มันเป็นเรื่องง่ายที่คุณจะละเลยปัญหาบางอย่างที่คุณไม่รู้จัก 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) พยายามชวนสาธารณชนมาตระหนักถึงปัญหาสุขภาพผู้หญิงเรื่อง “ช่องทะลุทางสูติกรรม” ผ่านการกำหนด “วันแห่งการกำจัดปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม” หรือ International Day to End Obstetric Fistula
ปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม หรือ ทวารสูติกรรม (Obstetric fistula) เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงที่ทุกคนควรรู้จัก ข้อมูลจาก UNFPA พบว่า มีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงราวประมาณ 500,000 คนทั่วโลก ต้องดำรงชีวิตอยู่กับอาการบาดเจ็บอย่างร้ายแรงหลังคลอดบุตร รวมถึงยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกเสียชีวิต โดยร้อยละ 90 ของมารดาที่เกิดภาวะแทรกซ้อนนี้จะเผชิญภาวะตายคลอด (stillbirth) หรือการคลอดทารกที่เสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ออกมา ดังนั้น การให้ความสำคัญกับวันนี้ จะช่วยให้การกำจัดปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการรักษาโรคอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องที่พวกเราสามารถร่วมกันป้องกันโรคได้ตั้งแต่ต้น
สาเหตุปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม เกิดจากการคลอดบุตรที่ยื้ดเยื้อและติดขัด โดยที่มารดาไม่ได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างทันท่วงที ทำให้เกิดบาดแผลฉีกขาดเกิดเป็นช่องทะลุระหว่างช่องทางคลอด และท่อหรือกระเพาะปัสสาวะ และ/หรือสำไส้ใหญ่ส่วนปลาย รวมไปถึงทวารหนัก หากมารดาไม่เสียชีวิตเนื่องจากการเสียเลือดมาก ก็จะส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของปัสสาวะและอุจจาระไม่หยุดผ่านช่องทะลุนั้นหลังคลอด เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดหรือทางเดินปัสสาวะซ้ำ ๆ รวมถึงมีอาการระคายเคืองหรือปวดในช่องคลอดและบริเวณโดยรอบ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดและก่อให้เกิดภาวะมีบุตรยากในอนาคต
ปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรมนี้เป็นผลมาจาก การไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ที่เพียงพอและมีคุณภาพได้ทันเวลาของมารดาตั้งครรภ์ โดยเฉพาะประชากรในประเทศยากจน รวมไปถึงอาจเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กผู้หญิงที่มีภาวะการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อันเนื่องมาจากการถูกบังคับแต่งงานในเด็ก หรือการถูกละเมิดสิทธิทางเพศ เพราะการมีสภาวะร่างกายที่ยังไม่พร้อมต่อการตั้งครรภ์และคลอดบุตรทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์และคลอดบุตรก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มารดาวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์เสียชีวิต
ไม่เพียงแต่ความทุกข์ทรมานที่เกิดจากร่างกายเท่านั้น ทางด้านจิตใจ อาจก่อให้เกิดความรู้สึกทุกข์ทรมานและโดดเดี่ยว ในบางสังคมนั้น ปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรมกลายเป็นความอัปยศของผู้หญิง สามีและครอบครัวทอดทิ้ง สังคมไม่ยอมรับหรือประณามผู้หญิงที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าว ผลพวงจากมุมมองและการไม่ยอมรับของสังคมที่ว่านี้ สามารถนำไปสู่โอกาสที่ผู้หญิงจะมีงานทำลดลงหรือไม่มีโอกาสนั้นเลย กระทั่งกลายเป็นหนึ่งสาเหตุของปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำตามมา
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ หากผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการอนามัยการเจริญพันธ์ุที่เหมาะสม ตั้งแต่การคุมกำเนิด การมีพยาบาลผดุงครรภ์และผู้ดูแลการคลอดที่มีทักษะและเพียงพอ ไปจนถึงการมีบริการด้านสูติกรรมที่มีคุณภาพ อย่างเช่นที่ UNFPA ซึ่งเป็นผู้นำในการรณรงค์เพื่อกำจัดปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม (Campaign to End Fistula) ได้พยายามช่วยเหลือและสนับสนุนทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยหญิงใน 55 ประเทศ ที่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียแปซิฟิก และอเมริกากลาง ให้สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น เพื่อการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้ผู้ป่วยได้รับทำศัลยกรรมตกแต่งเพื่อการรักษาปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม โดยมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับการผ่าตัดมาแล้วมากกว่า 120,000 ครั้ง
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก UN มีมติให้การกำจัดปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรมเป็นเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2573 ด้วยเหตุนี้ หัวข้อของแนวทางปฏิบัติในปี 2565 นี้คือ “End Fistula Now: Invest in Quality Healthcare, Empower Communities!” เพราะ ปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม ถือเป็นปัญหาด้านการพัฒนาและด้านสาธารณสุข รวมถึงเป็นประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรจะมีสิทธิในการมีสุขภาพที่ดีและได้ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีเพื่อดำรงตนอยู่ในสังคมต่อไป
● อ่านคำศัพท์และบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Vocab | 32 – Inequality – ความไม่เท่าเทียม/ความเหลื่อมล้ำ
– SDG Vocab | 13 – Child, Early and Forced Marriage – การบังคับเด็กแต่งงาน (CEFM)
– รัฐบาลอังกฤษเปิดโอกาสให้ผู้หญิงแจ้งประสบการณ์ที่มีกับระบบสุขภาพ เพื่อพัฒนา ‘ยุทธศาสตร์สุขภาพของผู้หญิง’ – SDG Move
– SDG Recommends | #MyBodyisMyOwn เพราะสิทธิเหนือเรือนร่างและการตัดสินใจของผู้หญิงเป็นสิทธิมนุษยชน
– การขาดแคลน ‘พยาบาลผดุงครรภ์’ ทำให้สูญเสียชีวิตมารดาและทารกแรกเกิด
– การตายของหญิงมีครรภ์ลดลงได้ โดยใช้ Google Maps ช่วยวิเคราะห์เหตุความล่าช้าของการเดินทางเข้ารับบริการสุขภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.b) สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สนับสนุนความยากจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อจะสนับสนุนการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคน ภายในปี 2573
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.3) ขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควรโดยการบังคับ และการขลิบอวัยวะเพศหญิง
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา:
– International Day to End Obstetric Fistula (UNFPA)
– International Day to End Obstetric Fistula วันแห่งการกำจัดปัญหาช่องทะลุทางสูติกรรม (UNFPA Thailand) .
– Obstetric fistula; a silent death for millions of women and girls (news.trust)
– UN Fistula Report 2020: Key Findings (catherinehamlin)
– ทวารสูติกรรม อาการ อาการแสดงและปัจจัยเสี่ยง.
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กันยายน 26, 2022