทันทีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าอีกภายใน 2-3 เดือนนี้
“การปรับค่าครั้งนี้ถือว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้เทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียนลำดับต้น ๆ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไต้หวัน” นายอรรถพล ระบุ
แม้ค่ามาตรฐานใหม่ข้างต้นจะยังไม่ตรงกับค่ามาตรฐานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ที่เพิ่งประกาศเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศ (Air Quality Guidelines: AQGs) เมื่อปี 2564 โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพไว้ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กระนั้น มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็นับว่าเป็นความพยายามก้าวสำคัญของการรับฟังความเห็นและคำนึงถึงข้อเรียกร้องเรื่องการจัดการมลพิษทางอากาศจากประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาภาคประชาชนพร้อมกับภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ Greenpeace Thailand ได้เรียกร้องให้รัฐบาลปรับแก้ค่ามาตรฐานค่าฝุ่นละออง PM2.5 ให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
“ค่ามาตรฐานฝุ่นละอองนั้นเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมันเป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดแผนเตือนภัยและรับมือต่อสถานการณ์มลพิษ ตัวอย่างเช่น แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองก็ใช้ค่าฝุ่นละอองเป็นตัวกำหนดมาตรการในแต่ละระดับ” อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์การเปลี่ยนผ่านพลังงาน Greenpeace ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามต่อไปว่าเกณฑ์ค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ใหม่ของไทยจะบังคับใช้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน เพราะการปรับค่ามาตรฐานให้ลดต่ำลงมาจากเดิมมากก็เป็นความท้าทายแก่หลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคส่วนการคมนาคมทางถนนซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในปี 2562 เป็นสัดส่วนมากถึง 51% และจากภาคอุตสาหกรรม ที่มีมากถึง 21% ด้วย
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– WHO ออกเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 15 ปี หวังช่วยลดการเสียชีวิตจาก PM2.5 ได้หลายล้านคนต่อปี
– การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน : เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ
– SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน III : ฝุ่น PM2.5 ในเวียดนาม
– อังกฤษจำกัดการขายไม้ฟืนที่มีความชื้นและถ่านหินสำหรับเตาเผาในบ้าน เพื่อลดมลพิษ PM2.5 ในประเทศ
– SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
– ปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ให้เข้มงวดขึ้น (กรมควบคุมมลพิษ)
– ฝุ่น PM2.5 : ไทยยังไม่ปรับค่ามาตรฐานฝุ่นตามองค์การอนามัยโลก เพราะอะไรและจะเกิดอะไรขึ้น (บีบีซีไทย)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย