นิวัฒน์ ร้อยแก้ว นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2565

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ‘ครูตี๋’ นักเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2565 (ค.ศ. 2022) เพื่อยกย่องการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีก 6 คน จากทั่วโลก เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

รางวัล Goldman Environmental Prize ที่มอบโดยมูลนิธิ Goldman Environmental Foundation ถือว่าเป็นรางวัลสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวคนธรรมดาระดับรากหญ้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยพลังของพลเมืองในชุมชน จากทั้งหกภูมิภาคของโลก (แอฟริกา เอเชีย ยุโรป หมู่เกาะและประเทศที่เป็นเกาะ อเมริกาเหนือ และ อเมริกาใต้และอเมริกากลาง) โดยมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ปี 2533

ในปีนี้ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือที่ชาวบ้านอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รู้จักกันดีในนาม ‘ครูตี๋’ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ อดีตข้าราชการครูที่ลาออกมาทำงานเพื่อปกป้องแม่น้ำโขงตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize เนื่องด้วยบทบาทสำคัญของนิวัฒน์ร่วมกับชาวบ้านในการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน ที่มีแผนเริ่มต้นเมื่อปี 2543 โดยเป็นโครงการปรับปรุงร่องน้ำโขงระยะทาง 886 กิโลเมตร ให้เป็นช่องน้ำที่ลึกขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถผ่านได้ตลอดปี หากโครงการดังกล่าวสำเร็จจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มแม่น้ำโขงที่เป็นดังสายเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตผู้คนมากกว่า 65 ล้านคน การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งของนิวัฒน์และชาวบ้านทำให้รัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกโครงการในปี 2563 และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยที่ยุติแผนโครงการระหว่างประเทศด้วยเหตุผลว่าอาจส่งผลกระทบทางลบร้ายแรงต่อทั้งสิ่งแวดล้อม

แม่น้ำโขงมีความยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร ไหลพาดผ่านตั้งแต่ประเทศจีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา จนถึงเวียดนาม นับเป็นสายน้ำที่เป็นหัวใจและจิตวิญญาณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และการชลประทานของผู้คนในลุ่มน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพน้ำจืด อย่างไรก็ตาม โครงการเขื่อนหลายแห่งทั่วภูมิภาคกำลังคุกคามระบบนิเวศอันละเอียดอ่อนและล้ำค่าของแม่น้ำโขงในขณะนี้

นิวัฒน์ รอยแก้ว เป็นตัวแทนนักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับเลือกจากทวีปเอเชีย สำหรับผู้ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปีนี้อีกหกท่าน ได้แก่

  • Chima Williams จากไนจีเรีย – นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานร่วมกับสองชุมชนในการเรียกร้องให้บริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ระดับโลกรับผิดชอบต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในชุมชน ภายหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่ในไนจีเรีย
  • Marjan Minnesma จากเนเธอร์แลนด์ – เธอมีบทบาทสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องพลเมืองจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการชนะคดี่ที่ยื่นฟ้องรัฐจนถึงชั้นศาลฎีกา
  • Julien Vincent จากออสเตรเลีย – ผู้นำแคมเปญระดับรากหญ้าที่ประสบความสำเร็จในการเคลื่อนไหวให้ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดสี่แห่งของออสเตรเลีย ยุติการให้เงินทุนสำหรับอุตสาหกรรมถ่านหินในประเทศ ภายในปี 2573
  • Nalleli Cobo จากสหรัฐอเมริกา – ผู้นำกลุ่มพันธมิตรในชุมชน แม้จะยังเป็นเยาวชน แต่เธอก็สามารถผลักดันให้มีการปิดแหล่งขุดเจาะน้ำมันที่เป็นอันตรายต่อคนในพื้นที่อาศัยอยู่อย่างถาวรได้สำเร็จในปี 2563
  • Alex Lucitante และ Alexandra Narvaez จากเอกวาดอร์ – สองแกนนำการเคลื่อนไหวของชนพื้นเมืองเพื่อปกป้องดินแดนของบรรพบุรุษจากการขุดหาทองคำ นำมาสู่ชัยชนะทางกฎหมายครั้งประวัติศาสตร์ในเดือนตุลาคม 2561 เมื่อศาลของเอกวาดอร์ยกเลิกสัมปทานเหมืองทองคำที่ผิดกฎหมาย 52 แห่ง

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | (EP.4) Futures Literacy: เปิดฉากทัศน์แห่งอนาคตของลุ่มน้ำอุษาคเนย์ – แนวโน้มของความจริงและสิ่งที่วาดฝัน
SDG Updates | 7 นาที สรุป 7 ประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำโขง ฉบับ 101
SDG Updates | เขื่อนแม่น้ำโขง : อุตสาหกรรมเครื่องปั่นไฟบนความล่มสลายของสายน้ำ (EP.10)
จะลดความขัดแย้งด้านการใช้แม่น้ำระหว่างประเทศลงได้ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ฉากทัศน์ปัญหาและการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
– (6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี 2563
– (6.b) สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการปรับปรุงการจัดการน้ำและสุขอนามัย
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา:
2022 Goldman Environmental Prize Winners Honored For Fighting The Fossil Fuels Industry, Keeping Governments And Corporations Accountable (Forbes)
2022 GOLDMAN ENVIRONMENTAL PRIZE WINNERS (The Goldman Environmental Prize)
แม่น้ำโขง : นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ครูผู้ผันตัวมาปกป้องแม่น้ำโขง คว้ารางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน (บีบีซีไทย)

Last Updated on พฤษภาคม 28, 2022

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น